เครียด อย่าคิดว่าไม่สำคัญ

เครียด อย่าคิดว่าไม่สำคัญ

ความเครียดเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานในการเอาชีวิตรอดที่ทุกคนต้องมีเพียงแต่ต้องมีในระดับที่พอดี ไม่มากเกินน้อยเกิน จึงจะทำให้ร่างกายและจิตใจตื่นตัว

ความเครียดเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานในการเอาชีวิตรอด ที่ทุกคนต้องมีเพียงแต่ต้องมีในระดับที่พอดี ไม่มากเกินน้อยเกิน จึงจะทำให้ร่างกายและจิตใจตื่นตัว

ภญ.วิชชุลดา ผรณเกียรติ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เมก้าไลฟ์ไซแอ็นซ์ พีทีวาย จำกัด อธิบายว่า ความเครียดที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง จะส่งผลต่อทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นผลให้ประสิทธิภาพการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันลดลง

ระดับความเครียดที่มากเกินไปจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจ โดยจะทำให้ใจสั่น ใจเต้นแรง ระบบทางเดินอาหารแปรปรวน ปวดหัว ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ อ่อนแรง ขณะที่การทำงานของระบบภายในต่างๆ จะมีการปรับตัว โดยเฉพาะต่อมหมวกไต ซึ่งจะมีการสร้างและหลั่งสารต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อความเครียดดังกล่าว หากเราอยู่ในภาวะเครียดนานๆ อาจนำไปสู่การเกิดภาวะพร่องวิตามินและสารอาหาร ส่งผลให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติ และอาจก่อให้เกิดโรคจากความเสื่อมของร่างกาย อาทิ ความดันโลหิต โรคหัวใจ เบาหวาน สมองเสื่อม โรคภูมิแพ้รวมถึงมะเร็ง

ส่วนผลทางจิตใจแสดงออกมาในรูปของอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย ขาดสมาธิ วิตกกังวล ขาดความมั่นใจและเศร้า ความเครียดยังส่งผลถึงพฤติกรรม อาทิ ประสิทธิภาพการทำงานลดลง มีพฤติกรรมทางลบเพิ่มขึ้น เช่น กินเหล้า สูบบุหรี่ เบื่ออาหารหรือกินจุกว่าปกติ ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างลดลง

ถึงเวลาจัดการความเครียดด้วยตัวเอง ภญ.วิชชุลดาแนะเรื่องของพฤติกรรมว่า ต้องมีสติ ให้ความสำคัญกับปัจจุบัน เรียนรู้ที่จะยอมรับความจริง และรู้จักผ่อนปรนให้ตัวเอง ไม่กดดันตัวเองจนเกินไป กล้าที่จะก้าวข้ามความกลัวต่างๆ ที่สำคัญคือ ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง

“การเลือกจัดการความเครียดด้วยตนเอง ปรับพฤติกรรมต่างๆ ถือเป็นความจำเป็นหลัก ก่อนที่จะพึ่งพาวิตามินหรืออาหารเสริม"

ทั้งนี้ ผู้ที่มีภาวะเครียดมีโอกาสพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้า แต่น้อยมากเพียง 3 ใน 1,000 คนเท่านั้น ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลเนื่องจากแต่ละคนความเครียดไม่เท่ากัน บางคนเครียดแล้วก้าวร้าว รุนแรง บางคนเครียดแล้วเงียบซึม ไม่พูดจา สิ่งสำคัญคือ การสังเกตตนเองหรือคนรอบข้าง ช่วยดูว่าพฤติกรรมเปลี่ยนไปหรือไม่ เริ่มเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่พูดคุยกับใคร ในขณะที่บางคนถึงขั้นที่เห็นโลกและสิ่งรอบตัวเป็นสีเทา ไร้สีสัน ต้องรีบพบจิตแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา

“คนไทยยังมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการไปปรึกษาจิตแพทย์ ทั้งที่จริงแล้ว เป็นเรื่องปกติและเป็นวิธีที่ดีในการบรรเทาความเครียดที่ตนเองเผชิญอยู่อย่างถูกวิธี” ภญ.วิชชุลดาชี้

** สารอาหารลดเครียด**

วิตามินบี ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการสร้างพลังงานจากสารอาหารให้กับสมองและระบบประสาทในขณะเครียด สมองต้องใช้พลังงานมากขึ้นทวีคูณ วิตามิน บี จึงถูกใช้หมดลงอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลให้สมองขาดพลังงานในการทำงาน ก่อให้เกิดความเครียดมากยิ่งขึ้น ในผู้ที่ขาดวิตามินบี ผู้อยู่ในภาวะเครียด จึงควรได้รับวิตามิน บี ปริมาณสูงเพียงพอเพื่อให้เปลี่ยนสารอาหารให้เป็นพลังงานแก่สมองได้ทันที

อาหารที่มีวิตามินบีสูงได้แก่ ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ธัญพืช นม ไข่แดง ผักสีเขียว และถั่วชนิดต่างๆ

น้ำมันปลา เป็นกรดไขมันในกลุ่มโอเมก้า-3 ซึ่งมีกรดไขมันจำเป็นอยู่ 2 ชนิดคือ EPA และ DHA มีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของสมอง โดยเฉพาะ DHA หากได้รับโอเมก้า-3 ไม่เพียงพอ จะทำให้มีอาหารซึมเศร้า ความจำและความสามารถในการเรียนรู้ลดลง ไอคิวต่ำ และอาจมีอาการทางจิต

การวิจัยยังชี้ว่า โอเมก้า-3 สามารถลดความเครียดลงและทำให้อารมณ์เย็นลงได้ สำหรับผู้ที่ต้องการบำรุงสมองเสริมความจำ เพื่อการทำงานของสมองและลดเครียด ควรได้รับน้ำมันปลาวันละ 1,000 มิลลิกรัม อาหารที่มีน้ำมันปลาสูง ได้แก่ ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรลและปลาทู

สารต้านอนุมูลอิสระ เป็นสารที่ป้องกันไม่ให้เกิดอนุมูลอิสระ ที่เป็นสารพิษต่อเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย โดยสารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยหยุดการก่อตัวใหม่ของอนุมูลอิสระ ช่วยซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระ รวมถึงเข้าไปแทนที่โมเลกุลที่ถูกทำลาย

มีงานวิจัยมากมายชี้ว่า สารต้านอนุมูลอิสระช่วยในการทำงานเกือบทุกระบบของร่างกาย และลดความเสี่ยงต่อโรคหลายชนิด รวมไปถึงช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลายช่วยลดความเครียดและความกังวล โดยมีสารอาหาร แร่ธาตุและวิตามินต่างๆ มากมายที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามิน อี วิตามิน ซี วิตามิน เอ สังกะสี แมกนีเซียม แมงกานีส และทริปโตฟาน ดังนั้น หากต้องการเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระสูง ควรเลือกรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืช พืชตระกูลถั่ว แป้งไม่ขัดสี เนื้อปลา และนม