เที่ยว-กินอาหารถิ่นเมืองละโว้ เมืองรองที่ต้อง “ลอง”

เที่ยว-กินอาหารถิ่นเมืองละโว้ เมืองรองที่ต้อง “ลอง”

ฝ่ายส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดโครงการ "เส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน (Gastronomy Tourism)" โดยจัดทริปเส้นทางนำร่อง พากินเที่ยวที่จังหวัดลพบุรี เมืองโบราณที่อยู่ในละครดัง “บุพเพสันนิวาส” แล้วออเจ้าจะช้าอยู่ไย...

 

        ทำไมต้องเป็นลพบุรี เจ้าภาพจัดงานบอกว่า “เส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน” จัด 5 จังหวัดนำร่อง คือ ลพบุรี ตราด ตาก สุรินทร์ และสตูล หลังจากสำรวจเส้นทางสายกินและค้นคว้าหาข้อมูลเรื่องอาหารถิ่นแล้วก็พบว่าจังหวัดเหล่านี้มีศักยภาพตรงตามแคมเปญ โดยคัดเลือกให้กระจายตัวทั่วทุกภูมิภาค และเป็น “เมืองรอง” คือไม่ใช่เมืองหลักตามเป้าหมายของนักท่องเที่ยวที่มักจะไปกันในช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาว (เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี) ปรากฏว่าเมืองรองในเมืองไทยมีถึง 55 จังหวัด ต้องชวนกันไปเที่ยวแล้วล่ะ ค่อย ๆ เก็บแต้มไปเรื่อย ๆ ...

20180509104259_IMG_1171

20180509_115023   20180509115624_IMG_1375       เมืองรองอย่าง “ลพบุรี” อาจกลายเป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวก็ได้ หากผลักดันดี ๆ โดยเฉพาะเมื่อกระแสออเจ้าฟีเวอร์ และเมืองละโว้ก็มีจุดเด่นด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นเมืองเก่า มีสถานที่สวยงามตามธรรมชาติ และมี “อาหารถิ่นในตำนาน” ที่ ททท.ชวนกิน อยากรู้ขึ้นมาพลันว่า อาหารในตำนานของชาวเมืองละโว้ เป็นอย่างไร

20180508164605_IMG_0674

          แต่ก่อนอื่นไปชมธรรมชาติที่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นเขื่อนดินกักเก็บน้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ก่อสร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี จากปี พ.ศ.2537 – 2542 ชาวบ้านเรียกกันว่า “เขื่อนของพ่อ” คณะทัวร์นั่งรถรางกินลมชมวิวเพลิน ๆ มีความยาวไป-กลับ 9,720 เมตร จากจังหวัดลพบุรีไปสระบุรี เพราะเขื่อนกินพื้นที่สองจังหวัด พร้อมกับฟังเจ้าหน้าที่บรรยาย ถนนเส้นนี้นักปั่นชอบมาออกกำลังแข้งกันบ่อย ๆ เสร็จแล้วไปถ่ายภาพกันบน รถไฟลอยน้ำ ขบวนรถไฟที่วิ่งบนสันเขื่อนลัดเลาะไปข้าง ๆ อ่างเก็บน้ำ จึงดูเหมือนว่ารถไฟวิ่งอยู่บนผิวน้ำ ช่วงปลายปี การรถไฟฯ จัดขบวนรถพิเศษวิ่งชมเขื่อน มีนักท่องเที่ยวสนใจไม่น้อย นับเป็น Unseen Thailand ไม่มีที่ไหนเหมือน...

20180508110518_IMG_9991

   20180508111049_IMG_0009         ไปต่อกันที่ ศูนย์การเรียนรู้บ้านดินมดแดง ทำกิจกรรม DIY ปั้นตุ๊กตาดินเผา ที่ศูนย์ฯ นี้วันเสาร์อาทิตย์คนเยอะ เด็ก ๆ ชอบมาปั้นตุ๊กตาดินเผา ปั้นโน่นปั้นนี่  เด็ก ๆ มาเล่นดนตรีไทย หัดฟ้อนรำ มีสินค้าที่ระลึก อาหาร และเวิร์คช็อปทำขนมไทยโบราณ เช่น ขนมจ่ามงกุฎ ขนมตาล ไหมฟ้า และทำไข่เค็มดินสอพอง สินค้าโอท็อปของลพบุรี สูตรพิเศษใช้ไข่เป็ดไล่ทุ่งเพราะมีเปลือกหนา พอกด้วยส่วนผสมดินสอพอง 2 ส่วน ดินมดแดง 1 ส่วน (ดินที่ใช้ทำเครื่องปั้นดินเผา) เกลือ 1 ส่วน พอกให้หนาพอดีแล้วเก็บไว้ เก็บ 8 วัน ทำไข่ดาวเค็ม เก็บ 22 วันเป็นไข่ดาวโอท็อป ชาวเมืองลิงนิยมเอาไปทำ “ไข่เค็มดินสอพองผัดพริกขิงปลาดุกฟู” คิดขึ้นมาแล้วก็หิวทันที

20180508135657_IMG_0246

  20180508141040_IMG_0292   ขนมจ่ามงกุฎ1re   ขนมจ่ามงกุฎ2re       ส่วน ขนมจ่ามงกุฎ ของแท้ต้องมาชมที่นี่ (และที่อุทยาน ร.2) เขาให้ลองกวนแป้งกับน้ำตาลที่ทั้งหนา เหนียว หนืด และหนัก เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์อธิบายว่า จ่ามงกุฎที่เห็นห่อใบตองเป็นชิ้นเล็ก ๆ คือของแท้ ที่คาดว่าน่าจะมีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 และหน้าตาก็ไม่มีสีทองหรือมีมงกุฎเลย คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่า ขนมดาราทอง หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ทองเอกกระจัง ว่าคือจ่ามงกุฎ ขนมจ่ามงกุฎตัวจริงทำจากแป้งข้าวเจ้ากับแป้งถั่วเขียวกวนกับกะทิและน้ำตาล กวนจนข้นหนืดเหนียวเหมือนกาละแมสีขาว แล้วตัดเป็นคำเล็ก ๆ วางเมล็ดแตงโมกะเทาะเปลือกหรือถั่วลิงสง ห่อในใบตองที่ตากแดดแล้วเพื่อให้มีกลิ่นหอม เวลารับประทานแล้วหนึบหนับมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ไม่หวานมาก เข้ากันดีกับน้ำสมุนไพรแนวไทย ๆ

20180508_171423

20180508_174332   20180508_172105       ตกเย็นไปตามหา “อาหารถิ่นในตำนาน” ที่ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จ.ลพบุรี หลังจากที่ชมประวัติความเป็นมาของ ชาวไทยเบิ้ง มาบ้างจาก พิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก เราก็ได้มารับประทาน อาหารพื้นบ้านไทยเบิ้ง อันเป็นอาหารถิ่นมีเฉพาะในจังหวัดลพบุรีเท่านั้น

          ชาวไทยเบิ้งคือชาวอีสานที่อพยพมาอยู่ที่เมืองละโว้ ตั้งแต่สมัยโบราณ นักวิชาการได้สืบค้นพบว่า ชาวไทยเบิ้งมาตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตะวันออกของลพบุรีมานานไม่ต่ำกว่า 260 ปี เป็นชุมชนเก่าแก่ ขุดพบหลักฐานซากหินทรายและศิลาแลงจำนวนมาก และมีวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน ตั้งแต่การนุ่งห่ม หัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น การทอผ้าขาวม้า ผ้าทอเป็นถุงย่าม งานจักสาน จนถึงวัฒนธรมอาหาร เรื่องราวและวิถีชีวิตของชาวไทยเบิ้ง จัดแสดงใน พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง

20180508_180429

          ส่วนสำรับอาหารของชาวไทยเบิ้งก็เหมือนคนไทยทั่วไปที่กินข้าวเป็นสำรับ กินข้าวเจ้าเป็นหลัก วัตถุดิบหลักคือพืชผักพื้นบ้านที่หาได้ในท้องถิ่นและตามฤดูกาล เช่น ฤดูแล้งกินผักลืมผัว ยอดซึก ฝักเพกา (ลิ้นฟ้า) ผักอีนูน ผักหวานป่า ไหลบอน ยอดขี้เหล็ก ฯลฯ พอถึงฤดูฝน ชาวไทยเบิ้งนิยมกินเปราะ ยอดฟักข้าว บอน บุก ฝักพร้า ดอกกระเจียว ยอดมะระขี้นก แคป่า ดอกแค เห็ดป่า ยอดหวาย ผักหนาม เป็นต้น อาหารโปรตีนเนื้อสัตว์มีหลากหลาย ตั้งแต่ปลา แย้ อึ่ง เขียด ปู กบ นก ไก่

20180508_180537

          เมนูแนะนำมีอาทิ แกงบอนใส่ปลาย่าง, แกงขี้เหล็ก, แกงไก่ใส่หน่อไม้ส้ม, แกงยอดสามสิบ, แกงมันนก, แกงอึ่งใส่แตงโมอ่อน, แกงหน่อไม้, แกงส้มดอกแค, แกงแย้ใส่เปราะ, แกงผักหวาน, แกงเห็ดขอน, แกงบุก, แกงผักหนาม, แกงมะรุม, แกงใบพริก, เลียงหัวปลี, ต้มไก่เครื่องดำ, ต้มอึ่ง, คั่วไอ้เอ็บ ฯลฯ น้ำพริกก็คล้ายคนอีสาน มีน้ำพริกปลาร้า น้ำพริกแมงดา ลาบปลาดุก ลาบมะเขือ ลาบนกคุ้มอืด พริกเกลือ เป็นต้น

ต้มกระดูกใบมะขามอ่อนเครื่องดำ ใส่ผักชีหูเสือre

   ปลาปิ้งพริกตะเกลือre         คุณน้าคุณป้าชาวไทยเบิ้งชวนชิมเมนูชื่อไม่คุ้น เช่น ปลาปิ้งพริกตะเกลือ (หรือพริกกะเกลือ) ส่วนผสมจากพริกแห้งคั่วกับมะกรูด กินกับปลานิลย่าง หรือปลาทอด คั่วหน่อไม้ส้มใส่หมู ลาบปลาเครื่องดำ แกงเปราะเหมือดบุกใส่ไก่บ้าน ต้มกระดูกหมูใบมะขามอ่อนเครื่องดำ จัดมาในสำรับดูน่ากินและหลากหลาย มีทั้งรสเผ็ด เค็ม เปรี้ยว ทุกคนเจริญอาหารเหมือนได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่ แถมยังได้กินผักสดพื้นบ้าน เช่น ใบเปราะ ผักสีชมพูใบม้วนเหมือนดอกไม้ และ “พริกตะเกลือ” เหมือนเครื่องจิ้มหรือน้ำพริกแบบแห้ง มีส่วนผสมของพริก เกลือ กระเทียม ใบมะกรูด ลูกกำจัด ตำปนกันให้ละเอียดใช้กินกับข้าว แล้ว ลูกกำจัด คืออะไร คุณลุงชาวไทยเบิ้ง พาไปดู “ต้นกำจัด” ที่หายากมาก และกว่าจะโตเก็บลูกมากินก็ต้องรอหลายปี ต้นไม้ที่มีลำต้นค่อนข้างผอมแต่มีหนาม สูงราวเมตรกว่า ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีก้านสีแดง ยอดอ่อนกินได้ ผลแก่ที่เรียกว่าลูกกำจัด ใช้ตำน้ำพริก ที่จริงใช้แต่เปลือกตำ ๆ โขลก ๆ เป็นเครื่องดำ คล้ายเม็ดหม่าล่าแต่ไม่เผ็ดร้อนเท่า  

ลาบปลาเครื่องดำre          ส่วน “เครื่องดำ” ประกอบด้วยพริกแห้ง ตะไคร้ ใบมะกรูด กระเทียม ข่า ลูกกำจัด โขลกเข้ากันแล้วนำไปคั่วให้หอมเกรียม ใช้ปรุงในอาหารต้มและลาบ ชาวไทยเบิ้งไม่นิยมกินแกงกะทิหรืออาหารทอด มีวิถีการกินแบบเรียบง่าย หลายเมนูคล้ายชาวอีสาน แต่กินอาหารที่ปรุงสุก และเน้นพืชผักที่มีตามฤดูกาล ในแกงประเภทต้มและน้ำพริกนิยมใส่น้ำมะกรูด ของหวานได้แก่ ขนมเบื้อง ขนมกระดักงา (ข้าวเหนียวตำใส่งาดำแล้วทำเป็นแผ่นเอาไปปิ้ง)

สำรับอาหารชาวไทยเบิ้งre         วัฒนธรรมอาหารของชาวไทยเบิ้งดูแข็งแรง เช่นเดียวกับประเพณีงานบุญที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ทัวร์สายกินจบแคมเปญ “Gastronomy Tourism” ที่อาหารพื้นบ้านของชาวไทยเบิ้ง อยากไปสัมผัสของจริงต้องจัดตารางเที่ยวและหาก๊วนกินไปกันหลาย ๆ คน เพราะเรื่องกินเรื่องใหญ่

          เที่ยวเมืองรองก็สนุก ตามหาอาหารถิ่นในตำนาน ที่เมืองละโว้ ลพบุรี...