ม.ร.ว. ศรีคำรุ้ง ยุคล โยงใยสายเลือด 'มายา'

ม.ร.ว. ศรีคำรุ้ง ยุคล โยงใยสายเลือด 'มายา'

คุณหญิงแมงมุม ชื่อที่คนในวงสังคมชั้นสูงเรียกขานเธอ และทุกคราเมื่อกล่าวถึง ก็มักจะมีคำพ่วงท้ายว่า "ธิดาของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล" ตามมา

คุณหญิงแมงมุม ชื่อที่คนในวงสังคมชั้นสูงเรียกขานเธอ และทุกคราเมื่อกล่าวถึง ก็มักจะมีคำพ่วงท้ายว่า "ธิดาของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล" ตามมาด้วยทุกครั้ง ถึงกระนั้นก็มิได้กดดันให้เธอต้อง "ดิ้นหนี" หากเป็นแรง "ผลักดัน" อันยิ่งใหญ่ให้เฉิดฉายอยู่เบื้องหลังวงการบันเทิงไทยอย่างองอาจ

มักจะมีคนปรามาสว่า เกิดมาในตระกูลสูงส่ง ย่อมมีโอกาสและความสุขล้น กว่าผู้ต่ำศักดิ์ แต่ทว่าชีวิตราชนิกูลก็มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป ม.ร.ว. ศรีคำรุ้ง ยุคล ก็เฉกเช่นเดียวกัน แม้ในวัยเยาว์ หญิงแมงมุมจะมีอิสระในการดำเนินชีวิตอย่างเสรี ซึ่งท่านพ่อ (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หรือท่านมุ้ย) และหม่อมแม่ (หม่อมกมลา ยุคล ณ อยุธยา) อนุญาตให้เธอเลือกเรียนและจัดการชีวิตด้วยตนเอง จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยบอนด์ (Bond University) ประเทศออสเตรเลีย และกำลังจะศึกษาต่อปริญญาโทอีกไม่นานนี้ ณ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University) หรือ ยูซีแอลเอ (UCLA) สถานศึกษาเดียวกับท่านพ่อ เสมือนหนึ่งเดินตามรอยบิดามาติดๆ

แต่เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา (2552) คุณหญิงแมงมุม ต้องเผชิญกับอาการป่วยด้วยโรค SLE (Erythematosus) หรือลูปัส (Lupus) โรคที่คนไทยมักเรียกว่า 'โรคพุ่มพวง' ทำให้เกิดภาวะบวมน้ำ รูปร่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้เธอต้องปลีกตัวออกจากแวดวงสังคมไปพักใหญ่ แต่ทว่าวันนี้คุณหญิงแมงมุมสามารถ "ยิ้ม" ให้กับชีวิตได้อีกครั้ง แม้จะต้องต่อสู้กับอาการข้างเคียงที่เกิดจากการรับประทานยาสเตียรอยด์อย่างยาวนาน พร้อมบทบาทใหม่ในฐานะ "แม่บ้าน" ภรรยาของพล.ต.พัชร รัตตกุล (ผู้พันดอลล่าร์) และมีกำลังกายใจเต็มเปี่ยมที่จะลุยงานที่เธอใฝ่ฝันไว้อย่าง "ผู้จัดภาพยนตร์โทรทัศน์" เรื่องผู้ชนะสิบทิศ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 (RS) และกำลังออนแอร์อยู่ในขณะนี้

กายใจ : สาเหตุที่คลุกคลีวงการนี้เพราะท่านพ่อหรือเปล่า

คุณหญิงแมงมุม : คงเป็นส่วนหนึ่งค่ะ ต้องบอกว่ามันบวกกัน ส่วนหนึ่งมันคือความผูกพัน เพราะแมงมุมโตมาในกองถ่าย คือตั้งแต่ยังเป็นเบบี๋เลย ออกจากบ้านก็คือกองถ่าย แล้วก็วิ่งเล่นอยู่ในกองถ่ายตลอด จนไปเมืองนอก เหมือนแมงมุมเห็นการทำงานของท่านพ่อมาตลอด ออฟฟิศเก่าก็เป็นส่วนหนึ่งของบ้าน เราตื่นลงมา ก่อนไปเรียน ก็จะเห็นพี่ๆในกองถ่าย ออกไปทำหนังบ้าง รีเสิร์ชบ้าง เพื่อนเล่นแมงมุมก็คือพี่ๆในกองถ่าย

อีกส่วนหนึ่งเป็นความชอบส่วนตัวด้วยค่ะ คือตอนแรกก่อนที่แมงมุมจะไปเรียนฟิล์มกับทีวี ก็ไม่ทราบหรอกว่าตัวเองชอบมันจริงหรือเปล่า เลยคิดว่าเป็นเพราะความผูกพัน แล้วตอนนั้นก็เด็กมาก ก็เลยได้แค่สัมผัส แต่ยังไม่ได้ลงมือทำ เพราะฉะนั้นเราก็จะรู้ได้ยากมากว่า เราอยากทำเพราะอะไร แต่พอได้ไปลงมือทำจริงๆ ได้ทำหนังสั้นเรื่องแรก ก็เลยรู้จริงๆว่าเราชอบ เราภูมิใจ พอเห็นผลงานนั้นฉายออกมา ก็รู้สึกผูกพันกับโปรเจคนั้น แล้วก็มีความสุขเวลาที่ได้ทำ

กายใจ : เล่าโปรเจคหนังสั้นเรื่องนั้นให้ฟังได้ไหม

คุณหญิงแมงมุม : อันนั้นเป็นเรื่องแรกนะคะ ก็เป็นวิชาแรกเลย พอเข้าไปถึงอาจารย์ก็บอกว่าเอา Topic (หัวข้อ) นี้ไปทำหนัง หัวข้อที่ว่านั้นก็คือ Transformation การเปลี่ยนรูป การเปลี่ยนแปลง แมงมุมก็ทำเป็น Simple เลย ทำง่ายๆ เป็น Abstract (นามธรรม) เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนๆหนึ่งที่เติบโตขึ้นมาแล้ว ก็ต้องละทิ้งความฝันบางอย่างไป อาจจะด้วยเหตุผลทางครอบครัว หรือด้วยสภาพแวดล้อมรอบข้าง แต่ว่าชีวิตของเราด้วยความเป็นจริงแล้วก็ต้องเดินต่อไป เพราะข้างหน้าเราอาจเจอสิ่งที่ดีกว่าก็ได้

ภาพที่เห็นก็จะเป็นสะพาน มีเด็กผู้ชายเดินไป แล้วก็จูงตุ๊กตาหมีในสภาพที่เก่ามาก แล้วพอเขาเดินไปเรื่อยๆ ตุ๊กตาหมีก็ค่อยๆ Fade หายไป ขณะที่เขาก็เศร้า ร้องไห้ แต่เขาก็ต้องเดินต่อไป ในเรื่องก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

มันเป็นโปรเจคแรกที่เราลงมือทำทุกอย่างเอง ตั้งแต่เขียนทรีเม้นต์ ทำสตอรี่บอร์ด กำกับเอง ถ่ายเอง เพราะมันเป็นโปรเจคเดี่ยว แต่ก็เป็นโชคดีที่แมงมุมได้เรียนรู้ทักษะต่างๆจากกองถ่าย และก็ชอบถ่ายภาพอยู่แล้ว การใช้กล้องเรามีทุนมากกว่าคนอื่น เราค่อนข้างจะรู้ว่าใช้อย่างไร สตอรี่บอร์ดต้องเขียนแบบไหน เพราะเราเห็นมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เราซึมซับโดยไม่รู้ตัว เหมือนคนที่มีคุณพ่อคุณแม่ทำงานร้านอาหาร คนๆนั้นก็จะรู้เทคนิคว่าทำอย่างนี้ถึงจะอร่อย มันก็เหมือนอย่างที่แมงมุมเป็นอยู่ค่ะ

กายใจ : แม้จะเป็นความผูกพันโดยอัตโนมัติ แล้วท่านพ่อสอนด้วยหรือไม่

คุณหญิงแมงมุม : ท่านพ่อไม่ได้สอนเลยค่ะ แต่ท่านจะชอบเล่าเรื่องมากกว่า ว่าการทำหนังเป็นอย่างไร จึงไม่ได้เป็นการสอน เพราะท่านไม่ได้คาดหวังว่าเมื่อเราโตแล้วจะต้องเป็นผู้กำกับ ทางบ้านแมงมุมไม่ได้บอกว่า ถ้าท่านพ่อกับหม่อมแม่ทำแล้วจะต้องทำตาม ท่านทั้งสองต้องการให้อิสระในการคิดตรงนั้นสำหรับลูกทั้งสองคน (น้องชาย คุณชายอดัม-ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล) ทุกอย่างที่พวกเราอยากเรียน ท่านพ่อก็จะสนับสนุนทุกอย่าง

แล้วที่หลายคนบอกว่าแมงมุมดูเป็นผู้หญิงมั่นใจ มุ่งมั่น จริงจังในการทำงานทุกอย่าง ต้องบอกว่าได้รับอิทธิพลมาจากทั้งท่านพ่อและหม่อมแม่เลยค่ะ แต่ที่เป็นอย่างนี้ อีกมุมหนึ่งก็ต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ด้วย เพราะเวลาอยู่กองถ่าย มันจะต้องลุยๆ อยู่ง่าย ต้องอยู่กับคนเยอะๆได้ เพราะกองถ่าย คนจะเยอะมาก อย่างกองถ่ายท่านพ่อมีเป็นร้อยชีวิต แล้วตอนนี้ที่แมงมุมต้องมาเป็นผู้จัดเรื่องผู้ชนะสิบทิศ มีคนที่ทำงานกับแมงมุมกว่า 70 คน เพราะคนเยอะ เราก็ต้องเป็นคนสบายๆหน่อย ไม่อย่างนั้นจะเข้ากับคนอื่นยากค่ะ

กายใจ : นอกจากท่านพ่อและหม่อมแม่แล้ว คุณหญิงมีต้นแบบในการทำงานไหม

คุณหญิงแมงมุม : โซเฟีย คาร์มินา คอปโปลา นักแสดง นักเขียนบท ผู้กำกับ และผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชาวอเมริกันค่ะ แมงมุมชอบผลงาน วิธีทำงาน และอุปนิสัยของเธอ ซึ่งโซเฟียมีความคล้ายคลึงกับเรามาก พ่อของเธอเป็นผู้กำกับ แล้วแมงมุมก็เคยเจอ รู้จักกัน แล้วก็มีอะไรหลายอย่างที่คล้ายๆกัน และด้วยความเป็นแฟมิลี่บิสซิเนส ก็จะบริหารงานแบบครอบครัวเหมือนกัน ตอนที่อยู่กองถ่าย โซเฟียจะเป็นคนที่รีเล็กซ์มาก สนุกสนาน คุยได้กับทุกคน เขาไม่เกร็ง แมงมุมก็เอาตรงนี้มาใช้ค่ะ

กายใจ : แต่ว่าคุณหญิงเคยอยู่ในแวดวงแฟชั่น แล้วต้องปรับตัวกับงานบันเทิงอย่างไร

คุณหญิงแมงมุม : มันเป็นอาร์ทฟอร์มเหมือนกัน ตอนที่ทำเสื้อผ้า ทำพีอาร์ เราทำแค่ไม่กี่คอลเลคชั่น แต่พอมาทำกระเป๋า เป็นแบรนด์ของเราเอง (Mangmoom) มันก็จะมีการคิดมากกว่า อยากออกแบบอะไรก็ได้ เพราะเราไม่มีพาร์ทเนอร์ แต่สำหรับงานผู้จัด เราต้องคำนึงถึงว่าผู้ชมอยากได้อะไร แล้วเราให้อะไรกับเขาได้บ้าง ไม่ใช่แค่ความสนุกอย่างเดียว แต่ต้องให้ข้อคิดกับเขาบ้างไหม หรือทำอย่างไรให้เขารู้สึกคุ้มจังเลย แล้วอยากดูเรื่องนี้ สนุกด้วยแล้วก็รู้สึกว่าอยากเปลี่ยนช่องมาดูภาพยนตร์โทรทัศน์ของเรา

แต่ก็ต้องยอมรับว่าทุกสาขาอาชีพต่างกัน แม้มันจะมีความคล้ายคลึงกันด้วยอาร์ท แต่ว่าเทคนิคต่างกัน อย่างตอนที่แมงมุมทำกระเป๋า เราต้องติดต่อกับซัพพลายเออร์โดยตรง ไม่มีดีไซเนอร์ เราทำทุกอย่างเองทั้งหมด แต่พอมาทำเรื่องนี้ เราต้องทำกับคนเยอะ ต้องทำทุกอย่างให้เป็นระบบแล้วก็ทำอย่างไรให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แล้วทุกคนมีความสุข สนุกและอยากมาทำงานกับเรา

เรื่องงานภาพยนตร์โทรทัศน์นั้น เราก็ได้ดึงความรู้จากที่เรียนมาเพื่อเป็นผู้จัด งานที่ทำตอนนี้ก็เหมือนผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ นั่นคือเราเอาประสบการณ์ทุกอย่างที่เรียนมาใช้ได้ทั้งหมดเลย

กายใจ : แล้วจุดเริ่มต้นของบทบาทงานใหม่นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

คุณหญิงแมงมุม : ต้องบอกว่าแมงมุมเดินเข้าไปขอทำเอง ซึ่งตอนนั้นก็บอกกับท่านพ่อและหม่อมแม่ว่า แมงมุมพร้อมแล้วล่ะที่จะเข้ามาทำงานตรงนี้ คำว่าพร้อมของแมงมุม มันมาจากข้างในตัวแมงมุมเอง ที่บอกว่าเราโตพอแล้ว เก็บประสบการณ์ด้านอื่นมาเพียงพอแล้ว จึงอยากสานต่อธุรกิจของที่บ้าน ก็เลยเข้าไปคุยกับท่านว่าจะทำโปรเจคใดดี ตอนนั้นก็รู้สึกตื่นเต้น เราอยากทำ มันเป็นงานชิ้นใหม่ น่าจะสนุก คิดว่าเป็นโปรเจคที่น่าสนใจ

อาจมีคำถามว่าทำงานแนวเดียวกับท่านพ่อหรือเปล่า มันไม่ใช่เลยนะคะ เพราะงานท่านพ่อเป็นประวัติศาสตร์ แต่อันนี้เป็นบทประพันธ์ แล้วรูปแบบการทำงานก็ต่างกัน งานท่านพ่อเป็นภาพยนตร์ แต่งานของเราเป็นละคร แล้วแมงมุมว่าคงไม่มีการเปรียบเทียบหรอก เพราะว่าท่านพ่อทำภาพยนตร์มา 40 กว่าปี แต่เรื่องนี้เป็นโปรเจคแรกของแมงมุม แล้วก็ทำงานกันคนละหน้าที่ ท่านพ่อเป็นผู้กำกับ ส่วนแมงมุมเป็นผู้จัด ทำงานเหมือนพี่เลี้ยงค่ะ ต้องดูแลทุกอย่าง ตั้งแต่จะเอาเรื่องไหน แคสติ้ง จะเอาใครมาเล่น ทีมงานคือใคร ทำบัญชี ทำตารางคิว โพสต์โปรดักชั่นเป็นอย่างไร พีอาร์ไปถึงไหน เรียกว่าทำไปจนจบค่ะ เราทำตั้งแต่ต้นจนฉายเสร็จ จบ ไม่มีอะไรต่อแล้วนั่นแหละ

กายใจ : ในขณะที่งานของเราเป็นพี่เลี้ยง แล้วเราต้องมี "พี่เลี้ยง" ด้วยไหมคะ

คุณหญิงแมงมุม : พี่เลี้ยงของแมงมุมก็คือท่านพ่อกับหม่อมแม่ค่ะ และพี่ๆในกองถ่ายเป็นที่ปรึกษาทั้งหมด เพราะพี่ๆทีมงานส่วนใหญ่ก็รู้จักแมงมุมตั้งแต่เด็ก ทำงานกับที่บ้านมานานตั้งแต่ก่อนสุริโยไท แมงมุมก็จะฟังพี่ๆแนะนำและพี่ๆทุกคนประสบการณ์มากกว่าแมงมุมอยู่แล้ว

อย่างหม่อมแม่ก็จะสอนวิธีการบริหารคน ต้องวางตัวอย่างไร หรือพี่เจี๊ยบ ผู้จัดการกองถ่าย ก็จะคอยบอก "น้องหญิงคะ ใจเย็นนะคะ" พวกเขาจะสอนวิธีการทำงานร่วมกันค่ะ เพราะตัวแมงมุมเองจะเป็นคนตรง หน้าดุ เสียงดุ ถ้าคนที่ไม่สนิทกับเรา เขาก็จะกลัว แต่พอเราเข้าไปในกองถ่าย 3-4 วัน ทุกคนก็จะรู้แล้วว่าแมงมุมเป็นคนใจดีเหมือนกันนะ (หัวเราะ) อย่างไรก็ตามแมงมุมทำงานค่อนข้างเป็นระบบค่ะ ถ้าทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองแล้วทุกอย่างมันก็จะราบรื่น งานมันก็จะง่ายขึ้น

ขณะเดียวกันแมงมุมก็จะเคารพทุกคน ยิ่งคนที่โตกว่า เหมือนเขาเลี้ยงแมงมุมมา เราไม่ใช่หัวหน้าเขา เพราะอย่างไรเราก็เป็นเด็กในสายตาของเขา เขายังดุแมงมุมได้ เราจะมั่นใจตัวเองมากไม่ได้ เพราะเราไม่เคยทำงานตรงนี้มาก่อน แต่เราต้องมั่นใจในทีมของเรามากกว่า

กายใจ : เล่าถึงการทำงานวันแรกในฐานะผู้จัดให้ฟังหน่อยค่ะ

คุณหญิงแมงมุม : ทำงานวันแรกไม่สนุกหรอกค่ะ (หัวเราะ) เพราะมีแต่การประชุม เตรียมงานมากกว่า แต่ว่าไปลงกองถ่ายวันแรกก็จะไม่สนุกเท่าวันที่เราทุกคนรู้จักกันแล้ว สำหรับนักแสดงนะคะ เหมือนทุกคนก็แปลกหน้ากันหมด พอไม่สนิททุกคนก็จะเกร็งๆ พอไปสักคิวที่ 10 จะเริ่มซนกันแบบสุดๆ ก็จะเล่นกันมาก แล้วพี่ๆที่กองถ่ายก็จะแอบมาบ่นแบบไม่ซีเรียสนะคะว่า ไม่น่าสนิทกันเลยพวกนี้ แต่พอสนิทกันเร็วก็ส่งผลดีทำให้ทำงานเร็วขึ้นค่ะ ส่วนนักแสดงรุ่นใหญ่ พวกเขาก็จะเห็นแมงมุมมาตั้งแต่เด็กๆ การทำงานก็จะง่ายมาก คล้ายกับครอบครัว คือทุกคนอยากมาทำงาน และด้วยความที่เราไปถ่ายทำต่างจังหวัด เราต้องนอนค้างคืน ถ่ายทำเสร็จก็ไปกินข้าวกัน ไม่ใช่เป็นแค่การไปทำงานอย่างเดียว

ส่วนความยุ่งยากที่เราอาจต้องเจอก็พวกช้าง ม้า ที่เราคอนโทรลมันยากนิดหนึ่ง หรือคิวบู๊ คือแมงมุมก็จะเป็นห่วงน้องๆนักแสดง จะกลัวเขาตกม้า ก็อาจจะมีอุบัติเหตุบ้างนิดหน่อย ซึ่งเราก็เซฟตี้มากที่สุดแล้ว มีครูอยู่ตลอด แล้วก็ได้เรียนมาแล้ว เราก็วางใจระดับหนึ่งได้เลย จริงๆแมงมุมก็ไม่ต้องเข้าไปดูทุกครั้งที่ถ่าย เพราะอาจมีประชุมที่ออฟฟิศ หรือทำงานที่ต้องอยู่ในเมือง แต่ก็จะโทรถามไถ่ว่าการทำงานเป็นอย่างไร ใครมาสาย ใครงอแง (หัวเราะ) แต่เราก็จะมีคนที่ดูแล อย่างผู้จัดการกองถ่ายค่ะ

ในขณะเดียวกันเราต้องเชื่อมั่นร้อยเปอร์เซ็นต์เลย ทั้งทีมงานและนักแสดง กรณีรุ่นใหญ่ เป็นมืออาชีพกันอยู่แล้ว แต่น้องๆดาราใหม่ พวกเขาพิสูจน์ให้เราเห็นว่าตั้งใจ ไม่ว่าจะร้อน จะเหนื่อย ทำงานหนัก พอต้องเข้าฉากปุ๊บ บทเป๊ะ ยิ่งนักแสดงใหม่ ก็ทำให้เราเห็นพัฒนาการของเขาได้อย่างชัดเจน พอเราเห็น footage ปุ๊บเราวางใจแล้ว ว่าทุกคนทำได้ เรียกว่าเรื่องนี้ แมงมุมแทบไม่ต้องไปกองถ่ายเลยก็ได้ เพราะทุกคนเก่งมากอยู่แล้ว แต่ถึงแม้เราจะไว้ใจ ไม่ต้องไปก็ได้ แต่เราก็ต้องไปอำนวยความสะดวกเขา ให้ทุกคนทำงานได้อย่างสบายใจ แล้วก็สะดวกสบายมากขึ้น

กายใจ : เหตุใดจึงเลือกเรื่องนี้มานำเสนอ แล้วอยากให้ผู้ชมเสพอะไร

คุณหญิงแมงมุม : เพราะเราอยากทำอะไรที่แตกต่าง อยากให้ผู้ชมมีทัศนคติใหม่ เห็นเซ็ตเทอร์ไลซ์ทีวีในอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่จำเป็นต้อง Low Budget หรือโปรเจคเล็กๆ แต่เราสามารถทำได้เท่าฟรีทีวี แมงมุมอยากให้สื่อ แทนที่จะสะท้อนสังคม อยากให้มีโปรเจคที่เป็นตัวอย่างสังคมมากกว่า มันไม่จำเป็นต้องสะท้อนแล้วล่ะ เพราะคนเริ่มรู้แล้วว่าสังคมเราเป็นอย่างไร แต่ควรจะทำอย่างไรให้สื่อว่าเป็นตัวอย่างที่ดี เด็กดูแล้วทำตามได้ ได้ข้อคิดกลับไป และเป็นคนที่ดีต่อสังคม เราควรสร้างงานที่เป็น Positive บ้าง

อย่างเรื่องผู้ชนะสิบทิศ เราทำแบบโปรดักชั่นหนัง แต่ถ่าย 3 กล้องแบบละคร และอยากทำในแบบของเราให้ดีที่สุด ซึ่งหวังว่าคนดูจะได้ข้อคิดเกี่ยวกับความสามัคคี รักชาติ จริงอยู่ที่เราถ่ายเรื่องเกี่ยวกับพม่า แต่เราอยากสื่อให้ลึกกว่านั้นว่า ไม่ได้จำกัดที่ประเทศ แต่เราอยากให้เห็นลักษณะของคนในชาติ ว่าเขารักชาติและสามัคคีกันอย่างไร เราควรเอาตรงนั้นมา Link กันในปัจจุบันนี้ แล้วก็อยากให้ผู้ชมเห็นถึงความตั้งใจทำงานของทีมงาน ความพิถีพิถัน และผลักดันให้เกิดงานอย่างนี้มากขึ้นๆ ทั้งหมดก็เพื่อประโยชน์ของคนดูค่ะ