ซุปไก่ (บ้าน) อาหารต้านหวัด

ซุปไก่ (บ้าน) อาหารต้านหวัด

เภสัชกรจากรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ไขข้อสงสัยสรรพคุณ ซุปไก่ ต้มยำไก่ แกงไก่ สยบโรคหวัดคัดจมูก แก้ไอ ได้มากน้อยเพียงใด

“หวัด” โรคภัยไข้เจ็บที่มักมากับฤดูหนาว โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เนื่องจากภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงดี และยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อหวัดเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ เราจึงมักพบเด็กเล็กในเนอสเซอรี่หรือในโรงเรียนอนุบาลเป็นหวัดปีละหลายๆ ครั้ง เพราะติดหวัดกันไปมา เด็กๆ ต้องทุกข์ทรมานจากการมีน้ำมูกคั่งค้าง ทำให้หายใจไม่ออก นอนไม่ได้

แม้ปัจจุบันพัฒนาการทางเทคโนโลยีทางการแพทย์จะทันสมัยขึ้นมาก แต่ปัญหานี้ก็ยังไม่สามารถแก้ได้ เนื่องจากไม่มียาที่จะไปฆ่าเชื้อไวรัสหวัดได้โดยตรง มีเพียงแต่ยารักษาตามอาการเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม สังคมมนุษย์ได้สั่งสมประสบการณ์ในการใช้ตำรับอาหารต้านหวัด เพื่อแก้ปัญหาไห้กับตัวเองมาอย่างยาวนาน ซึ่งหนึ่งในตำรับอาหารยอดนิยมของคนทุกชาติคือ “ซุปไก่” นั่นเอง

“ซุปไก่” ตำรับอาหารดั้งเดิม ที่มีการใช้กันมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 12 ปัจจุบันมีรายงานการศึกษาวิจัยในหลอดทดลองของ ดร.สตีเฟน เรนนาร์ด หัวหน้าแผนกโรคปอด แห่งมหาวิทยาลัยเนบราสกา พบว่า ซุปไก่ มีฤทธิ์ยับยั้งการเคลื่อนที่ของเม็ดเลือดขาวชนิดที่เรียกว่า นิวโทรฟิลด์ ไปยังเนื้อเยื่อปอด ซึ่งจะช่วยลดขบวนการอักเสบในปอด และลดอาการไอได้ ตำรับซุปไก่ดังกล่าวเรียกกันว่า ซุปของคุณยาย(Grandma's soup) ซึ่งประกอบด้วย ไก่ มะเขือเทศ หัวหอมใหญ่ มันฝรั่ง ก้านขึ้นฉ่าย ผักชี แครอท หัวผักกาด เกลือ และพริกไทย

ผลการศึกษานี้ สนับสนุนการใช้ซุปไก่รักษาอาการที่เกิดขึ้นจากหวัด สอดคล้องกับการใช้ซุปไก่เป็นยาแก้หวัดในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก โดยซุปไก่สามารถบรรเทาอาการคัดจมูกและป้องกันไม่ให้เกิดการไอซ้ำซ้อน แม้เจือจางซุปไก่ตุ๋นด้วยน้ำ 200 ส่วนก็ยังออกฤทธิ์ได้ นั่นเป็นเพราะว่าในไก่มีกรดอะมิโนตามธรรมชาติ ชื่อ ซีสเทอีน (Cysteine) ซึ่งจะละลายในน้ำเมื่อต้มน้ำซุป และซีสเทอีนนี้ มีสูตรโครงสร้างทางเคมีคล้ายคลึงกับยาขับเสมหะที่มีใช้กันอย่างกว้างขวาง คือ อะเซทีลซีสเทอีน (Acetylcysteine)

นอกจากกรดอะมิโนแอซิดดังกล่าวแล้ว ในซุปไก่ รวมทั้ง ต้มยำไก่ แกงไก่ ซึ่งอาจเรียกเป็นซุปไก่ของแต่ละชนชาติ ยังมีสมุนไพรที่ช่วยต้านหวัดร่วมอยู่อยู่อีกหลายชนิด เช่น

กระเทียม : สมุนไพรคู่ครัวไทย ที่ใช้รักษาหวัดมานานนับพันปี มีการศึกษาพบว่า การรับประทานกระเทียมสดสามารถป้องกันและลดระยะเวลาการเป็นหวัดได้ และมีรายงานการศึกษาวิจัยของญี่ปุ่นในการใช้กระเทียมดอง Aged Garlic Extact (AGE) โดยให้ AGE ทางปากหนูถีบจักร 10 วัน ก่อนให้เชื้อไข้หวัดใหญ่ทางจมูก พบว่า AGE มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และมีประสิทธิผลในการป้องกันหวัดได้ดีเท่ากับวัคซีน นอกจากนี้แล้วกระเทียมยังเป็นสมุนไพรที่บำรุงร่างกายได้ดีเยี่ยมอีกด้วย

หอมใหญ่ : คนไทยมีการใช้หอมในการรักษาหวัดมานานแล้ว และพบว่าทั้งหอมใหญ่ และหอมเล็กมีสารเคอร์ซิติน (Quercetin) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ ฤทธิ์เพิ่มภูมิคุ้มกัน ฤทธิ์ต้านฮิสตามีน ช่วยขยายหลอดลม และมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย

กะเพรา : เครื่องเทศที่คนไทยนิยมใช้ใบใส่ในแกงไก่ และเป็นสมุนไพรที่คนไทยและคนอินเดียนิยมแก้ไอ แก้หวัด แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีสรรพคุณช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง

พริกไทย : คนไทยใช้พริกไทยในการเป็นยาช่วยย่อย และยาแก้หวัดมานาน ในพริกไทยมีน้ำมันหอมระเหยที่ช่วยแก้หวัดได้ และได้ถูกนำใช้ไปเป็นส่วนผสมของน้ำมันที่ใช้สูดดมเพื่อให้โล่งจูมก

ตะไคร้ : คนไทยนิยมใส่ในต้มยำไก่ แกงไก่ เป็นสมุนไพรที่คนไทยและคนจีนโบราณใช้ในการรักษาหวัด หวัดใหญ่ แก้ไข้ แก้ปวดหัว มีฤทธิ์เพิ่มภูมิคุ้มกันได้ดีเยี่ยม ตะไคร้เหมาะสำหรับการบรรเทาอาการหวัด เพราะมีรสเผ็ดร้อน และมีน้ำมันหอมระเหย ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย นอกจากนี้ ยังช่วยทำให้ผ่อนคลาย อีกทั้ง การวิจัยในปัจจุบันยังสนับสนุนว่าสามารถต้านไวรัสไข้หวัดได้

ข่า : สมุนไพรรสร้อนที่เป็นส่วนผสมของเครื่องแกง ช่วยดับกลิ่นคาว ช่วยย่อย ช่วยปรับสมดุลให้ร่างกาย ทำให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยลดน้ำมูก ลดอาการอักเสบ และลดอาการอื่น ๆ อันเนื่องจากหวัด

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างของสมุนไพรทีมีประโยชน์ในการต้านหวัด ซึ่งเราสามารถสร้างตำรับอาหารได้เองตามใจชอบ โดยมีซุปไก่เป็นพื้นฐาน ถ้าเป็นไก่บ้านก็จะดีมาก เพราะเชื่อว่าปลอดภัยจากสาเคมี โดยตั้งตำรับให้เหมาะสมกับคนในแต่ละวัย และการรับประทานซุปไก่ควรรับประทานในขณะร้อนๆ จะช่วยให้อาการหวัดดีขึ้น

แต่อย่างไรก็ตามในการรักษาหรือป้องกันหวัดนั้น เป็นการฟื้นฟูความแข็งแรงของร่างกายโดยรวม ดังนั้น ในยามที่เกิดการระบาดของหวัด เราควรจะรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีสูงๆ เช่น ฝรั่ง มะขามป้อม มะนาว ส้มเขียวหวาน ดอกขี้เหล็ก ยอดมะยม อาหารต้านอนุมูลอิสระ เช่น แครอท พริกไทย ผักใบเขียว องุ่น รวมทั้ง การปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารโดยการรับประทานนมเปรี้ยว ข้าวหมาก ซึ่งอาหารเหล่านี้ จะช่วยกระตุ้นสารแกมมาอินเตอร์ฟีรอนหรือภูมิคุ้มกันในร่างกายให้สูงขึ้นได้ นอกจากนี้ การออกกำลังกาย การได้รับแสงแดดอย่างเหมาะสม การดื่มน้ำอย่างเพียงพอ การพักผ่อนที่เหมาะสม การปล่อยวางทางจิตใจ ก็เป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้เช่นกัน

*ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร
หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
โทร 037 211 289