'ชุมชนคิด-ท้องถิ่นสร้างขับเคลื่อน'พัฒนายั่งยืน'

'ชุมชนคิด-ท้องถิ่นสร้างขับเคลื่อน'พัฒนายั่งยืน'

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เสนอแนวคิดการจัดการสิ่งแวดล้อม ภายใต้ส่วนร่วมของท้องถิ่น'ชุมชนคิด-ท้องถิ่นสร้าง ขับเคลื่อน'พัฒนายั่งยืน'

นับตั้งแต่ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน ๑๘๔ ประเทศ ที่ร่วมลงนามในพันธกรณีระดับโลก "แผนแม่บทของโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน" หรือ “Agenda 21” โดยประกาศให้ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เป็นวาระแห่งชาติในปี ๒๕๔๖ และยึดเป็นแนวทางหลักเพื่อปรับกระบวนทัศน์ในการพัฒนาประเทศในแผนพัฒนาฉบับที่ ๘ เป็นต้นมา ซึ่งได้มีความพยายามของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ทั้งในระดับส่วนกลาง ภูมิภาค และระดับท้องถิ่น ในการแปลงแนวคิดดังกล่าวลงสู่การปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มุ่งมั่นบูรณาการแนวคิด “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เข้ากับภารกิจการดำเนินงาน คือ “การสร้างจิตสำนึก ความตระหนัก ให้ประชาชน มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตลอดจน เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสู่การบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยยึดหลัก”ประชาชนเป็นศูนย์กลางแห่งการพัฒนา” จึงได้ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมการบูรณาการดังกล่าว ในโครงการส่งเสริมพหุภาคีเพื่อการพัฒนาชุมชนน่าอยู่อย่างยั่งยืน ภายใต้แผนปฏิบัติการ ๒๑ ระดับท้องถิ่น (Local Agenda 21) โดยมีเป้าประสงค์ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถพึ่งพาตนเองได้ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชน ด้วยการ ๑) สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยใช้แผนปฏิบัติการท้องถิ่นน่าอยู่อย่างยั่งยืน( Loca Agenda 21)เป็นเครื่องมือ ๒) ขับเคลื่อนกิจกรรมตามแผนให้เป็นรูปธรรมโดยแกนนำชุมชนและมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นพี่เลี้ยง ๓) การถอดบทเรียนงานที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงพัฒนายกระดับการพัฒนาท้องถิ่น และ ๔) การเป็นแหล่งเรียนรู้ และขยายเครือข่ายสู่องค์กรปกครงอส่วนท้องถิ่นใกล้เคียง

ผลสำเร็จจากการขับเคลื่อนกิจกรรมโครงการดังกล่าว ตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ ทำให้เกิดชุมชนต้นแบบด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนในหลากหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น “เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน” ชุมชนต้นแบบด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมในบริบทของเมืองท่องเที่ยว โดยใช้แนวคิดการพัฒนาเชิงอนุรักษ์ ใช้ต้นทุนทางสังคม วัฒนธรรม ประเพณีที่มีความเข้มแข็ง คือ “สภาน้ำเมี่ยง” เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่นเดียวกับ เทศบาลนครเกาะสมุย ที่สามารถพลิกวิกฤตให้ด้านสิ่งแวดล้อมจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สู่ “สมุยสีเขียว” ด้วยการขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อมโดยเครือข่ายในระดับผู้ประกอบการโรงแรม เชื่อมโยงกับโรงเรียน สู่ชุมชน

นอกจากนี้ยังมีชุมชนต้นแบบที่ผสมผสานมิติทางเศรษฐกิจ สังคมเข้ามา เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมพร้อมการสร้างจิตสำนึกและกระตุ้นให้เกิดการรียนรู้เพื่อนำมาซึ่งการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเพื่อจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยชุมชนเอง กล่าวคือ เทศบาลเมืองหนองสำโรง จังหวัดอุดรธานี เทศบาลตำบลพังโคน จังหวัดสกลนคร และเทศบาลตำบลกำแพง จังหวัดสตูล เทศบาลตำบลสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีกลยุทธ์ในการดำเนินงานที่น่าสนใจแตกต่งกัน

ส่วนเทศบาลตำบลเขาพระงาม จังหวัดลพบุรี เทศบาลเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ รวมทั้งเทศบาลตำบลสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ชุมชนและท้องถิ่นมีความเข้มแข็งในการแปรเปลี่ยนความทุกข์จากปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม สู่รอยยิ้มรวมทั้งเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจชุมชน จากการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกชุมชน

และอีกหนึ่งตัวอย่างของชุมชนต้นแบบที่มีความลงตัวในการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น มาใช้ในการจัดการสิ่งแวดล้อมและเพื่อความอยู่ดีมีสุขของชุมชนตลอดจนต่อยอดสู่นวัตกรรมและกิจกรรมต่างๆที่เป็นรากฐานสู่ "ความยั่งยืน" ของชุมชน ได้แก่ เทศบาลตำบลนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี องค์การบริหารส่วนตำบลหัวดง จังหวัดพิจิตร และ เทศบาลตำบลเกาะคา จังหวัดลำปาง

ความตื่นตัวของชุมชนในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตนเองตามหลักการการมีส่วนร่วมของโครงการส่งเสริมพหุภาคีในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ภายใต้แผนปฏิบัติการ ๒๑ ระดับท้องถิ่น (Local Agenda 21) ได้สร้างสมดุลในการพัฒนาท้องถิ่น ตามเป้าหมายของ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ดัง เช่น ความสำเร็จของชุมชนที่ได้กล่าวในเบื้องต้นเหล่านี้ สามารถติดตามการดำเนินงานของชุมชนต้นแบบเหล่านี้ได้ในรายการโทรทัศน์ "ชุมชนนี้มีดีที่ยั่งยืน" ทางสถานี TNN2 (ทรูวิชั่นส์ 8) ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.30 -12.00 น. เริ่มออกอากาศตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป