โลกสีครามของ ‘ฉลาม’ นักสร้างสมดุล

โลกสีครามของ ‘ฉลาม’ นักสร้างสมดุล

เช็คความสัมพันธ์ของสัตว์น้ำใต้ท้องทะเล ที่มี ‘ฉลาม’ เป็นทั้งผู้ล่าและผู้ถูกล่าในระบบนิเวศอันเปราะบางนี้

 

เมื่อเกิดมาเป็นนักล่าสูงสุดของห่วงโซ่อาหารแห่งท้องทะเล ‘ฉลาม’ ก็ต้องออกล่าเหยื่อเพื่อความอยู่รอดและเพื่อสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล จึงเป็นที่น่าเกรงขามสำหรับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในน่านน้ำเดียวกัน หรือแม้แต่มนุษย์ผู้อยู่สูงสุดของห่วงโซ่อาหาร

ที่ผ่านมา 'ฉลาม' ซึ่งเป็นทั้งนักล่าและนักสร้างสมดุล เคยก่อเหตุกัดคนมาแล้วหลายครั้ง อย่างเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันได้รับบาดเจ็บ ถูกฉลามกัดระหว่างเล่นน้ำที่หาดนางทอง จังหวัดพังงา เหตุเพราะความเข้าใจผิดคิดว่านั่นคือ 'เหยื่อตามธรรมชาติ' และในปีเดียวกันนี้เอง ช่วงเดือนพฤษภาคมที่คลองน้ำเค็ม บ้านเจ๊ะบิลัง จังหวัดสตูล พบเหตุฉลามกัดเด็กชายวัย 12 ปี ขณะนั่งห้อยขาริมน้ำกับเพื่อน โดยต่อมาได้มีการไล่ล่าตั้งค่าหัวฉลามตัวนั้น ซึ่งภายหลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแนะว่า นั่นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกจุด พร้อมเล็งดันกฏหมายคุ้มครองสัตว์ทะเลหายาก หวังช่วยสร้างสมดุลแห่งท้องทะเล

 

  • ตรวจสุขภาพทะเลไทย

ก่อนจะไปถึงมาตรการต่างๆ ในการคุ้มครองสัตว์ทะเลหายาก หรือหาทางออกในการอยู่ร่วมระหว่างคนกับฉลาม เรามาเปิดใจทำความรู้จักปลาที่ขึ้นชื่อเรื่องความดุร้าย ฉายา 'นักล่า' ผ่านการสำรวจโลกสีครามไปกับ Greenpeace Thailand ในงานพูดคุยออนไลน์ 'ทอล์คออกทะเล : เช็คสุขภาพทะเลตั้งแต่ก่อน Covid-19 จนถึงปัจจุบัน'

เริ่มด้วยปัญหาทะเลในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ และผู้ร่วมก่อตั้ง ReReef มองว่า ปัญหาที่ใหญ่กว่า ‘ขยะทะเล’ คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ บางคนอาจรู้สึกว่าไกลตัว แต่ระบบนิเวศใต้ทะเลอยู่ในจุดที่อ่อนไหวและบอบบางมาก ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือ ‘ปะการัง’ ช่วงต้นปีตั้งแต่ก่อนโควิด-19 มีการฟอกขาวครั้งใหญ่ครั้งที่ 3 ในรอบ 5 ปี ของ ‘เกรตแบร์ริเออร์รีฟ’ (Great Barrier Reef) ระบบนิเวศปะการังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก กินพื้นที่กว่า 3 แสนตารางกิโลเมตร และเต็มไปด้วยปะการังว่า 3,000 ตัว

“การฟอกขาว 2 ครั้งใหญ่ที่ผ่านมา ทำให้ปะการังที่ยาวกว่า 2,000 กิโลเมตรตายไปแล้วครึ่งนึง และในปีนี้เกิดการฟอกขาวครั้งใหญ่ขึ้นอีก เป็นสัญญาณชัดที่นักวิทยาศาสตร์เตือนมาตลอดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า ถึงแม้ว่าเราจะพยายามอนุรักษ์ดีแค่ไหน แต่ถ้าเราไม่แก้ปัญหาใหญ่ๆ ความพยายามหลายๆ อย่างอาจไร้ความหมาย”

ปะการัง ภาพจากเฟซบุ๊กกรมอุทยานแห่งชาติทางทะเล

แนวปะการัง ใต้ท้องทะเล ภาพจากเฟซบุ๊กกรมอุทยานแห่งชาติทางทะเล

 

อีกมุมของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับทะเลในวิกฤตินี้ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย นักดำน้ำและช่างภาพสารคดีเชิงอนุรักษ์ชื่อดัง ได้สะท้อนให้เห็นสุขภาพของโลกใต้น้ำผ่านประสบการณ์การถ่ายภาพสารคดี ซึ่งประสบการณ์ที่ยังคงทุ้มในใจเขาคือ เมื่อครั้งไปขึ้นเรือประมงจังหวัดกระบี่ ทำให้เขาเห็นปริมาณของสัตว์น้ำที่ถูกกวาดมารวมกันภายใต้อวนขนาดใหญ่ ด้วยวิธีการเปิดไฟล่อซึ่งไม่นานนักพวกมันก็เข้ามาอยู่รวมกัน โดยไม่รู้เลยว่านั่นเป็นกับดัก ในจังหวะที่ชาวประมงค่อยๆ สาวขึ้นมาจากผิวน้ำ เป็นวินาทีที่เสียงของปลานับหมื่นตัวต่างตีครีบดิ้นสุดแรงเพื่อหวังเอาชีวิตรอด และในจำนวนนั้นไม่ใช่ทั้งหมดที่นำไปบริโภคได้ ยังมีสัตว์ชนิดอื่นที่ต้องตายโดยใช่เหตุ

อย่างไรก็ดี ในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ผู้คนต่างหยุดการเดินทาง ห่างหายจากกิจกรรมมากมาย ธรรมชาติก็พลอยถูกปลดล็อกไปด้วย เหมือนกับว่าได้ฟื้นฟูและรักษาบาดแผลจากการถูกใช้งานอย่างหนักของบางพื้นที่

“สิ่งที่ทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงชัดๆ เลยก็คือ ลดการรบกวนในพื้นที่ที่มนุษย์เคยใช้ประโยชน์ไปได้เยอะ ส่วนการกลับมาหรือการฟื้นตัวที่จะเห็นได้ชัดคือการพบเห็นสัตว์หายากต่างๆ เช่น การกลับมาวางไข่ของเต่าทะเลที่เกาะสมุย ซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยของพวกเขาอยู่แล้ว เพียงแต่เราเข้าไปร่วมใช้ประโยชน์ด้วย หรือจะเป็นการพบเจอพะยูนที่บ้านเพ จังหวัดระยอง ซึ่งแสดงว่าบริเวณนั้นยังมีระบบนิเวศหญ้าทะเลที่ดีอยู่ ส่วนเรื่องการฟื้นตัวในเชิงปริมาณอย่างที่พบว่าเรือประมงสามารถจับปลาได้ในปริมาณมาก อาจมาจากการปรับสภาพของสัตว์ในทะเลขณะนั้น”

 

  • สำรวจ ‘ฉลาม’ ในทะเล

สถานการณ์ของ ‘ฉลาม’ หรือสัตว์หายากชนิดอื่นๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ เล่าว่า แม้ฉลามจะขึ้นชื่อว่าเป็นปลาก็จริง แต่กลับอยู่ในสถานะปลาที่ถูกคุกคามและความกังวลที่ว่าอนาคตของฉลาม อาจเข้าใกล้คำว่า ‘สูญพันธุ์’ เต็มที อาจไม่ใช่เรื่องของอนาคตอีกต่อไป เพราะในระดับโลก ฉลามแทบจะทุกชนิดมีกลุ่มประชากรลดลงมากกว่า 90-95 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นปลากลุ่มที่มีบทบาทสำคัญมากต่อระบบนิเวศ

ในบทความของเพชรที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ Greenpeace ให้ข้อมูลเกี่ยวกับฉลามไว้ว่า ฉลามหัวบาตร (Bull Shark: Carcharhinus leucas) เป็นปลาฉลามชนิดที่พบอยู่ในทะเลเขตอบอุ่นและเขตร้อนทั่วโลก สามารถปรับตัวให้อยู่ในน้ำจืดได้ด้วย จึงมีรายงานการพบในแม่น้ำขนาดใหญ่เช่นแม่น้ำแม่กลองหรือแม่น้ำบางปะกง มันเป็นปลานักล่ามือดีที่กินปลาใหญ่ อย่างปลากระเบน หรือแม้แต่ฉลามด้วยกันเอง

ปลาฉลามชนิดอื่นๆ ที่ค่อนข้างเป็นที่รู้จักในวงศ์ Carcharhinidae ได้แก่ ฉลามหูดำ ซึ่งมักถูกจับบ่อยๆ ในการประมง, ฉลามครีบดำ ขวัญใจนักดำน้ำพบได้บ่อยในแนวปะการัง, ฉลามครีบดำใหญ่ หรือ 'ฉลามจ้าวมัน' มักอยู่เป็นฝูงเล็กๆ ตามแนวปะการัง และ ฉลามครีบขาว เป็นอีกชนิดที่พบได้ในแนวปะการังเช่นกัน

 

ฉลามวาฬ-ภาพจากเฟซบุ๊กกรมอุทยานแห่งชาติทางทะเล

ฉลามวาฬ-ภาพจากเฟซบุ๊กกรมอุทยานแห่งชาติทางทะเล

 

เมื่อพูดถึงการอนุรักษ์เสือนักล่าแห่งผืนป่า คนก็จะเข้าใจว่าป่าที่สมบูรณ์จะต้องมีเสือเป็นตัวชี้วัดความสมดุลของผืนป่า ฉลามก็เช่นกันมันทำหน้าที่ไม่ต่างจากเสือบนบก ในการควบคุมความสมดุลของโครงสร้างประชากรปลาทั้งมหาสมุทร​ กำจัดปลาที่อ่อนแอและใกล้หมดอายุขัย เสมือนตัวเร่งตัวเร่งปฏิกิริยาให้ปลาสายพันธุ์อื่นๆ ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด รวมถึงการรักษาสมดุลประชากรปลากินพืช ลดความเสียหายของถิ่นอาศัยขณะเดียวกันยังแบ่งสรรปันพื้นที่ เพื่อควบคุมพฤติกรรมของปลากินเหยื่อขนาดรองลงมาให้ใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างลงตัว

“การกลับมาของฉลามหลังการปิดอ่าวมาหยากว่า 2 ปี เพื่อจัดการพื้นที่ที่เคยมีเรือเร็ววันละหลายร้อยลำเข้าออก ปรากฏว่าปัจจุบันเป็นที่แวะเวียนของฉลามหูดำมากกว่า 100 ตัว และยังมีพื้นที่เกาะยูง อ่าวพังงาอีกด้วย” นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์พูดถึงข่าวดีของฉลามในประเทศไทย

ขณะเดียวกันสถานการณ์ฉลามทั่วโลกก็ไม่ดีขึ้นนัก นี่เป็นข่าวร้ายที่เพชรกำลังจะพูดถึง เมื่อเร็วๆ นี้เองมีการยึดจับหูฉลามล็อตใหญ่ที่สุดได้ที่ฮ่องกงซึ่งถูกส่งมาจากเอกวาดอร์ น้ำหนักราวๆ 26 ตัน หรือประมาณ 38,500 ตัว โดยมาจาก 2 ชนิดด้วย คือ ฉลามหางยาว (Thresher) กับฉลามซิลกี้ (Silky) ตอกย้ำถึงความต้องการที่สูงมาก ของอาหารอันโอชะอย่างหูฉลาม และสะท้อนกลับไปยังเรื่องการอนุรักษ์ทะเลที่มักพูดกันว่าเป็น out of sight out of mind หรือฉลามอาจจะเป็นระบบนิเวศที่ดูไกลตัว ไกลเกินที่จะอยู่ในสายตา

“ฉลามเป็นตัวแทนทะเลในแง่ของระบบนิเวศและสมดุลของสัตว์ทะเลหายาก ชนิดที่ยังมีการใช้ประโยชน์อย่างถูกกฎหมายด้วย เพราะกฎหมายไทยเองก็ยังตามไม่ทันแม้จะมีการเรียกร้องหรือรณรงค์กันมากมาย แต่เมื่อเราเดินไปเยาวราชเดินไปห้างสรรพสินค้าก็ยังหาซื้อหูฉลามน้ำแดงหรือหูฉลามแปรรูปได้ง่ายๆ” นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์คนเดิมกล่าว

 

  • สมดุลของมนุษย์และนักล่า

สำหรับ New Normal ทะเลไทย ศิรชัยมองว่า ที่ผ่านมาคือการรีเซ็ตในระดับหนึ่ง ชายหาดหลายแห่งยังถูกห้ามเข้า ทำให้เห็นว่าเราใช้ทรัพยากรกันเสียหายไปเท่าไรแล้ว นี่คงเป็นช่วงที่ดีในการวางแผนคุ้มครองและดูแลท้องทะเลเพิ่มขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

เช่นเดียวกับ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่โพสต์กติกาสำหรับการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติทางทะเล เพื่อให้ new normal ทะเลไทยเกิดขึ้นจริง ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat หลังจากเริ่มคลายล็อคดาวน์และมีรายงานเจอวาฬบรูด้า, ฉลามวาฬ, โลมาในหลายพื้นที่ จึงฝากไว้ว่าเมื่อเจอแล้วควรปฏิบัติตามกติกา ดังนี้

1.ลดความเร็วเรือ 4 น็อต 2.เมื่อเข้าใกล้ในระยะ 100 เมตร หยุดเดินเรือ ลอยลำ เพื่อป้องกันอันตรายและไม่เป็นการรบกวน 3.หากสัตว์เข้ามาหา เธอจะมาเอง ไม่ต้องห่วง 4.สามลำคือตัวเลขในการเข้าชมวาฬ อย่ามุง อย่าเข้าไปเยอะ รอสักนิดให้เรือลำอื่นออกไปก่อน 5.อย่าให้อาหาร โดยเฉพาะเต่ากับโลมา 6.สังเกตพฤติกรรมสัตว์ตลอดเวลา หากสัตว์แสดงออกว่าโดนรบกวน รีบหยุดทำทุกอย่าง 7.หากเจอสัตว์บาดเจ็บ/ติดขยะ รีบแจ้งศูนย์รับแจ้งเรื่องสัตว์ทะเลหายากตามชายฝั่งพื้นที่ต่างๆ ของกรมทรัพยากรทางทะเล 

 

ฉลามวาฬกับนักท่องเที่ยว

ฉลามวาฬกับนักท่องเที่ยว

 

8.ดูแลการท่องเที่ยวตามมาตรการโควิด-19 เก็บขยะให้เรียบร้อย นำกลับมาแยกและจัดการ 9.ลดขยะพลาสติกใช้แล้วทิ้งให้มากที่สุด, 10.ไม่ควรลงน้ำไปว่ายกับวาฬ/โลมา ในกรณีฉลามวาฬ อาจลงไปลอยคอดู แต่อย่าจับแตะเกาะ อย่าว่ายไล่ไปเป็นพรวน 11.กรมทะเลไม่อนุญาตให้นำพาหนะอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสมในการเข้าชมสัตว์หายากโดยเด็ดขาด 12.การกระทำที่ไม่เหมาะสม จะส่งผลต่อสัตว์หายาก และจะส่งผลต่อการประกอบกิจกรรมในลักษณะนี้ต่อไปในอนาคต

“วิธีการฟื้นฟูทะเลที่มีประสิทธิภาพและราคาถูกที่สุดคือปล่อยให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัวเอง และหากเรามีข้อมูลที่ชัดเจนว่านั่นคือแหล่งอนุรักษ์ฉลามที่สำคัญ ต้องคิดต่อว่าทำอย่างไรให้สามารถปกป้องพื้นที่นั้นไว้และบาลานซ์การท่องเที่ยว ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีคนเริ่มเห็นว่าเราสามารถฝันว่าจะมีฉลามพวกนี้อยู่ในทะเลบ้านเราได้ ลบภาพที่ว่าเห็นไหมทะเลต่างประเทศสมบูรณ์เพราะมีฉลาม เพราะประเทศไทยสามารถเป็นเช่นนั้นได้” นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ ให้ความเห็นเสริม

การอนุรักษ์ฉลาม ต้องสร้างจิตสำนึกใหม่ ทั้งงดบริโภคหูฉลามและควบคุมการจำหน่าย แต่ลำพังจิตสำนึกนั้นแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด ต้องอาศัยกฎหมายที่ชัดเจน เพื่อก้าวไปพร้อมๆ กับจิตสำนึก นั่นคือการวางกติการ่วมกันใหม่ในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงการจัดการประมงที่ยั่งยืนไม่ทำลายสมดุลท้องทะเล เพื่อควบคุมให้ระบบนิเวศอันเปราะบางนี้แข็งแกร่งในอนาคต