ยลวิถีอิสลาม ตามไปตรังกานู

ยลวิถีอิสลาม ตามไปตรังกานู

สัมผัสโลกอิสลาม ดื่มด่ำวิถีสโลว์ไลฟ์ ในดินแดนลับแลแห่งมาเลเซีย

 

เชื่อเหลือเกินว่า เมื่อพูดถึงประเทศมาเลเซีย ภาพแรกๆ ที่จะปรากฏขึ้นในใจของใครหลายคน ก็คงเป็นภาพตึกแฝดปิโตรนาส ตึกแฝดสูงที่สุดในโลก หรือไม่ก็เป็นภาพของเมืองใหม่ปุตราจายาทันสมัยไฮเทค แต่จะมีใครสักกี่คนที่นึกถึงชื่อของ ตรังกานู (Terengganu) 1 ใน 13 รัฐ ของมาเลเซียปัจจุบัน ด้วยว่าตรังกานูมิได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ไปกัน และอีกอย่างก็ไม่มีเที่ยวบินตรงถึงได้ จากไทยต้องบินไปลงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซียก่อน แล้วจึงค่อยต่อเครื่องภายในประเทศสู่รัฐตรังกานูอีกทอดหนึ่ง 

 

อย่าว่ากระนั้นเลย แม้คนมาเลเซียเองส่วนหนึ่ง ตลอดชีวิตก็ยังไม่เคยไปเหยียบย่างรัฐตรังกานูเลยด้วยซ้ำ ฟังดูเหมือนเป็นดินแดนลับแลยังไงไม่รู้ แต่สำหรับผมมันไม่ใช่ เพราะตรังกานูเป็นจุดหมายใหม่ที่ผมพร้อมจะไปบุกเบิก เพื่อสัมผัสโลกอิสลามในเพื่อนบ้านอาเซียนใกล้ๆ เรานี่เองครับ

 

ลีด1

 

สำหรับ 10 ประเทศอาเซียนที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่ นอกจากอินโดนีเซียที่เป็นพี่ใหญ่ในโลกอิสลาม มีประชากรกว่า 260 ล้านคนเข้าไปแล้ว ก็เห็นจะมีมาเลเซียที่เป็นประเทศอิสลามซึ่งยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน ด้วยความเป็นประเทศมีทรัพยากรธรรมชาติเยอะ การเมืองและเศรษฐกิจมีเสถียรภาพสูง และผู้นำมีวิสัยทัศน์ ทำให้การพัฒนาประเทศของมาเลเซียเจริญรุดหน้าไปมาก เห็นได้ชัดในหัวเมืองใหญ่ๆ ทั้งกัวลาลัมเปอร์ เกาะปีนัง หรือแม้แต่บนเกาะลังกาวี ที่ล้วนมีเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวหมุนเวียนมหาศาล 

 

แต่เมื่อพูดถึง ‘รัฐตรังกานู’ เราจะพูดถึงอะไร ถ้าไม่ใช่วิถีความเป็นอิสลามแท้ๆ ในแบบมาเลเซีย รวมถึงประเพณีวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ยังได้รับการถนอมรักษาไว้ดีเยี่ยม ตั้งแต่การทอผ้าพื้นเมือง การเพนท์ผ้าบาติกชั้นเลิศ อาหารอร่อยๆ ไปจนถึงพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย ก็อยู่ที่ตรังกานูนี้เช่นกัน

 

การเดินทางของผมในทริปนี้ ดูจะแปลกกว่าครั้งก่อนๆ อยู่ไม่น้อย เพราะผมตั้งใจไปสัมผัสวิถีความเป็นมุสลิม ของพี่น้องที่นับถือศาสนาอิสลามในตรังกานู ด้วยว่าเป็นดินแดนที่ไม่ใช่เมืองใหญ่มีตึกสูงระฟ้า ทว่ายังงดงามด้วยวิถี Slow Life ธรรมชาติ และน้ำใจไมตรีของผู้คน ตรังกานูจึงมีเสน่ห์เหลือล้นสำหรับคนเชยๆ อย่างผม แม้การเดินทางจะยาวไกลไปนิด แต่ก็ไม่ไกลเกินความพยายาม โดยผมเลือกพักในเมืองกัวลา ตรังกานู เมืองหลวงของรัฐนี้ ซึ่งตั้งอยู่บนปากแม่น้ำชื่อเดียวกัน ในเมืองมีความผสมผสานของวัฒนธรรมคนมุสลิมและชาวจีน ที่อพยพเข้ามาค้าขายตั้งรกรากอยู่หลายชั่วอายุคน ยามเย็นในกัวลา ตรังกานู ผมจึงหาอาหารจีนและอาหารมุสลิมอร่อยๆ กินได้เพียบในย่าน China Town

 

ก่อนจะพาทุกท่านไปเที่ยว ผมขอเล่าสั้นๆ ให้ฟังเกี่ยวกับความสำคัญของศาสนาอิสลามครับ เพราะนี่คือหนึ่งในศาสนาเก่าแก่ที่มีผู้ศรัทธานับถือไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านคนทั่วโลก มีต้นกำเนิดขึ้นในดินแดนเดียวกับศาสนาคริสต์และยิว โดยศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแบบเอกเทวนิยม คือนับถือพระเจ้าองค์เดียว (อัลลอฮ์) โดยมีศาสนาสูงสุดคือ นบีมูฮัมมัด ถ้าใครเคยไปเที่ยวเมืองใหม่ปุตราจายาของมาเลเซีย และตื่นตากับ Pink Mosque หรือ มัสยิดสีชมพู มาแล้ว รับรองว่าเมื่อมาเที่ยวตรังกานูก็ต้องร้อยโอ้โห! เช่นกัน เพราะที่นี่มี 'Crystal Mosque’ หรือ มัสยิดกระจกคริสตัล ที่ใหญ่และงดงามที่สุดในโลกครับ 

 

crystal moquse 8

 

มัสยิดแห่งนี้ตั้งตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำกัวลา ตรังกานู สะท้อนแสงแดดแวววับจับตาจับใจ โดยสีของกระจกจะเปลี่ยนไปตามแต่ละช่วงเวลาของวัน ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ด้วยว่ากระจกนับหมื่นๆ แผ่นได้สะท้อนแสงสีและก้อนเมฆที่ลอยผ่าน ทำให้เห็นครั้งใดก็สวยงามไม่ซ้ำกันเลย หรือแม้แต่ยามค่ำคืน ก็ยังมีการเปิดไฟประดับประดาจนเรืองรอง

 

Crystal Mosque แห่งตรังกานู ตั้งอยู่บนเกาะเล็กๆ กลางแม่น้ำกัวลา ตรังกานู ชื่อ เกาะวานมัน (Wan Man Island) ซึ่งในอดีตเป็นเกาะรกร้างไม่มีคนอาศัยอยู่ แต่เมื่อมีการสร้าง Crystal Mosque ขึ้น ก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตขึ้นมาทันที รวมถึงมีพี่น้องชาวมุสลิมเดินทางไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนากันวันละ 5 ครั้ง ทำให้บรรยากาศดูมีชีวิตชีวาเหลือเกิน 

 

มัสยิดแห่งนี้จุคนได้มากถึง 1,500 คน สร้างเมื่อปี ค.ศ.​ 2008 โดยพระบัญชาของกษัตริย์องค์ที่ 13 แห่งตรังกานู คือ สุลต่านมิซาน ไซนัล อบิดิน ความยิ่งใหญ่มหัศจรรย์ของ Crystal Mosque อยู่ที่สถาปัยกรรมการออกแบบได้งดงาม ราวกับนำทัชมาฮัลในอินเดียมาเนรมิตใหม่โดยติดกระจกแก้วนับหมื่นๆ แผ่นลงไป ข้อมูลระบุว่าสร้างขึ้นด้วยโครงเหล็กกล้า แล้วติดกระจก รวมถึงแก้วคริสตัลคลุมไว้จนทั่ว ทั้งภายนอกและภายใน มองจากด้านนอกเห็นโดมทรงหัวหอมน้อยใหญ่ และสามินาเร็ต (หอขาน) 4 เสา สะท้อนแสงเกิดเลื่อมเงามลังเมลืองราวกับเทพนฤมิตร ส่วนภายในก็งามล้ำ ตกแต่งอย่างโอ่อ่าหลังการ แบ่งส่วนหญิงชายในการประกอบศาสนากิจไว้อย่างดี

 

ผมเข้าไปนั่งนิ่งสงบ ชื่นชมความงามของ Crystal Mosque อยู่ภายในนานพักใหญ่ ก็มีเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลมาพูดคุยด้วย เธอเป็นคุณป้าใจดี แต่งกายตามแบบมุสลิมอย่างเรียบร้อยงดงาม ที่ขาดไม่ได้เลยคือผ้าคลุมศีรษะ ซึ่งเรียกว่า ผ้าฮิญาบ (Hijab) โดยการคลุมผ้านี้เป็นข้อปฏิบัติตามบัญญัติศาสนาอิสลาม เพื่อต้องการให้สตรีปกปิดร่างกายให้มิดชิด เรียบร้อย ให้คลุมหน้าอก คอ และหู เปิดไว้เพียงใบหน้าเท่านั้น ผมนั่งสนทนากับเธออยู่นาน จนเธออธิบายให้ฟังว่าศาสนาอิสลามมีหลักปฏิบัติอยู่ 5 ข้อ คือ การนับถืออัลลอฮ์เพียงพระองค์เดียว, ละหมาดวันละ 5 เวลา, การบริจาคทาน (ซะกาต), การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนทุกปี และสุดท้ายคือหากมีความสามารถพอ ก็ให้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่เมืองเมกกะ 

 

crystal moquse 7

 

ผมเลยเล่าให้เธอฟังว่าศาสนาพุทธที่ผมนับถืออยู่ก็มี ‘ศีล 5’ เช่นกัน คือ ไม่ฆ่าสัตว์, ไม่ลักทรัพย์, ไม่ผิดลูกเมียคนอื่น, ไม่พูดปด และไม่ดื่มของมึนเมา หลังจากนั้นเราก็ยิ้มให้กัน เธอเดินไปหยิบหนังสือปกแข็งเล่มหนามามอบให้ผมเป็นของขวัญ สิ่งนั้นคือพระคัมภีร์อัลกุรอานเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ซึ่งผมยังเก็บรักษาไว้อย่างดีมาจนทุกวันนี้

 

บนเกาะวานมัน ไม่ห่างจาก Crystal Mosque มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งชื่อ สวนอารยธรรมอิสลาม (Islamic Civilization Park) เปิดตัวขึ้นในปี ค.ศ.​ 2008 จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตของพี่น้องชาวมุสลิมไปอย่างรวดเร็ว เพราะสวนนี้นอกจากจะมีพรรณไม้ดอกไม้ใบจัดไว้อย่างร่มรื่น ให้เดินเล่นพักผ่อนกันได้ทั้งครอบครัวแล้ว จุดเด่นยังอยู่ที่การจำลองศาสนสถานสำคัญของอิสลาม 22 แห่ง จากทั่วโลก มาสร้างไว้เป็นโมเดลขนาดใหญ่ย่อส่วนจากของจริง (คล้ายๆ เมืองจำลองที่พัทยาบ้านเรา) มาเที่ยวที่เดียวจึงได้รับความรู้เกี่ยวกับโลกอิสลามไปอย่างลึกซึ้ง โมเดลจำลองขนาดใหญ่บางแห่งยังเข้าไปชมข้างในได้ด้วย อะเมซิ่งจริงๆ ครับ

 

ตัวอย่างศาสนาสถานสำคัญที่จำลองมาให้ชมกันอย่างใกล้ชิด เช่น มัสยิดกลางปัตตานีของไทย ที่ได้ชื่อว่าจำลองแบบมาจากทัชมาฮัลในอินเดีย, ทัชมาฮัล อนุสรณ์สถานแห่งความรักในเมืองอัครา อินเดีย ที่สร้างขึ้นโดยราชวงศ์โมกุล, Dome of the Rock ที่เมืองเยรูซาเล็มอันศักดิ์สิทธิ์ ในประเทศอิสราเอล, มัสยิดแห่งเมืองซีอาน ประเทศจีน ซึ่งดูแล้วมีลักษณะเป็นเก๋งจีน มากกว่าจะเป็นมัสยิดได้, เสา Kalyan Minaret ในประเทศอุสเบกิซสถาน ที่สร้างไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.​1127 และ Agadez Grand Mosque ประเทศไนเจอร์ ซึ่งเป็นมัสยิดก่ออิฐที่ทำจากดินขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ฯลฯ น่าสนใจจริงๆ ผมเลยใช้เวลาอยู่ที่นี่กว่าครึ่งวัน เพื่อถ่ายภาพอย่างจุใจ ไม่มีความจำเป็นต้องรีบเร่ง

 

ลีด

 

แหล่งท่องเที่ยวสุดท้ายที่อยากพาไปชม คือ ‘มัสยิดลอยน้ำแห่งตรังกานู’ หรือ Floating Mosque ที่ต้องบอกกันตรงนี้เลยว่า แม้มีขนาดไม่ใหญ่โต แต่งดงามราวกับภาพฝัน เพราะเมื่อมองผ่านสระน้ำใหญ่เบื้องหน้าเข้าไปสู่มัสยิด ก็จะเห็นภาพสะท้อนเสมือนจริงลงไปในน้ำ ราวกับว่ามัสยิดนั้นลอยอยู่บนผิวน้ำจริงๆ อย่างน่าอัศจรรย์ใจ คนที่ชอบถ่ายภาพ รับรองว่าจะแฮปปี้กับการมาเยือนที่นี่มาก

 

มัสยิดลอยน้ำนี้ถือเป็นมัสยิดลอยน้ำแห่งแรกของประเทศมาเลเซีย คำว่า ‘ลอยน้ำ’ ไม่ได้หมายความว่ามันลอยอยู่จริงๆ นะครับ แต่เขาสร้างให้เสมอผิวน้ำเพื่อให้เกิดเงาสะท้อน ประหนึ่งลอยอยู่บนน้ำเป็นการอุปมาอุปมัย อย่าเข้าใจผิด ที่นี่เปิดให้ชมได้ทั้งภายนอกและภายใน จุผู้เข้าประกอบศาสนกิจได้กว่าครั้งละ 2,000 คน สร้างเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1995 โดยใช้เวลาสร้างเพียง 2 ปีก็เสร็จสมบูรณ์ 

 

ตัวมัสยิดสร้างอยู่เหนือทะเลสาบเล็กๆ เหมือนลากูนของแม่น้ำอิไบ (Ibai River) ซึ่งในฤดูน้ำหลากจะมีน้ำเอ่อท้นจนปริ่มขอบฐานรากมัสยิด ทำให้ดูเหมือนลอยอยู่บนน้ำอย่างเหลือเชื่อครับ และหากเราได้เข้าไปเดินชมอย่างใกล้ชิด ก็จะเห็นว่าประกอบขึ้นด้วยวัสดุชั้นเลิศหลายชนิด ทั้งหินอ่อน เซรามิก และกระเบื้องโมเสก อีกทั้งยังมีการใช้คอนกรีตชนิดพิเศษฉาบทาพื้นผิวในบางจุดไว้ด้วย ทำให้มัสยิดลอยน้ำในสถาปัตยกรรมแบบแขกมัวร์นี้ มีความล้ำเลิศในแทบทุกมิติมุมมอง

 

สิบปากว่าไว้เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ ลองไปเที่ยวตรังกานูกันดูนะครับ แล้วท่านจะรู้ว่าที่นี่เป็นรัฐอิสลามอันสงบงาม ผู้คนน่ารัก และยังมีสถานที่น่าสนใจให้ชื่นชมอีกนับไม่ถ้วนเลยล่ะ

 

crystal moquse 5  

 

  • การเดินทาง

 

มาเลเซียได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่หล่อหลอมเชื้อชาติและศาสนาต่างๆ เข้าด้วยกัน ความหลากหลายทางวัฒนธรรมไม่เพียงทำให้มาเลเซียเป็นสวรรค์ของนักชิม แต่ยังเป็นแหล่งรวมเทศกาลหลายร้อยเทศกาลที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา

 

ที่สำคัญมาเลเซียยังเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ด้วย มาเลเซียประกอบด้วยรัฐ 13 รัฐ และ3 เขตสหพันธรัฐ เมื่อแบ่งเขตปกครองโดยยึดตามทะเลจีนใต้ 11 รัฐและ 2 เขตสหพันธ์ (กัวลาลัมเปอร์และปุตราจายา) จะตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายู ในขณะที่อีก 2 รัฐ และ1 เขตสหพันธรัฐ (ลาบวน) อยู่ทางตะวันออกของประเทศ

 

ตรังกานู เป็นรัฐสุลต่านและเป็นหนึ่งในสิบสามรัฐที่ประกอบขึ้นเป็นสหพันธ์มาเลเซีย มีชื่อเฉลิมเมืองเป็นภาษาอาหรับว่า ดารุลอีมาน “ถิ่นที่อยู่แห่งความศรัทธา”

 

รัฐตรังกานูตั้งอยู่ริมชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของมาเลเซียตะวันตก ทางทิศเหนือและทิศตะวันตกติดต่อกับรัฐกลันตัน ทางทิศใต้ติดต่อกับรัฐปะหัง และทางทิศตะวันออกจรดทะเลจีนใต้ หมู่เกาะเปอร์เฮินเตียน (Perhentian Islands) เป็นส่วนหนึ่งของรัฐนี้ด้วย ทำให้รัฐตรังกานูมีพื้นที่ทั้งหมดรวม 12,955 ตารางกิโลเมตร

 

สำหรับการเดินทางไปยังตรังกานู รัฐแห่งนี้อยู่ห่างจากกัวลาลัมเปอร์ไปทางทิศเหนือ 440 กิโลเมตร การเดินทางจากไทยไม่มีบินตรง ต้องบินกรุงเทพฯ-กัวลาลัมเปอร์ (ใช้เวลา 2 ชั่วโมง 15 นาที) แล้วบินกัวลาลัมเปอร์-ตรังกานู (ใช้เวลา 51 นาที) ต่ออีกทอดหนึ่ง แนะนำสายการบิน Malaysian Airlines / หรือถ้าขับรถยนต์จากกัวลาลัมเปอร์-ตรังกานู ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง 30 นาที

 

More info : www.terengganutourism.com , www.tourism.gov.my

 

download (1)

 

  • หรรษาตรังกานู

 

นอกจากแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ทางศาสนาแล้ว ตรังกานูยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยไม่แพ้ที่ไหน อย่าง เกาะปูเลาเรดัง (Pulau Redang) เกาะนี้ตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งของเมืองกัวลาตรังกานูประมาณ 45 กิโลเมตร และเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาเกาะทั้ง 9 เกาะในทะเลจีนใต้นอกชายฝั่งตรังกานูที่ได้รับความคุ้มครอง 

 

รอบเกาะมีน้ำทะเลใสและมีจุดดำน้ำอยู่หลายจุด เนื่องจากเกาะตั้งอยู่ในเขตอุทยานทางทะเลปูเลาเรดัง ดังนั้น สัตว์ทะเลที่นี่จึงอุดมสมบูรณ์ ในตอนกลางวัน แสงแดดจะส่องผ่านลงไปถึงท้องน้ำ นักท่องเที่ียวยสามารถเห็นแสงสะท้อนจากปะการัง ดอกไม้ทะเล และปลานานาชนิดเป็นสีสันต่างๆ

 

นอกจากนี้ ทะเลรอบเกาะปูเลาเรดัง ยังเป็นจุดที่เรือซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์สองลำอัปปางลง เรือดังกล่าวคือ H.M.S. Prince of Wales และ H.M.S. Repulse ซึ่งอัปปางใกล้กับเกาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้นไม่นานญี่ปุ่นก็เข้ายึดครองมาเลเซีย เกาะปูเลาเรดังคือสวรรค์สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการดำน้ำตื้นและดำน้ำลึก การว่ายน้ำ การเดินป่า การแล่นเรือ และการพายเรือแคนนู 

 

อย่างไรก็ตาม ห้ามไม่ให้มีการตกปลาในรัศมี 3.2 กิโลเมตร เนื่องจากเกาะปูเลาเรดังได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานทางทะเล ที่สำคัญ ห้ามไม่ให้มีการเก็บปะการังและจับสัตว์ทะเลอย่างเด็ดขาด

 

download

 

อีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจกก็คือ พิพิธภัณฑ์รัฐตรังกานู ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดแสดงโบราณวัตถุและงานศิลปะที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมและเป็นมรดกตกทอดของชาวมาเลเซีย

 

ตัวพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่บนพื้นที่ 27 เฮกเตอร์ในเขตบูกิตโลซง เมืองกัวลาตรังกานู อาคารพิพิธภัณฑ์มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สวยงาม ออกแบบตามพระราชวังเก่าของรัฐตรังกานู ภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วย อาคารพิพิธภัณฑ์หลัก พิพิธภัณฑ์ทะเล และพิพิธภัณฑ์การประมง บ้านดั้งเดิมของมาเลเซีย 4 หลัง สวนพฤกษชาติ และสวนสมุนไพร

 

อาคารพิพิธภัณฑ์หลักสร้างบนเสาคอนกรีต 16 เสา ประกอบด้วยหอศิลป์แสดงผ้าและเทคนิคการทอผ้า อาวุธโบราณ งานฝีมือ เครื่องราชกุธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ศิลปะอิสลาม ศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัย พื้นที่อีกสี่ส่วนเชื่อมต่อถึงกัน แสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ บริเวณทางเข้าอาคารหลักมีศิลาจารึกบาตูเบอร์ซูรัตแห่งรัฐตรังกานูตั้งอยู่

 

download (2)

เน€เธกเธทเธญเธ‡เธˆเธณเธฅเธญเธ‡ islamic civilization park 7

 

นักท่องเที่ยวจากโรงแรมต่างๆ สามารถขอให้บริษัทท่องเที่ยวในท้องถิ่นจัดโปรแกรมท่องเที่ยวเมืองกัวลาตรังกานู โดยให้รวมการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เอาไว้ด้วย หรืออาจเลือกโปรแกรมล่องเรือมาเลย์ชมแม่น้ำตรังกานู ซึ่งผู้ให้บริการจะจอดเรือให้นักท่องเที่ยวเข้าชมพิพิธภัณฑ์นี้เช่นเดียวกัน

 

และที่พลาดไม่ได้ สำหรับโปรแกรมปิดท้ายกับการเลือกซื้อของฝากของที่ระลึกที่ ตลาดกลาง หรือที่ชาวมาเลย์เรียกว่า ปาซาร์ปายัง ตลาดแห่งนี้ตั้งอยู่ในอาคารทันสมัยใกล้กับแม่น้ำตรังกานู เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในกัวลาตรังกานู ที่นี่เป็นแหล่งรวมสินค้าประเภทงานฝีมือแบบดั้งเดิม อาทิเช่น ผ้าบาติก ผ้าไหม ผ้ายก ผ้าปัก และเครื่องทองลงหิน รวมทั้งผักผลไม้สดๆ นักท่องเที่ยวสามารถซื้อหาสินค้าท้องถิ่นในราคาที่ถูกใจ และสัมผัสวัฒนธรรมของชาวมาเลย์ที่เข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันได้ที่นี่