ประวัติศาสตร์สนุกหนา.. ออเจ้า

ประวัติศาสตร์สนุกหนา.. ออเจ้า

ไปให้ไกลกว่ากระแส ‘พี่หมื่น & แม่การะเกด’ ตามไปคุยกับ 'อาจารย์พี่บูม' สิทธารถ ศรีโคตร ผู้แต่งคอสเพลย์ไปสอนประวัติศาสตร์ กับความหวังว่า ประวัติศาสตร์จะไม่ใช่ยาขมอีกต่อไป

เพียงแค่สัปดาห์แรกของการออนแอร์ ทั่วทั้งกรุงโซเชียลก็กระหึ่มด้วยแฮชแท็กย้อนยุคสะท้อนความฮิตจากละคร ‘บุพเพสันนิวาส’ ไหนจะออเจ้า บ่าวพี่หมื่น ทีมแม่การะเกด หรือจะมองเขม่นแม่หญิงจันทร์วาด 

จนมาถึงวันนี้ความแรงของทีมพี่หมื่นก็ยังฟอร์มดีไม่มีตก และที่ตามมาก็มีทั้งคำถามมากมาย ออเจ้าหมายความว่าอะไร.. อยุธยาช่วงพีครุ่งเรืองขนาดไหน.. ฟอลคอนคือใคร.. ออกญาใหญ่แค่ไหน ไปจนถึงกระแสแต่งชุดไทยเที่ยววัดไชยฯฟีเวอร์ หนังสือนิยายต้นฉบับขาดตลาด ยอดขายอีบุ๊คถล่ม ขึ้นอันดับหนึ่งของทุกเว็บ แถมยังมีมือดีเอาอีบุ๊คอัพโหลดให้อ่านฟรี และมีคนร่วมแชร์ส่งต่อกันถึง 7 หมื่นราย ฯลฯ 

นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของวงการประวัติศาสตร์ใช่หรือไม่ แล้วเราจะใช้โอกาสนี้พัฒนาวงการอย่างไร ‘จุดประกาย’ ชวนไปคุยกับ ‘อาจารย์พี่บูม’ สิทธารถ ศรีโคตร รองหัวหน้าภาควิชา (Deputy Head of Department of History) ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ผู้หลงใหลในประวัติศาสตร์จนถึงขั้นแต่งคอสเพลย์เป็นทหารญี่ปุ่นบ้าง ท่านเจ้าคุณบ้าง ถือลูกกระสุนปืนใหญ่ไปสอนหนังสือก็เคยมาแล้ว ทำเอาโด่งดังในออนไลน์อยู่ช่วงหนึ่ง

แม้เจ้าตัวจะยืนยันว่า ที่แต่งตัวแบบนั้นไปสอนจะเป็นเพราะความชอบส่วนตัวล้วนๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้วยสไตล์การสอนที่ไม่เหมือนใคร ก็ทำให้ห้องเรียนประวัติศาสตร์ของเขาไม่น่าเบื่ออีกต่อไป

13062541_10205708442339233_3406545500882441113_n

“ก่อนผมมาเป็นอาจารย์ เคยไปรับจ๊อบบรรยายที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ ให้กับเด็กๆ ที่มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ตอนนั้นมีเด็กผู้หญิงซักม.ต้นคนนึง ถามผมว่า.. ‘ทำไมเราต้องเรียนประวัติศาสตร์ หนูเข้าใจนะคะว่า เรียนวิทยาศาสตร์ทำไม แต่หนูไม่เข้าใจประโยชน์ของการเรียนประวัติศาสตร์เลย’ นี่เป็นคำถามที่ผมอึ้งมาก ตอบไม่ได้ แล้วก็อยู่ในหัวผมมาหลายปี” เขาเล่า

ประวัติศาสตร์ก็คือ การบอกเล่าเพื่อผลประโยชน์ในทางใดทางหนึ่ง
ที่มักลงเอยที่การมี  ‘พระเอก’ และ ‘ผู้ร้าย’
เป็นผลให้เกิดความเกลียดชังที่ส่งต่อกันมา

ขณะที่นักประวัติศาสตร์บางคนอาจให้คำตอบแบบคลาสสิกว่า เรียนไปก็เพื่อจะได้รู้จักตัวเอง เกิดความรักชาติบ้านเมือง แต่ในใจของเขารู้ทั้งรู้ว่า ไม่ใช่แบบนั้น เพราะประวัติศาสตร์ก็คือ การบอกเล่าเพื่อผลประโยชน์ในทางใดทางหนึ่ง ที่มักลงเอยที่การมี ‘พระเอก’ และ ‘ผู้ร้าย’ เป็นผลให้เกิดความเกลียดชังที่ส่งต่อกันมา

เมื่อกลั่นกรองความคิดได้หลังจากหลายปีผ่านไป คำตอบที่เจ้าตัวอยากจะฝากไปถึงเด็กคนนั้นก็คือ 

“การศึกษาประวัติศาสตร์ก็เพื่อให้รู้ว่า เราเป็นใคร อยู่หรือเป็นอย่างทุกวันนี้ได้จากพื้นฐานของอะไร เราจะเข้าใจทั้งในแง่ปัจเจกคือตัวเราเอง ทำไมเราถึงเรียกตัวเองว่าคนไท คอนเซปต์ของ ‘ไท’ สมัยอยุธยา กับ ‘ไทย’ ที่มี ย.ยักษ์ เหมือนกันไหม เมื่อเข้าใจถึงความสำคัญ และความสัมพันธ์ ว่า ทำไมสิ่งนั้นถึงเป็นแบบนี้ ทำไมคนนั้นถึงทำอย่างนี้ เราจะมีความเข้าใจคนอื่นมากขึ้น คิดเป็นระบบมากขึ้น และไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ไม่แชร์อะไรง่ายๆ อย่างที่คนสมัยนี้ชอบเป็นกัน”

ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงได้ตลอดตามข้อมูลหลักฐานที่พบใหม่ แต่ “วิธีการคิด” ระหว่างการศึกษาประวัติศาสตร์นั่นต่างหากที่สอนให้ได้เรียนรู้เรื่องทุกอย่างอย่างเปิดกว้าง มีความคิดวิเคราะห์แยกแยะ โดยเฉพาะคุ้นชินกับการตั้งคำถามว่า “ทำไม”

หัวใจสำคัญที่เขาต้องการให้เข้าใจตรงกัน คือ ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต แต่อดีตอาจไม่ใช่หรือไม่เหมือนกันกับประวัติศาสตร์ก็ได้

“ก็เหมือนไวน์กับองุ่นน่ะครับ ไวน์ทำจากองุ่น แต่ถามว่า งั้นองุ่นคือไวน์ไหม.. ก็ไม่ใช่ มันคือคนละสิ่งกัน” เขาเปรียบเทียบ

เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจากอดีตและถูกบอกเล่าในฐานะ ‘ประวัติศาสตร์’ นั้น มาจากการเก็บรวบรวมหลักฐาน และปะติดปะต่อโดย ‘นักประวัติศาสตร์’ ตามชุดความคิด ความเชื่อ หรือสมมติฐานที่ตั้งไว้

อดีตจึงกลายเป็นประวัติศาสตร์ได้ในหลายเวอร์ชั่นตามแต่ผู้ร้อยเรียง เห็นได้จากรากศัพท์ของคำว่า history ในภาษาละตินที่แปลว่า ถัก ทอ หรือร้อยไว้ด้วยกัน ฉะนั้น หากสนใจใคร่รู้เรื่องประวัติศาสตร์ ก็จำเป็นที่จะต้องช่างสงสัย และอย่าเชื่ออะไรง่ายดายเกินไป

4DQpjUtzLUwmJZZPEbsuJlwP0gr8RjlEUsEm5tS7uAWO

ย้อนมามองที่กระแสจากละครบุพเพสันนิวาส ในมุมมองของอาจารย์สายคอสเพลย์อย่างเขา แน่นอนว่า มันคือเรื่องดี ที่ทำให้ประวัติศาสตร์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องท่องจำ แต่มันยังทำให้เราเอามาคิดต่อได้ด้วย

“คำถามอย่างเช่น พม่าเผากรุงจริงมั้ย.. ตอบว่า จริง แต่ถามว่า เผาหมดทั้งกรุงไหม อันนี้ผมถามเด็กต่อว่า ถ้าเผาหมดทั้งกรุง แล้วจะไปนอนที่ไหนกัน เพราะฉะนั้น มันอาจเชื่อได้ว่า เขาเผาเฉพาะจุดที่สำคัญๆ เท่านั้นเช่น วัง หรือวัด แต่บ้านเรือนประชาชนรอดจากการโดนเผา 

ทีนี้ถามต่อว่า พม่า เอาสมบัติเราไปหมดจริงไหม.. ทราบมั้ยครับว่า อาชีพนึงที่ฮิตมากหลังเสียกรุงครั้งที่สอง คือ อาชีพขุดสมบัติที่หลงเหลืออยู่ ซึ่งทางหลวงก็ยอมให้ขุดนะ แต่ต้องแบ่งส่วนหนึ่งให้หลวงด้วย เพราะตอนที่พระเจ้าตากครองราชย์ ไพร่พลก็ไม่มี ต้องใช้เงินเยอะเพื่อสร้างบ้านเมือง แล้วจะเอาเงินมาจากที่ไหนล่ะ ก็น่าจะมาจากสมบัติที่เหลืออยู่ที่อยุธยานี่แหละ” เขายกตัวอย่าง

ถ้าไม่มีละครเรื่องนี้ เขาก็ไม่รู้ว่า
นี่เป็นคำพูดตามปกติในสมัยอยุธยา

และเสริมต่อว่า ถ้าอ่านจากหนังสือประวัติศาสตร์จะรู้ว่า พม่าหลังจากยึดกรุงศรีฯ ได้แล้ว ตั้งทัพอยู่ได้ไม่นานก็ต้องรีบถอยทัพกลับไปรับศึกจากเมืองจีน ฉะนั้น สมมติฐานที่ว่า คนไทยด้วยกันหรือเปล่าที่มาขุดลอกทองหรือทรัพย์สมบัติไปเสียจนหมด ก็เริ่มเกิดเป็นอีกหนึ่งชุดความเชื่อที่ต้องสืบค้น หาหลักฐานกันต่อไป

“การศึกษาประวัติศาสตร์อย่างไม่เข้าใจ จะตกเป็นเครื่องมือของการเกลียดชังได้ แต่ที่น่าคิดคือ ประวัติศาสตร์กระแสหลักจากในตำราเรียนนั้นยังยึดติดกับขนบเดิมๆ อย่างพอละครเรื่องนี้ดัง ก็เป็นเรื่องดี เพราะอย่างน้อยตอนนี้คนก็สนใจและตั้งคำถามมากขึ้น อย่างเช่น ออเจ้า คืออะไร ถ้าไม่มีละครเรื่องนี้ เขาก็ไม่รู้ว่า นี่เป็นคำพูดตามปกติในสมัยอยุธยา แต่มีที่มาจากไหนนั้น ยังไม่มีใครรู้ บางคนก็ตั้งคำถามว่า คำนี้มาจากภาษาเขมรหรือเปล่า หรือบางสายก็บอกว่า คำไทยนี่แหละ แต่เป็นคำอุทานสร้อยเฉยๆ 

นี่ไง.. สงสัยแล้วก็ต้องไปหาข้อมูลเพื่อสนับสนุนสมมติฐานของตัวเอง และมันจะนำมาสู่การถกเถียงโดยมีหลักฐาน บนหลักวิชาการที่ผ่านกระบวนการ Critical Thinking (การคิดเชิงวิพากษ์) ซึ่งคนสมัยนี้ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากมาย แต่ขาดวิจารณญาณในการวิพากษ์ความน่าเชื่อถือ” เขายกตัวอย่างขยายความ

การเอาประวัติศาสตร์ออกมาจากตำรา ไม่ว่าจะโดยการสร้างความน่าสนใจระหว่างการสอนหนังสือโดยอาจารย์สายคอสเพลย์อย่างเขา หรือจากละครดังหลังข่าวก็ตามแต่นั้น ล้วนแต่เป็นผลดีต่อวงการประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น 

คนสมัยนี้ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากมาย
แต่ขาดวิจารณญาณในการวิพากษ์ความน่าเชื่อถือ

02

“ถ้าเราปล่อยประวัติศาสตร์ไว้ในหนังสือมันก็อยู่อย่างนั้น ไม่ได้ดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้เลวลง แต่ถ้าเอาประวัติศาสตร์ออกมาบอกเล่าผ่านสื่ออื่นๆ คอนเทนต์อื่นๆ ที่มองเห็นจับต้องหรือเข้าถึงได้ง่ายขึ้น มันก็กระตุ้นความสนใจคนได้ ถึงแม้การเล่าประวัติศาสตร์ผ่านสื่ออย่างละครจะหวือหวา น่าตื่นเต้น ซึ่งอาจมีบ้างที่ไม่ถูกต้องตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แต่เราก็ต้องเข้าใจว่า ละครก็คือละคร เขาก็ต้องทำเพื่อความบันเทิง มันคือละคร ไม่ใช่สารคดี นักประวัติศาสตร์อย่างผมจะไปบอกเขาว่า คุณต้องทำให้ถูกต้องนะ ก็คงไม่ได้” 

เพราะหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์อย่างเขา คือ การสื่อสารกับสังคมให้เข้าใจถึงเนื้อแท้ของประวัติศาสตร์ว่า อยากรู้ ต้องหัดถาม ช่างสงสัยเข้าไว้ และลงมือค้นหาให้หายข้องใจ

ไม่แน่ว่า เราอาจสร้าง “ประวัติศาสตร์” ฉบับที่เป็นของเราเองก็ได้ใครจะไปรู้..