ลมขึ้นหายใจไม่ออก
อาจารย์นัทแห่งดิ อโรคยา ยกเคสผู้ป่วยหญิงคนหนึ่งที่มีอาการวิตกกังวลสูง แขนขาสั่น หายใจไม่ออก และแนวทางรักษาตามศาสตร์แพทย์แผนไทย
อาจารย์นัทแห่งคลินิก ดิ อโรคยา ยกเคสผู้ป่วยหญิงคนหนึ่งที่มีอาการวิตกกังวลสูง หายใจไม่ออก รู้สึกเหมือนเกือบจะตาย อธิบายที่มาที่ไปของโรคและแนวทางรักษาตามศาสตร์แพทย์แผนไทย ด้วยเทคนิคง่ายๆ
อาการป่วยมักจะมาเวลาที่เราไม่ได้ตั้งตัวอยู่เสมอ สิ่งที่ทำได้ก็คือต้องเตรียมตัวรับมือให้ดี หากเป็นแล้วก็ควรหาสาเหตุของโรคให้เจอ มิเช่นนั้นจะตกอยู่กับความไม่รู้ตลอดชีวิต คนไข้ท่านหนึ่งชื่อ สุรีย์ มาพบหมอด้วยความกระวนกระวายใจ เข้าขั้นคิดมากจนเป็นโรควิตกกังวล กลัวว่าตัวเองจะตายในเร็ววัน แววตาหม่นหมอง มือสั่นขาไม่อยู่นิ่งตลอดเวลา เพราะช่วงหลังเธอหายใจไม่ออกบ่อยๆ ตื่นเต้นวิตกกังวลทีไร ก็หายใจไม่ออก รู้สึกเหมือนเกือบจะตายหลายครั้งใน 1 เดือนที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้เธอไม่เคยจะเป็นอะไร กระฉับกระเฉงแข็งแรงดี จะมีโรคประจำตัวอยู่บ้างก็คือ โรคลมในท้องและลมในตัวมาก เรอบ่อยๆ อายุ 50 ปี ดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ไม่ทานอาหารที่ไม่ดี เนื้อสัตว์ก็ไม่ค่อยได้ทาน คุยกันได้สักพักเธอถามผมว่าพอมีเวลาไหม เพราะอยากเล่าความในใจว่าเธอเกิดเหตุอะไรขึ้นบ้าง วันนั้นคนไข้ไม่เยอะมาก จึงบอกว่าอยากฟังเช่นกันว่าคนที่เคยแข็งแรงกลายเป็นคนหมดแรงหมดกำลังใจอย่างนี้ได้อย่างไร
เธอเล่าว่า "วันหนึ่งขับรถอยู่บนทางด่วน เป็นช่วงกลางวันรถจึงติดเป็นปกติ แต่วันนี้สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ อยู่ดีๆ ก็เริ่มขาแข็ง นิ้วเท้าข้อเท้าขยับลำบาก มือสั่น ปากสั่นและหายใจเข้าไม่ได้หายใจออกก็ไม่สะดวก รู้สึกได้ว่าเหมือนกำลังขาดอากาศหายใจ ยังดีที่ตั้งสติได้ทันรีบเปิดกระจกทั้งสองข้าง ขอความช่วยเหลือรถข้างๆ ส่งสัญญาณว่าตัวเองกำลังหายใจไม่ออก รถข้างๆ ก็รีบโยนยาดมส่งให้ เอามาทาจมูก ทาหน้าอก ทาขมับ ทั่วไปหมด เมื่อได้สติจึงทิ้งรถไว้ข้างทาง กระโดด เต้นอยู่ข้างถนนไม่สนสายตาใครเพราะกลัวจะสลบไป รีบโทรบอก จส.100 ว่าอยากไปโรงพยาบาลด่วนจี๋ มีตำรวจจราจรใจดีพาไปโรงพยาบาลใกล้ๆ"
ครั้งนั้นเธอรู้สึกดีที่รอดมาได้ แต่ความรู้สึกภายในเปลี่ยนไปมาก เพราะปัจจุบันเธอไม่สามารถขับรถคนเดียวได้อีก ทุกครั้งที่รถติดหรือขึ้นทางด่วนก็จะเริ่มมีอาการมือสั่น ขาสั่น หายใจไม่ออก รู้สึกเหมือนกำลังจะตายอีกจนต้องรีบตระเวนไปตรวจสุขภาพว่าเป็นอะไรกันแน่ หมอจากโรงพยาบาลสองแห่งให้ความเห็นตรงกันว่า คุณสุรีย์แข็งแรงดี ไม่มีความผิดปกติใดๆ แต่ไม่ใช่คำตอบที่เธอต้องการ เพราะเธอรู้สึกว่าต้องมีโรคอะไรอยู่แน่ๆ สร้างความกังวลใจให้เธออยู่ทุกครั้งเวลาอยู่คนเดียว จนทำให้นอนไม่หลับกลัวจะหายใจไม่ออกจนตายไปง่ายๆ
ล่าสุด หมอที่โรงพยาบาลลงความเห็นว่าเป็นโรคแพนิค (Panic Disorder) เพราะคุณสุรีย์จะมีอาการหนักเมื่อเกิดความวิตกกังวล ต้องทานยาลดความเครียดและยานอนหลับ มีผลให้เธอมีอาการวิงเวียนและง่วงนอนตลอด อาการเดิมลดลงแต่กลายเป็นคนซึมๆ ไม่อยากพูดกับใคร ไม่อยากไปไหน
อันที่จริงโรคที่เธอเป็นก็เป็นโรคทั่วไปคือ มีลมในร่างกายและลมในลำไส้อยู่มากเกินไปนั่นเอง เมื่อใดที่เกิดความเครียดขึ้นหรืออยู่ในที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ลมจะตีขึ้นจนลำไส้เบียดดันกับกะบังลมและปอดทำให้รู้สึกหายใจไม่ออก
วิธีแก้ไขที่ควรจะทำก็คือ ทานยาหอมยาลม เอาน้ำมันหอมระเหย พิมเสน การบูรหรือเปปเปอร์มิ้นต์ มาทาที่ขมับหน้าอกและจมูก เพื่อขยายหลอดลม ขยายหลอดเลือดให้มีความรู้สึกหายใจโล่งขึ้น มิเช่นนั้นออกซิเจนในสมองจะน้อยลงจนควบคุมร่างกายตัวเองไม่ได้รู้สึกเหมือนจะเป็นลม บางท่านรู้สึกบ้านหมุน หลายท่านก็พูดเหมือนคุณสุรีย์ว่ารู้สึกเหมือนกำลังจะขาดใจตาย
ใครที่มีปัญหากับอาการอย่างนี้ มีลมในร่างกายมาก แน่นหน้าอกหายใจไม่ออกบ่อยๆ ควรขับลมออกจากร่างกายอยู่สม่ำเสมอเช่น ทานยาหอมขับลมในระหว่างวันเป็นประจำ 3-4 ครั้ง ทานยาธรณีสัณฑะฆาตขับลมในลำไส้เวลาที่มีลมมากหรือผายลมบ่อยๆ ลดการทานอาหารที่สร้างลมมากเช่น ของทอด เนื้อสัตว์ และอีกสาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อยๆ ก็คือการทำลายไฟในกระเพาะอาหาร เช่น ดื่มน้ำมากเวลาทานข้าว ชอบน้ำเย็น เดี๋ยวนี้เห็นเขาฮิตน้ำคลอโรฟิลล์ น้ำด่าง ทานได้ครับแต่ไม่ทานมากเกินไป
ที่ฮิตไม่เลิกจนเห็นได้บ่อยในครอบครัวที่มีคนสูงอายุคือ ข้าวต้ม โจ๊ก เป็นอาหารเช้าทุกวัน เพราะกลัวว่าผู้สูงอายุจะอาหารไม่ย่อย กระเพาะอาหารของเราจะทำงานมากขึ้น หากเราได้เคี้ยวอาหาร เป็นการส่งสัญญาณว่าจะมีอาหารลงไปแล้วนะ หากมัวแต่ไปทานข้าวต้มหรือโจ๊กเป็นอาหารเช้าทุกวัน กระเพาะอาหารเราจะอ่อนแรงลงไปเพราะไม่ได้ฝึกซ้อมสร้างกล้ามเนื้อเลย เหมือนคนที่ไม่เคยออกกำลังกาย หัวใจและปอดจึงไม่แข็งแรง
กระเพาะอาหารเช่นเดียวกันหากเราทานแต่อาหารที่ไม่ต้องเคี้ยวไม่ต้องย่อยมากเกินความจำเป็น จะทำให้กระเพาะอาหารอ่อนแรง ย่อยอาหารได้ไม่ดีจนหลงเหลืออาหารในลำไส้มากเกินไป มีแก๊สจุกแน่นหายใจไม่ออกและมีกลิ่นปากอยู่บ่อยๆ ดังนั้น อาหารเช้าควรทานข้าวกล้อง กับข้าวหรือก๋วยเตี๋ยว ถ้ากลัวอาหารไม่ย่อยให้ลดปริมาณอาหารลงครับ
*คุณนัท (ณัฐพล วาสิกดิลก) บ.ภ.(โบราณเภสัช) บ.ว.(โบราณเวชกรรม) แพทย์แผนไทยประจำ ดิ อโรคยา คลินิกการแพทย์แผนไทย ให้การรักษาและบำบัดโรคโดยใช้หลักการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนจีนและอายุรเวทเป็นรากฐาน โทรศัพท์ 0 2358 0050