'Tham-Robot' หุ่นยนต์จัดส่งอุปกรณ์การแพทย์ ลดความเสี่ยง COVID-19 

'Tham-Robot' หุ่นยนต์จัดส่งอุปกรณ์การแพทย์  ลดความเสี่ยง COVID-19 

ตัวช่วยที่ทำให้คนไม่ติดเชื้อและแพร่เชื้อ ต้องยกให้หุ่นยนต์ทำหน้าที่ส่งของให้ผู้ป่วย COVID-19 

 

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) เปิดตัวนวัตกรรม “Tham-Robot” หุ่นยนต์จัดส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์”

 

รถเข็นอัจฉริยะเพื่อการจัดส่งยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ตัวแรก ที่จำเป็นต่อการรักษาถึงมือผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ลดความเสี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย COVID-19 โดยตรงของบุคลากรทางการแพทย์ ภายใต้หลักการ Social Distancing ด้วยการกำหนดทิศทางรถเข็นด้วยรีโมทคอนโทรลจากห้องทำงาน โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปยังห้องพักของผู้ป่วย ทั้งนี้ เร่งผลิตเพื่อรองรับความต้องการในการใช้งาน และขยายผลไปยังโรงพยาบาลอื่นที่ประสงค์ใช้งานภายในโรงพยาบาลในอนาคต

 

วัชระ อมศิริ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเทคโนโลยียานยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) กล่าวว่า ภายหลังที่มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อรองรับผู้ป่วย COVID-19 ซึ่งส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อทำการรักษา โดยที่ในกระบวนการรักษานั้น มีความเสี่ยงในการสัมผัสผู้ป่วย คณะทำงานซึ่งประกอบไปด้วยนักวิชาการ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ร่วมกันพัฒนา Tham-Robot : หุ่นยนต์จัดส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์” รถเข็นอัจฉริยะเพื่อการจัดส่งยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ตัวแรก ที่จำเป็นต่อการรักษาถึงมือผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม

 

โดยได้ร่วมพัฒนากับนักศึกษา และบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งใช้เวลาในการพัฒนา 48 ชั่วโมง นับตั้งแต่การก่อตั้งโรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อให้สามารถใช้งานได้จริงโดยเร็วที่สุ

 

     สำหรับ Tham-Robot ทำงานโดยใช้อุปกรณ์พิเศษติดตั้งที่บริเวณใต้รถเข็น เพื่อกำหนดทิศทางในการเคลื่อนที่ สำหรับการควบคุมการทำงานนั้น สามารถทำโดยใช้รีโมทคอนโทรล (Remote Control) แบบไร้ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ สามารถควบคุมในห้องทำงานได้ โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปยังห้องพักของผู้ป่วย ทำให้ลดโอกาสการติดเชื้อมากยิ่งขึ้น

 

กิจกรรมที่คาดว่าสามารถใช้งาน Tham-Robot ได้แทนการเดินทางไปยังห้องพักผู้ป่วย อาทิ การบริการส่งยาระหว่างวัน การบริการส่งอาหาร รวมทั้งการเก็บตัวอย่างปัสสาวะและอุจจาระ โดยที่สามารถคอนโทรลให้ Tham-Robot ปฏิบัติงานในส่วนนี้แทนบุคลากรทางการแพทย์ได้ นอกจากการทำงานภายในอาคารแล้ว จากการทดลองยังพบว่า Tham-Robot สามารถทำงานได้บนพื้นผิวถนนภายนอกอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

   อย่างไรก็ดี สำหรับ “Tham-Robot : หุ่นยนต์จัดส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์” ตัวต้นแบบแรกนี้ ได้นำไปใช้จริง ณ โรงพยาบาลสนาม ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เรียบร้อยแล้ว พร้อมเร่งผลิตเพิ่มเติมเพื่อรองรับความต้องการในการใช้งาน และขยายผลไปยังโรงพยาบาลอื่นที่ประสงค์ใช้งานภายในโรงพยาบาลอีกด้วย 

สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่อาจารย์วัชระ อมศิริ โทร. 086-519-5700 หรือ ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ TSE ได้ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT และ www.engr.tu.ac.th