หล่อฮั่งก๊วย รสหวานที่ไม่ใช่น้ำตาล

ผลหล่อฮั่งก๊วยดิบ ขนาดประมาณส้มเขียวหวาน มีรสขมเล็กน้อย รับประทานได้ ชาวจีนรู้จักใช้หล่อฮั่งก๊วยมานานกว่าพันปีแล้ว
เยาวราช ย่านคนจีนที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ ตอนเรียนมัธยม รถเมล์โดยสารที่ผมยืนหรือโหน (ไม่กล้าพูดว่านั่ง) มาจากบ้านฝั่งธนฯ เพื่อไปโรงเรียนแถวพญาไท ต้องผ่านย่านนี้ ภาพที่เห็นจนชินตา คือร้านขายของกินที่มีป้ายเขียนเป็นภาษาไทยว่า รังนก คู่กับภาษาจีนที่ผมอ่านไม่ออก แถมด้วยรูปนกบินอีก 2-3 ตัวคล้ายกับที่เด็กเขียนในรูปวิวชั่วโมงวาดเขียน ที่มักมีคู่กับรังนก คือเครื่องดื่มที่ชื่อ จับเลี้ยงและ หล่อฮั่งก๊วย ตั้งเด่นอยู่ในหม้อต้มหน้าร้าน ทั้งสามอย่างนี้หน้าตาเป็นอย่างไร รสชาติเป็นอย่างไร ผมไม่รู้เลยในตอนนั้น
หลายปีผ่านไป จึงได้รับรู้ว่า รังนก เป็นน้ำลายของนกนางแอ่น นำมาต้มกับน้ำตาลกรวด ทำเป็นของหวาน มีราคาค่อนข้างแพง รสชาติก็รสของน้ำตาลกรวดนั่นแหละ แต่เชื่อกันว่า กินแล้วดี บำรุงร่างกาย ส่วนจับเลี้ยงและหล่อฮั่งก๊วย เป็นเครื่องดื่มสมุนไพร ราคาไม่แพง จับเลี้ยงมีเครื่องเครามาก ถ้าจะต้มดื่มเองต้องไปให้ร้านขายเครื่องยาจีนจัดให้
ส่วนหล่อฮั่งก๊วยนั้น เป็นชื่อผลไม้จากเมืองจีน ที่ใช้ต้มเป็นเครื่องดื่มได้เพียงอย่างเดียว ให้รสหวาน ชุ่มคอ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ของพืชแห้ง นิยมดื่มทั้งแบบร้อนและแบบเย็น
พืชที่ให้ผลหล่อฮั่งก๊วย เป็นไม้เลื้อย มีมือเกาะ อยู่ในวงศ์เดียวกับแตง บวบ หรือมะระ ใบรูปหัวใจขนาดราวฝ่ามือเด็ก ผลที่มีผิวเรียบมัน มีขนาดประมาณส้มเขียวหวาน ผลอ่อนมีสีเขียว ภายในมีเมล็ดรูปยาวรีจำนวนมาก ชาวจีนรู้จักใช้หล่อฮั่งก๊วยมานานกว่าพันปีแล้ว
คำว่า หล่อฮั่ง เท่ากับคำ อรหันต์ ในภาษาไทย และคำว่า ก๊วย แปลว่า ผล ชื่อหล่อฮั่งก๊วย จึงมีความหมายว่า ผลอรหันต์ กล่าวกันว่า ที่เรียกกันเช่นนี้ เพราะมีการนำมาใช้โดยพระในพุทธศาสนาแถบกุ้ยหลิน สมัยราชวงศ์ถังมาก่อน ปัจจุบันผลไม้ชื่อแปลกนี้สามารถเพาะปลูกได้ดี จำกัดเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศจีน เช่น กวางตุ้ง กวางสี กุ้ยโจว หูหนาน เจียงซีหนาน และ ไหหลำ
ผลหล่อฮั่งก๊วยดิบ มีรสขมเล็กน้อย รับประทานได้ แต่เก็บรักษายาก นิยมนำผลที่ยังไม่แก่จัด มาอบจนแห้งสนิท สังเกตได้จากการที่มีน้ำหนักเบาและผิวเปลือกเป็นสีขี้ม้าปนน้ำตาล สมัยก่อน ผลหล่อฮั่งก๊วยแห้งนี้ มีขายเฉพาะในร้านขายเครื่องยาจีนเท่านั้น ปัจจุบันสามารถหาซื้อได้ในแผนกเครื่องเทศของห้างสรรพสินค้าขายส่งชื่อดัง ในราคาผลละไม่ถึง 10 บาท
เชื่อกันว่า น้ำต้มหล่อฮั่งก๊วย มีสรรพคุณรักษา หวัด ปอดบวม เจ็บคอ แต่ที่แน่ๆ ก็คือน้ำต้มนี้มีรสหวานโดยไม่ต้องเติมน้ำตาลใดๆ ความหวานจากหล่อฮั่งก๊วย มาจากสารให้รสหวานที่ไม่ใช่น้ำตาล แต่มีความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึง 300 เท่า สารนี้ไม่แปรเปลี่ยนเป็นพลังงาน ไม่สะสมเป็นไขมัน และไม่เป็นพิษต่อหลอดเลือดและเนื้อเยื่อ ดังนั้น จึงใช้เป็นรสหวานแทนน้ำตาลในคนที่มีภาวะอ้วนและผู้ที่เป็นเบาหวาน ได้อย่างปลอดภัย
การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยังค้นพบว่า สารสกัดจากหล่อฮั่งก๊วยมีฤทธิ์ ต้านเซลล์มะเร็ง ระงับการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระ ปัจจุบันมีผู้ทำสารสกัดนี้ออกจำหน่ายในรูปสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ใช้ได้ง่าย เพียงนำมาผสมอาหารหรือชงน้ำดื่ม และยังนำมาใช้ปรุงแต่งรสในชาสมุนไพรได้อีกหลายชนิด
น้ำต้มหล่อฮั่งก๊วย ทำดื่มเองไม่ยาก เพียงนำผลแห้งสัก 2 ผล บีบด้วยมือพอให้เปลือกแห้งที่บางๆ นั้นแตก ใส่ในหม้อสำหรับต้ม เติมน้ำดื่ม 2-3 ขวด ต้มจนเดือดแล้วหรี่ไฟ เคี่ยวต่ออีกราว 5 นาทีก็ใช้ได้ เมื่อดื่มน้ำหมด สามารถเติมน้ำต้มใหม่ได้อีก 2-3 ครั้ง หรือจนกว่าน้ำต้มจืด เนื่องจากสารให้ความหวานในผลหล่อฮั่งก๊วยนี้ทนต่อความร้อน ดังนั้น การต้มนานๆ จึงไม่มีผลต่อรสชาติแต่อย่างใด
ความหวานจากอ้อย จากน้ำตาล เป็นความหวานที่ร่างกายใช้เป็นพลังงานได้ และอาจให้โทษแก่ร่างกายได้ด้วย แต่ความหวานจากหล่อฮั่งก๊วย ไม่เปลี่ยนเป็นพลังงาน เพียงให้รสหวานพอชุ่มลิ้นผู้ต้องเว้นน้ำตาล อาจถือได้ว่า เป็นรสหวานที่ว่างเปล่า มีคุณหรือไม่มีคุณอย่างไร คนเป็นผู้เลือกใช้
คำพูดคำจาในสังคมก็เช่นกัน มีไม่น้อยเป็นคำหวานที่ว่างเปล่า ผู้ฟังที่มีสติ พึงเลือกรับฟังให้เหมาะกับจริตของตนเถิด
โดย ไชยยง รุจจนเวท ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรและผู้เขียนคอลัมน์ร้อยไม้พันยา