อีสานโมเดล ‘Wellness Tourism’ ความหวังใหม่ของการท่องเที่ยว
ฟื้นฟูการท่องเที่ยวอีสานสู่ new normal กับเส้นทางท่องเที่ยวใน 20 จังหวัดภาคอีสาน สร้างแลนด์มาร์คใหม่ในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
จากรายงานภาพรวมการท่องเที่ยวปี 2562 ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีนักท่องเที่ยวเข้าไทยมากถึง 39.7 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวราว 1.93 ล้านล้านบาท ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยเอง เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเมื่อปีที่ผ่านมาราว 166 ล้านคน-ครั้ง มูลค่า 1.08 ล้านล้านบาท โดยจังหวัดที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุด 3 อันดับแรก ยังคงเป็นเมืองหลักอย่างกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต
ทว่าภาพรวมการท่องเที่ยวเมืองรองกลับมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.88 ขณะที่เมืองหลักหดตัวร้อยละ 0.49 ทำให้แนวโม้นในปี 2563 ขยายตัวในอัตราใกล้เคียงกัน ก่อนจะถูกดับฝันด้วยการระบาดของโรคโควิด-19 ที่สะพัดเอารายได้จากการท่องเที่ยวหายชั่วพริบตา เนื่องจากการถูกล็อคดาวน์นานกว่า 4 เดือน
ทั้งนี้ ไม่ว่าระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐใครจะเป็นฝ่ายเริ่มต้น 'New Normal' การท่องเที่ยวในประเทศก่อน ย่อมสร้างแรงขับเคลื่อนที่ดีให้กับธุรกิจนี้ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่เน้นสุขภาพ (Wellness Tourism) ซึ่งเมืองรองในหลายๆ จังหวัดของภาคอีสาน อย่างอุดรธานี – ขอนแก่น – บุรีรัมย์ กำลังเผยศักยภาพของการเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยว สู่ ‘อีสานโมเดล’ ที่พร้อมรับนักท่องเที่ยวบนมาตรฐานความปลอดภัยตามกระทรวงสาธารณสุข ท่ามกลางสถานการณ์ล็อกดาวน์ที่ค่อยๆ คลี่คลายลง
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ททท.ภูมิภาคอีสาน) จึงร่วมกับพันธมิตรภาคีเครือข่ายธุรกิจท่องเที่ยว เปิดประตูสู่เส้นทางอีสานพร้อมนำเทรนด์ของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศไทย และกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในภูมิภาคเพิ่มขึ้น กับแคมเปญ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในภาคอีสาน (Isan Wellness Tourism) ภายใต้กิจกรรม ‘มินิคาราวานซ่อมสร้างการท่องเที่ยวไทย’ โปรแกรม ‘ชวนพักรักสุขภาพ กับนักรบเสื้อขาว ฮีโร่กู้วิกฤต’(Isan Wellness Tourism)
ตะวันขึ้นที่ผาแต้ม จ.อุบลราชธานี
- โปรแกรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
แม้การท่องเที่ยวจะถูกปลดล็อคแล้วบ้าง ทว่าความปลอดภัยในการทำกิจกรรมทุกอย่างยังเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก อย่างเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เปิดตัวโครงการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย หรือ Amazing Thailand Safety & Health Administration (SHA) โดย ดร. นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อธิบายว่า เป็นโครงการที่เปิดให้ผู้ประกอบการ 10 ประเภทกิจการที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเข้ามาลงทะเบียน เพื่อบันทึกเป็นฐานข้อมูลรายชื่อ และกำลังร่วมมือกับกระทรวงการคลังเพื่อออกมาตรการ ‘เที่ยวปันสุข’ รวมถึงการจัดทำแนวทางการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างจำกัด หรือ 'Travel Bubble'
นอกจากนี้ กิจกรรมในโปรแกรมชวนพักรักสุขภาพ ยังสะท้อนถึงทิศทางการปรับตัวเตรียมรับ New Normal หลังวิกฤตโควิด-19 และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในภาคอีสาน (Isan Wellness Tourism) อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งผู้ประกอบการมีความพร้อมที่จะเปิดการท่องเที่ยวรูปแบบปกติใหม่ หรือ Travel New Normal ซึ่งสอดรับกับนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่ทางกระทรวงกำลังเร่งทำงานกันอย่างหนักในขณะนี้
บรรยากาศในงานเสวนา ทิศทางการปรับตัวเตรียมรับ New Normal หลังวิกฤตโควิด-19 และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในภาคอีสาน
ในส่วนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมชาย ชมภูน้อย ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มองว่าวิถีใดๆ ที่ไม่ใช่ปกติ จะกลายเป็นแนวทางหรือวัฒนธรรมใหม่ จึงเป็นรูปแบบของการท่องเที่ยว โดยส่วนหนึ่งก็เพื่อจะคืนกำไรให้กับเหล่านักรบเสื้อขาว และผันตัวเป็นตู้ปันสุขหอบความสุขมามอบแก่ฮีโร่กู้วิกฤติ พาไปท่องเที่ยว พักผ่อน กินอาหารเพื่อสุขภาพ พร้อมๆ กับช่วยเหลือผู้ประกอบการต่างๆ ด้วย
“สำหรับความพร้อมของภาคการท่องเที่ยวอีสาน ที่จะสอดรับกับนโยบายท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย ห่างไกลโรค เรามีความพร้อมที่จะรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Isan Wellness Tourism) เนื่องจากอีสานมีความโดดเด่นเรื่องสมุนไพร พืชท้องถิ่น ที่เป็นทั้งยาและอาหาร รวมถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เหมาะกับการท่องเที่ยวในลักษณะนี้”
ที่สำคัญ การส่งเสริมการขายและสนับสนุนการตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศยังเป็นการตอกย้ำทิศทางแผนการตลาดการท่องเที่ยวภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งสร้างความร่วมมือและความเชื่อมั่นในการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศหลังจากนี้
การรวมตัวกันของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในอีสาน 20 จังหวัด ภายใต้ ‘สมาคมการค้าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีสาน’ นอกจากจะเป็นการตอบแทนความเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังนำไปสู่แนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภาคอีสานให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
สมุนไพรพื้นบ้านอีสาน
- เส้นทางพักรักสุขภาพ
ในส่วนของสมาคมการค้าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีสาน (สอทอ.) โดย วสุมน เนตรกิจเจริญ นายกสมาคมฯ เสริมว่า นอกจากโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพดังกล่าว ยังมีโครงการ ‘เจ้าถิ่นอีสานออนไลน์’ ภายใต้แบรนด์สินค้า Buff กับคอนเซ็ปต์ ‘เที่ยวอีสานวิถีใหม่ สะดวก ปลอดภัย ไว้ใจเจ้าถิ่น’ โดย 19 เจ้าถิ่น บริการ 20 จังหวัดในอีสาน ที่รวบรวมสินค้าทางการท่องเที่ยวหมวดต่างๆ และช่วยออกแบบกิจกรรมท่องเที่ยวออกมาเป็น 4 หมวดด้วยกัน ได้แก่
Buff Tour โปรแกรมท่องเที่ยวที่เริ่มต้นจาก 2 คน พร้อมจองตั๋วเครื่องบินไปกลับและบริการรถเช่า, Buff Booking จองโรงแรมเครือข่ายเจ้าถิ่น หรือจะอุดหนุนโฮมสเตย์คุณภาพจากชุมชน, Buff Service มัคคุเทสก์ท้องถิ่น รวมถึง Driver Guide และ Buff Shop สารพัดของฝากจากชุมชน
โดยใช้จุดแข็งในการเป็นเครือข่ายบริษัทนำเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ 20 จังหวัด เพื่อนำขึ้นเสนอขายบน Social Media Platform ในชื่อเว็บไซต์ www.ebuffesan.com Facebook และ Line ซึ่งเป็นการให้บริการด้านการท่องเที่ยวออนไลน์ Online Travel Agency (OTA) เกิดเป็นทางเลือกใหม่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าท่องเที่ยวและบริการในท้องถิ่น ในยุคการท่องเที่ยวแบบ New Normal
เขากระโดง จ.บุรีรัมย์
เว็บไซต์ อีบั๊ฟ อีสาน (ebuff esan) จึงเป็น Business Platform ที่ใช้ควบคู่เชื่อมโยงด้วยกันเพื่อใช้ในการจองและจำหน่ายสินค้าทางการท่องเที่ยว และยังให้บริการ คอยดูแล พูดคุย สอบถาม ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารต่างๆ แก่นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจัดทำขึ้นโดยผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่อีสานโดยตรงที่ไว้วางใจได้เป็นอย่างดี
“ทุกวันนี้อีสานเล็กลงนิดเดียว ด้วยแพลตฟอร์มบุ๊คกิ้ง 'อีบั๊ฟ อีสาน' ที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั่วอีสานจะเข้ามาเป็นสินค้าให้นักท่องเที่ยวได้เลือกสรร มีเส้นทางมากมายให้ได้เลือกเดินทาง ที่พักที่มาพร้อมความปลอดภัยอีกระดับ บินไปบินกลับ ขับรถเที่ยว”
ทั้งนี้การเริ่มต้นของมินิคาราวานซ่อมสร้างการท่องเที่ยวไทย โปรแกรม ‘ชวนพักรักสุขภาพ กับนักรบเสื้อขาว ฮีโร่กู้วิกฤต’ มีเส้นทางจาก อุดรธานี – ขอนแก่น – บุรีรัมย์ เป็นการเริ่มต้นเส้นทางของการท่องเที่ยวในภาคอีสานครั้งแรก โดยมีกำหนดการเปิดเส้นทางครั้งที่ 2 วันที่ 29 มิถุนายน 2563 ในเส้นทางจังหวัดขอนแก่น - ศรีสะเกษ เป็นเส้นทางต่อไป
วัดเก้าชั้น จ.ขอนแก่น
- บริการสุขภาพจากแพทย์ทางไกล
นอกเหนือจากแพลทฟอร์มใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภาคอีสาน ยังตอกย้ำ Wellness Tourism ด้วยเทคโนโลยี Wiztech ตรวจหาจุดอ่อนทางสุขภาพ เพื่อดีไซน์กิจกรรมท่องเที่ยวอย่างเหมาะสม โดย น.พ.ทีปทัศน์ ชุณหสวัสดิกุล แพทย์ด้าน Wellness กรรมการบริหารผู้ก่อตั้งระบบ Wiztech Health International เล่าว่า ตนเองได้มีโอกาสได้รู้จักกับหมอแผนไทยและแผนจีนหลากหลาย ทำให้ได้รู้ถึงภูมิปัญญาของไทย และค้นพบข้อเท็จจริงที่ว่า การจะสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจขึ้นมาให้รุ่งโรจน์ได้จริง ต้องเริ่มจากความเป็นไทย ความเป็นภูมิปัญญาที่มีอยู่ ซึ่งจีนได้พิสูจน์แล้วว่า หลังจากฟื้นตัวในวิกฤตโควิด-19 ปรากฏว่า ยาจีนขายดีมาก นี่คือต้นแบบสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่เขามองว่ายั่งยืน
ต่อยอดภูมิปัญญาสู่แพลตฟอร์มวิเคราะห์สุขภาพ (Wiztech Health International) เทคโนโลยีที่ไม่ว่าหมอจะอยู่ที่ไหน ก็สามารถวิเคราะห์สุขภาพคนไข้ได้ เพียงกรอกข้อมูลเข้าไปในเว็บไซต์หรือผ่านแอพพลิเคชั่นดังกล่าว เช่น ชื่อ-นามสกุล เพศ อายุ น้ำหนัก-ส่วนสูง วันเดือนปีเกิด ความดัน กรุ๊ปเลือด อุปนิสัย เป็นต้น เมื่อกรอกข้อมูลเสร็จก็จะมีข้อมูลที่วิเคราะห์ว่า อาหารที่ควรจะกินเป็นอย่างไร ควรจะหลีกเลี่ยงอาหารประเภทไหน มีปัญหาสุขภาพตรงส่วนใด
ส่วนนี้เองจะช่วยย่นระยะเวลาทำให้หมอสามารถทำความรู้จักกับคนไข้ได้เร็วขึ้น รวมทั้งสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้จากหมอที่มีประสบการณ์ให้กับทีม Tourism เนื่องจากบางครั้งหมอไม่สามารถร่วมเดินทางด้วย เครื่องมือนี้จึงสามารถสร้างความมั่นใจได้มากขึ้น ในการแนะนำเรื่องการดูแลสุขภาพ
“แพ็คเกจของ Tourism จำเป็นต้องมี Health เพื่อเป็นตัวเลือกในโปรแกรมนี้ สมมุติว่าเราต้องการจะนวดไหล่แก้เคล็ด เพียงคลิกเข้าไปก็จะลิงค์ไปที่แผนที่แหล่งสปาหรือนักบำบัดที่จะแก้เส้นให้ได้ มีตัวเลือกมากมายทั้งชื่อร้านและคนนวดที่การันตีว่าเป็นแพทย์แผนไทย หรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ ให้เลือกจอง”
“เรานำกรอบนโยบายของภาครัฐต่างๆ มาปฏิบัติ เราจึงพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวหลังโควิด-19 สำคัญที่สุดเราต้องจับมือกันแน่นๆ อย่างไรให้พ้นวิกฤตไปด้วยกัน แล้วสมาคมเราเกิดขึ้นไดเพราะวิกฤต และเป็นโอกาสของภาคอีสานด้วย จากที่เมื่อก่อนคนจะมองอีสานในการท่องเที่ยวเป็นตัวเลือกที่สองสามสี่ แต่ต่อจากนี้ไปเราจะเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งที่พร้อมทั้งสถานที่และความปลอดภัย” วสุมน เสริม
โครงการมินิคาราวานซ่อมสร้างการท่องเที่ยวไทย จึงถือเป็น role model ในการเปิดตัวการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ทำงานภายใต้เครือข่ายจังหวัด โดยมีภารกิจเดียวกันในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวให้กลับมาเป็นกำลังสำคัญด้านเศรษฐกิจของประเทศ