'หูอื้อ แผลในปาก หน้าชา' สัญญาณมะเร็งศีรษะ-ลำคอ

'หูอื้อ แผลในปาก หน้าชา'
สัญญาณมะเร็งศีรษะ-ลำคอ

มีข้อมูลที่น่าสนใจคือ อัตราการเกิดของโรคมะเร็งศีรษะและลำคอเพิ่มขึ้นถึง 18% แพทย์ให้ความสนใจปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งชนิดนี้

อัตราการเกิดโรคมะเร็งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดูได้จากสถิติของโรคมะเร็ง ในประเทศไทยนั้น เราอาจทราบกันดีอยู่แล้วว่าในเพศชาย มะเร็งที่เป็นอันดับ1 ได้แก่ มะเร็งตับ และในเพศหญิง มะเร็งที่เป็นอันดับ 1 ได้แก่ มะเร็งเต้านม แต่มีข้อมูลที่น่าสนใจคือ อัตราการเกิดของโรคมะเร็งศีรษะและลำคอเพิ่มขึ้นถึง 18% ซึ่งทั่วโลกพบผู้ป่วยใหม่ของมะเร็งชนิดนี้ประมาณ 540,000 คนทั่วโลก และเสียชีวิตกว่า 271,000 คน

นพ.สมศักดิ์ หวานกิจเจริญ แพทย์ด้านหู คอ จมูก โรงพยาบาลวัฒโนสถ กล่าวว่า แพทย์ให้ความสนใจปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งชนิดนี้ และวิธีการที่ใช้ในการตรวจคัดกรอง รวมไปถึงเทคโนโลยีที่ใช้ในการรักษาให้มากขึ้น

มะเร็งของศีรษะและลำคอเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นลำดับต้นๆ พบได้ทั้งในเพศชายและหญิง โดยตำแหน่งที่อาจเกิดเป็นมะเร็ง ได้แก่ จมูก โพรงหลังจมูก โพรงอากาศไซนัส ช่องปาก (ริมฝีปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม เหงือก เพดานปาก กระดูกขากรรไกรล่าง) ทอนซิล ช่องลำคอ กล่องเสียง ต่อมธัยรอยด์ ต่อมน้ำลาย รวมทั้งต่อมน้ำเหลืองในบริเวณศีรษะและลำคอ

ตำแหน่งที่พบในลำดับต้นๆ ได้แก่ โพรงหลังจมูก พบในชายมากกว่าหญิง ไม่มีอาการเตือนในระยะต้นๆ กระทั่งอาการปรากฏคือ หูอื้อ เกิดจากภาวะน้ำคั่งในหูชั้นกลาง หรือพบก้อนเนื้อที่บริเวณคอ จากการที่มีมะเร็งกระจายมาที่ต่อมน้ำเหลือง มีอาการเสมหะปนเลือด หน้าชา มองเห็นภาพซ้อน ปัจจัยเสี่ยงคือ เชื้อชาติ พฤติกรรมการบริโภคอาหารบางชนิด เช่น ปลาเค็ม การติดเชื้อไวรัสอีบีวี

อันดับต่อมาคือ มะเร็งในช่องปาก พบในหญิงและชายใกล้เคียงกัน อาการของโรคจะพบแผลเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ อาจมีเลือดออกจากแผล ปวด พูดไม่ชัด สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญได้แก่ การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า การระคายเคืองเรื้อรัง เช่น การใช้ฟันปลอมที่ไม่พอดีทำให้เกิดการเสียดสีกับเยื่อบุภายในปาก

นอกจากนี้ยังพบว่า อาจมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งเป็นไวรัสตัวเดียวกับที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ทำให้พบมะเร็งในช่องปากในกลุ่มคนอายุน้อย

ตำแหน่งที่พบมากเป็นอันดับ 3 คือ มะเร็งกล่องเสียงและช่องลำคอ ที่มีปัจจัยเสี่ยงมาจากการสูบบุหรี่ โดยมีจะมีอาการเสียงเปลี่ยน เสียงแหบ ไอมีเสมหะปนเลือดและกลืนเจ็บ

การรักษามะเร็งศีรษะและลำคอมีหลายวิธีทั้งการผ่าตัด การฉายแสง และการทำเคมีบำบัด โดยอาจใช้การรักษาวิธีเดียว หรือใช้การรักษาหลายวิธีร่วมกัน ขึ้นอยู่กับระยะความรุนแรงของโรคที่พบและสภาวะโดยรวมของผู้ป่วย ขณะที่การรักษาด้วยการผ่าตัด นอกจากทำให้หายจากโรคมะเร็งแล้ว ยังมีความจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อซ่อมเสริมอวัยวะ เพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพด้วย

วิธีการตรวจหาระยะของโรคที่ดีที่สุดในปัจจุบันคือการทำ PET Scan ตรวจหาการกระจายของมะเร็งได้เกือบทั่วร่างกาย หากตรวจพบเร็วและรักษาได้ทัน มีโอกาสที่จะหายหรือใช้ชีวิตต่อไปอย่างมีคุณภาพที่ดี

ที่สำคัญ แพทย์ย้ำว่า การป้องกันเป็นสิ่งที่ดีที่สุด พร้อมแนะวิธีลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งของศีรษะและลำคอ คือเลิกและเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ พร้อมกันนี้ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณเหมาะสม เพื่อไม่ให้อ้วนหรือผอมจนเกินไป ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว รวมถึงดูแลรักษาช่องปากและฟัน บ้วนปากทุกครั้งหลังการบริโภค เพื่อรักษาความสะอาดและเพิ่มความชุ่มชื้นของช่องปาก

หรือแปรงฟันหลังอาหารอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ได้แก่ ตอนเช้าและก่อนเข้านอน ควบคุมโรคร่วมอื่นๆ ที่เกิดร่วม เช่น โรคเบาหวาน และ โรคความดันโลหิตสูง เพราะโรคต่างๆ เหล่านี้ สามารถเพิ่มโอกาสการเกิดโรค และความรุนแรงจากผลข้างเคียงของการรักษาวิธีต่างๆ ได้