ตำรับเพิ่ม 'นมแม่'
คุณแม่อยากให้นมบุตร แต่ "น้ำนม" ไม่พอหรือไหลออกมาน้อย ต้องใช้ "ตัวช่วย" ผักผลไม้สมุนไพรไทยกระตุ้น "เลือดในอก" ให้ลูกดื่มกิน
คุณแม่อยากให้นมบุตร แต่ "น้ำนม" ไม่พอหรือไหลออกมาน้อย ต้องใช้ "ตัวช่วย" ผักผลไม้สมุนไพรไทยกระตุ้น "เลือดในอก" ให้ลูกดื่มกิน
ความเข้าใจผิดๆที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตั้งแต่ไม่แน่ใจว่าน้ำนมของตนจะมีคุณภาพเพียงพอหรือไม่ หรือกลัวเต้านมจะเสียทรงบ้าง กับความยุ่งยากในการตระเตรียมตัวเองและข้อสงสัยในปริมาณน้ำนมที่น้อยเกินไปหรือเปล่า คราวนี้สิ้นกังวลกันเสียที เมื่อเราได้เคล็ดลับจากหมอชาวบ้านและโรงพยาบาลนมแม่ (โรงพยาบาลลำพูน) พวกเขาใช้พื้นที่เล็กๆ ปลูกพืชพันธุ์นานาชนิดไว้รวมกัน พวกมันล้วนใช้ "กระตุ้นน้ำนม" และ "เสริมสร้างพลัง" ร่างกายของคุณแม่ให้แข็งแรงอย่างมีคุณภาพ
เรามาแยกประเภทกันก่อน เริ่มจากกลุ่ม "เครื่องเทศสมุนไพรไทย" รสจัดจ้าน อย่าง ขิง เต็มไปด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน แคลเซียม วิตามินเอ บี1 และ บี2 ช่วยขับลม ย่อยไขมันได้ดี ลดอาการอาเจียน ลดการบีบตัวของลำไส้ บรรเทาอาการปวดท้องเกร็ง ขับเหงื่อ เพิ่มการไหลเวียนเลือด ทำให้น้ำนมไหลได้ดี และเชื่อว่าขิงที่คุณแม่กินเข้าไปผ่านทางน้ำนมไปสู่ลูก ทำให้ลูกไม่ปวดท้อง ส่วนเมนูแนะนำ ได้แก่ ไก่ผัดขิง, มันหรือถั่วเขียวต้มน้ำขิง, ไข่หวานน้ำขิงต้มอุ่นๆ
ใบกะเพรา มีธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส เส้นใยอาหารสูง และ ใบแมงลัก จะเพิ่มวิตามินบี และวิตามินซีสูงพ่วงมาด้วยนั้น พวกมันช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ส่งผลให้คุณแม่มีน้ำนมมากขึ้น แถมยังแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ หวัด คลื่นไส้ อาเจียน ช่วยทำให้อารมณ์ดีขึ้น ยิ่งถ้าเด็กได้รับจากนมแม่ ก็จะช่วยลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อในเด็กด้วย
เหตุผลที่คุณแม่ควรกินอาหารหรือสมุนไพรที่มีรสร้อน ก็เพื่อไปเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ทำให้อวัยวะต่างๆ ทำงานได้ดีขึ้น รวมถึงการหลั่งของน้ำนมเพิ่มขึ้นด้วย แถมยังช่วยให้ผู้หญิงที่คลอดบุตรใหม่ๆ ซึ่งร่างกายจะมีภาวะเย็นนั้นเกิดภาวะสมดุลตามทฤษฎีการแพทย์ตะวันออก อีกทั้งการใส่สมุนไพรที่มีรสร้อนลงไปในเมนูอาหารสำหรับคุณแม่ ยังช่วยให้ร่างกายของแม่ย่อยและดูดซึมอาหารได้มากขึ้น จึงมีผลทำให้มีการเพิ่มของปริมาณน้ำนมได้นั่นเอง
ตามด้วย "ผักสัญชาติไทย" เข้ามาเป็นกำลังเสริมสมุนไพรให้มี "วังชา" มากขึ้น อันดับหนึ่งยกให้ หัวปลี อุดมไปด้วยแคลเซียมมากกว่ากล้วยสุกถึง 4 เท่า รวมทั้งโปรตีน ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส วิตามินซี เบต้าแคโรทีน สามารถแก้โรคกระเพาะอาหาร ลำไส้ บำรุงเลือด และยังมีความเชื่อกันมาตั้งแต่โบราณว่ากินหัวปลีมากจะมีน้ำนมไว้เลี้ยงลูกได้นานๆ โดยอาหารแนะนำ เช่น แกงเลียงหัวปลี, ยำหัวปลี, ทอดมันหัวปลี
ต่อด้วยผลไม้แสนธรรมดา อย่างมะละกอ กินได้ดีทั้งดิบและสุก มันมีธาตุเหล็กและแคลเซียมสูง รวมทั้งฟอสฟอรัส วิตามินเอ บี ซี และมีเอนไซม์ที่ช่วยสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย รวมถึงมีเส้นใยอาหารในปริมาณมาก จึงช่วยขับน้ำนม บำรุงเลือด บำรุงกระดูก สายตา ป้องกันโรคลักปิดลักเปิด เช่นเดียวกับตำลึง ที่เพิ่มสรรพคุณช่วยบำรุงผม บำรุงประสาทเข้ามาด้วย แต่ถ้าอยากกินอิ่ม ขอแนะนำ เมล็ดขนุนต้ม ซึ่งมีคุณประโยชน์ไม่ต่างกัน แต่เน้นอิ่มนาน
แต่ที่อยากร้องโอ้โหเรียกเสียงฮือฮา ก็ต้อง ฟักทอง ผักพันธุ์หัวสีเหลืองแสนจะเบสิก ที่นอกจากจะช่วยขับน้ำนมแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างคอลลาเจนใต้ผิวหนัง ทำให้ผิวพรรณสดใส และอาจจะช่วยให้หน้าท้องลายน้อยลงด้วย รวมถึงอีกหนึ่งซูเปอร์ฟู้ด อย่าง มะรุม ที่มีวิตามินซีสูงกว่าส้ม 7 เท่า แคลเซียมสูงกว่านม 4 เท่า วิตามินเอสูงกว่าแครอต 4 เท่า โพแทสเซียมสูงกว่ากล้วย 3 เท่า และโปรตีนสูงกว่านม 2 เท่าซึ่งให้ผลดีต่อลูกน้อยด้วย หากคุณแม่กินทั้งใบและดอกมะรุมเป็นประจำ ก็สามารถรักษาโรคขาดสารอาหารในเด็กแรกเกิดถึง 10 ขวบผ่านทางน้ำนมแม่ได้ แถมยังมีแคลเซียมช่วยเสริมกระดูกทั้งแม่และลูกเช่นกัน
ทั้งนี้ มีสิ่งที่น่าสนใจและออกจะน่าประหลาดใจสักหน่อยสำหรับคุณแม่คนเมือง ก็คือกลุ่ม "ไม้ใบ" อย่าง ผักโขมหนาม นิยมนำมาย่างไฟเพื่อช่วยขับน้ำนม กับ มะขาม ต้มกิ่งหรือต้นมะขาม ดื่มขณะอุ่นแทนน้ำ ให้รสหวานปะแล่มๆ ควบคู่กับต้มอาบก็จะช่วยเพิ่มน้ำนมได้ดี และสำหรับคนเมืองเหนือและอีสานอาจจะคุ้นหูกับ ต้นนมสาว หรือนมนาง ตำรับยาสมุนไพรพื้นบ้านที่จะใช้ลำต้นหรือกิ่ง หรือราก แล้วผ่าเป็นชิ้นมาต้มให้กินเพิ่มขนาดเต้านมและปริมาณน้ำนมได้ชะงัดนักเชียว
เมื่อแนะนำแหล่งอาหารอุดมประโยชน์แล้ว คราวนี้มาดูกลุ่มอาหารไร้โภชนาการกันบ้าง นั่นแปลว่าคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป ไม่ว่าจะเป็นอาหารบรรจุเสร็จ ขนมอบ เบเกอรี เนื่องจากมีสัดส่วนของไขมันชนิดทรานส์ (Trans-fatty acid) ในปริมาณค่อนข้างสูง และอาจมีผลทำให้เอนไซม์ของร่างกายทำงานได้ลดลง รวมทั้งไปรบกวนการสร้างไขมันที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารกด้วย
แต่ก็ใช่ว่าจะขยาดไขมันไปเลย เพราะไขมันจำเป็น (Essential fatty acids) ที่คุณแม่รับประทานเข้าไปนั้นจะช่วยเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพของน้ำนมแม่ ซึ่งไขมันชนิดจำเป็นแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ โอเมก้า 6 มีมากในนมสดชนิดไม่พร่องมันเนย ไข่ เนื้อสัตว์ น้ำมันงา น้ำมันดอกทานตะวัน ถั่ว และธัญพืช ควรกินอยู่ที่ 4 ส่วน และอีก ส่วน คือ โอเมก้า 3 เช่น ผักใบเขียว น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดป่าน น้ำมันตับปลา ไข่เกษตรอินทรีย์ และปลา
คงหาเหตุผลหรือข้ออ้างไม่ให้ "นมแม่" ได้ยากแล้ว เมื่อพบว่า พืชผักสมุนไพรนานา คือแหล่งอาหารเพิ่มปริมาณน้ำนมได้