คนใส่คอนแทคเลนส์ต้องรู้! ข้อเท็จจริงเรื่องใกล้ตาในภาวะโควิด-19
เปิดรายงานวิจัยฉบับใหม่ กับหลายเรื่องที่ผู้ใส่คอนแทคเลนส์จำเป็นต้องรู้ในช่วงโควิด-19 ระบาด
ช่องทางที่เชื้อโรคโควิด-19 จะเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ หนึ่งในนั้นคือทางดวงตา หลายคนจึงเชื่อว่าการใส่คอนแทคเลนส์คือความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ใส่ได้รับเชื้อ
ทว่าในรายงานฉบับล่าสุดที่ผ่านการพิจารณาจากนักวิทยาศาสตร์ด้านจักษุที่มีชื่อเสียงระดับโลก 5 ท่าน ได้รับการเผยแพร่เพื่อเปิดโปงความเชื่อผิดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตราย โดยรายงานหัวข้อ โควิด-19 ระบาด: ข้อควรพิจารณาที่สำคัญสำหรับผู้ใส่คอนแทคเลนส์ ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Contact Lens & Anterior Eye ได้นำเสนอข้อเท็จจริงสำคัญ 5 ประการสำหรับผู้สวมใส่คอนแทคเลนส์ หรือแว่น/แว่นสายตา ไว้ดังนี้
1. ใส่คอนแทคเลนส์ได้ตามปกติ
ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ว่า ผู้ใส่คอนแทคเลนส์มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะติดเชื้อโควิด-19 เมื่อเทียบกับผู้สวมแว่น/แว่นสายตา หากมีข้อสงสัยกรุณาปรึกษาจักษุแพทย์
2. การรักษาสุขอนามัยเป็นสิ่งจำเป็น
การล้างมือให้สะอาดทั่วถึงและการเช็ดมือให้แห้งเป็นสิ่งสำคัญ ขณะเดียวกัน การสวมใส่และการดูแลคอนแทคเลนส์อย่างเหมาะสม การรักษาความสะอาดของตลับใส่คอนแทคเลนส์ และการทำความสะอาดแว่น/แว่นสายตาเป็นประจำด้วยสบู่และน้ำก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน พฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยให้คุณมีสุขภาพดีและห่างไกลจากโรงพยาบาล
3. แว่น/แว่นสายตาไม่ช่วยป้องกันเชื้อ
ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนข่าวลือที่ว่า การสวมแว่น/แว่นสายตาทุกวันช่วยป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้
4. ห้ามใช้มือที่ยังไม่ได้ล้างสัมผัสใบหน้า
ไม่ว่าจะใส่คอนแทคเลนส์ แว่น/แว่นสายตา หรือไม่ได้สวมใส่อะไรเลย คุณก็ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสจมูก ปาก และดวงตาด้วยมือที่ยังไม่ได้ล้าง ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC)
5. ถ้าคุณป่วย ควรหยุดใส่คอนแทคเลนส์ชั่วคราว
ผู้ใส่คอนแทนเลนส์ที่ป่วยควรเปลี่ยนไปสวมแว่น/แว่นสายตาแทนชั่วคราว เมื่อคุณหายป่วยและปรึกษากับจักษุแพทย์แล้ว คุณสามารถกลับไปใช้คอนแทคเลนส์ได้ตามปกติ โดยต้องใช้คอนแทคเลนส์ใหม่และตลับใส่คอนแทคเลนส์ใหม่
เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา CDC ได้เผยแพร่คำแนะนำที่ปรับปรุงใหม่เกี่ยวกับการใส่คอนแทคเลนส์ช่วงโควิด-19 ระบาด ซึ่งสอดคล้องกับรายงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Contact Lens & Anterior Eye โดย CDC ระบุว่า แว่นตาและคอนแทคเลนส์ไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นอุปกรณ์ป้องกันส่วนตัว (PPE)
"คนหลายล้านกำลังตั้งคำถามว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดูแลดวงตาอย่างไร เนื่องจากผู้ใหญ่ราว 2 ใน 3 คนทั่วโลกต้องสวมใส่คอนแทคเลนส์ แว่นสายตา หรือแว่นตา แต่กลับมีข้อมูลผิดๆ กระจายเป็นวงกว้างในช่วงนี้ ดังนั้น เป้าหมายของเราคือการแบ่งปันข้อเท็จจริงที่มีวิทยาศาสตร์สนับสนุน เพื่อขจัดความหวาดกลัวด้วยข้อเท็จจริง” ดร.ลินดอน โจนส์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและวิจัยด้านจักษุ (CORE) แห่งมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู (ออนตาริโอ, แคนาดา) และหัวหน้าผู้เขียนรายงาน กล่าว
“ผลการศึกษาของเราบ่งชี้ว่า คอนแทคเลนส์ยังคงเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาสายตาที่ยอมรับได้อย่างสมบูรณ์ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ตราบใดที่ผู้ใส่คอนแทคเลนส์ยังรักษาความสะอาดมืออย่างดี รวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำในการใส่และดูแลคอนแทคเลนส์อย่างเหมาะสม"
รายงานฉบับสมบูรณ์รวบรวมสิ่งที่ค้นพบจากแหล่งข้อมูลที่มีการอ้างอิงกว่า 100 แหล่ง โดยเป็นการเจาะลึกเรื่องสุขภาพดวงตาในแง่มุมต่างๆ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรค รวมถึงให้คำแนะนำเชิงปฏิบัติแก่ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสายตา
(ดาวน์โหลดรายงานฉบับนี้และรายงานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการใส่และดูแลคอนแทคเลนส์อย่างเหมาะสมได้ที่ COVIDEyeFacts.org)
รายงานวิจัยฉบับใหม่นี้ช่วยตอบคำถามและขยายความคำแนะนำของ CORE เกี่ยวกับการล้างมือและการใส่คอนแทคเลนส์อย่างปลอดภัย ซึ่งเผยแพร่เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ดร.โจนส์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลดวงตา โดยเขียนรายงานวิชาการที่ผ่านการพิจารณากว่า 400 ฉบับ และบรรยายทางวิชาการกว่า 1,000 ครั้ง ในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ในปี 2562 เขาได้รับการยกย่องจาก Expertscape ในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่มีผลงานเผยแพร่มากที่สุดในสาขาการวิจัยคอนแทคเลนส์
ผู้เชี่ยวชาญอีก 4 ท่านที่ร่วมเขียนรายงานฉบับนี้ประกอบด้วยนักวิจัย นักวิชาการ และแพทย์ที่ได้รับการนับถือจากทั่วโลก ได้แก่ ดร.คาเรน วอลช์ ผู้นำทีมการศึกษาวิชาชีพและนักวิทยาศาสตร์ทางคลินิกจาก CORE, ดร.มาร์ค วิลล์ค็อกซ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยประจำวิทยาลัยทัศนมาตรศาสตร์และทัศนวิทยาศาสตร์แห่ง UNSW (ซิดนีย์), ดร.ฟิลิป มอร์แกน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยูโรเลนส์แห่งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (สหราชอาณาจักร) และดร.เจสัน นิโคลส์ ผู้ช่วยรองประธานฝ่ายวิจัยและศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยทัศนมาตรศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยอลาบามาเมืองเบอร์มิงแฮม (สหรัฐอเมริกา) และบรรณาธิการใหญ่วารสาร Contact Lens Spectrum