ผ่าตัดแผลเล็กรักษาโรคกระดูกสันหลัง

สถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ เลือกใช้เทคนิคผ่าตัดแผลเล็กสำหรับรักษาโรคกระดูกสันหลัง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย
สถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพเผย 5 ปีแห่งความสำเร็จของการเลือกใช้เทคนิคผ่าตัดแผลเล็กสำหรับรักษาโรคกระดูกสันหลัง ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา สู่การสร้างเครือข่ายของการรักษากระดูกสันหลัง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย
นายแพทย์พุทธิพร เธียรประสิทธิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า สถานการณ์ของโรคกระดูกสันหลังในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มสูงขึ้น แม้จะไม่มีการเก็บสถิติไว้อย่างชัดเจน ด้วยวิถีชีวิตของคนโดยเฉพาะวัยทำงานที่ต้องนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ รวมถึงการเคลื่อนไหวที่ไม่ถูกต้อง
สถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ เราเลือกสรรวิธีที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย พร้อมให้การรักษาผู้ป่วยแบบองค์รวม คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่ผู้ป่วยจะได้รับ ซึ่งเป็นการรักษาที่ได้มาตรฐานตามหลักสากล จนได้รับรองมาตรฐานการรักษาเฉพาะทางด้านโรคปวดหลังจาก JCI สหรัฐอเมริกา ทำงานร่วมกันเป็นทีมภายใต้ทีมแพทย์สหสาขา อันได้แก่
ประสาทศัลยแพทย์ แพทย์ศัลยกรรมกระดูก แพทย์ประสาทวิทยา จิตแพทย์ วิสัญญีแพทย์ แพทย์ เวชศาสตร์ ฟื้นฟู พยาบาลวิชาชีพ และเจ้าหน้าที่เทคนิค ที่จะร่วมกันให้การดูแลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางด้านกระดูกสันหลัง อย่างเป็นระบบ เครื่องมือที่ทันสมัย อาทิ Microscope, Minimal access surgeries, O-ARM and Navigation, Intraopertative monitoring (IOM) เครื่องมือติดตามการทำงานของระบบประสาทขณะผ่าตัดเพื่อให้เกิดประสิทธิผล และประสิทธิภาพของการรักษา
“สิ่งสำคัญคือ การป้องกันและรักษากระดูกสันหลังของคนไทย โดยโรงพยาบาลกรุงเทพเองจะเข้ามามีบทบาทผ่านการสร้างเครือข่ายของโรงพยาบาลในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ร่วมกับโรงพยาบาลพันธมิตร ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคนิคการรักษาแบบใหม่ และเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ เพิ่มคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น” ผู้อำนวยการอาวุโส สถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพเผย
นายแพทย์ทายาท บูรณกาล ผู้อำนวยการสถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ กล่าวว่า ครบรอบ 5 ปีสถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ เริ่มเปิดทำการมาตั้งแต่ พศ. 2552 โดยทำการรักษาผู้ป่วยอย่างครบครัน พร้อมทั้งเป็นสถานที่ฝึกอบรมดูงานของแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะแพทย์จากภูมิภาคเอเชีย ได้แวะเวียนมาเพื่อศึกษาการผ่าตัดด้วยวิธีที่ทันสมัย จนได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำในการผ่าตัดด้านแผลเล็ก อาทิเช่น การผ่าตัดแบบ OLIF โอ-ลิฟ หรือ การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังข้างลำตัวแบบแผลเล็ก (Olique lumbar Interbody Fusion)
หนึ่งในเทคนิคที่ทางสถาบันได้นำมาใช้ในการรักษาโรคทางกระดูกสันหลัง คือ การผ่าตัดแผลเล็กข้างลำตัว DLIF (Direct Lateral Interbody Fusion) หรือ OLIF (Olique Lumbar Interbody Fusion) เป็นการผ่าตัดวิธีใหม่เสริมหมอนรองกระดูกสันหลังข้างลำตัวแบบแผลเล็ก โดยไม่จำเป็นต้องผ่าเลาะกล้ามเนื้อหลัง ด้วยการใส่อุปกรณ์หนุนหมอนรองกระดูกแทนที่หมอนรองกระดูกที่เป็นปัญหาเดิม ทำให้กระดูกสันหลังข้อนั้นแข็งแรงขึ้น รับน้ำหนักร่างกายได้ดีขึ้น การปวดหลังจึงลดลง ซึ่งปัจจุบันได้ปรับปรุงวิธีการให้ดีขึ้น และเปลี่ยนชื่อจาก DLIF เป็น OLIF เน้นการผ่าตัดแผลเล็ก กล้ามเนื้อบอบช้ำน้อย เสียเลือดน้อย (เฉลี่ย 50 ซีซี.) ให้ผลสำเร็จในการเชื่อมข้อมากกว่าการผ่าตัดแบบทั่วไป ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว ลดปัญหาปวดหลังเรื้อรังและภาวะพังผืดเกาะเส้นประสาท และที่สำคัญคือ มีโรคแทรกซ้อนต่ำ ปัจจุบันสถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ ได้รักษาผู้ป่วยด้วยวิธีนี้มากกว่า 150 ราย ได้ผลสำเร็จอยู่ในระดับดีมาก
ในขณะที่เทคนิคการผ่าตัดแบบ Anterior Lumbar Interbody Fusion (ALIF) นายแพทย์สาริจฉ์ ศรีสุภาพ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ อธิบายว่า ALIF เป็นการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง โดยที่แผลผ่าตัดอยู่ด้านหน้าท้อง เป็นวิธีผ่าตัดที่ทำมานาน มีประสิทธิภาพและให้ผลการรักษาที่ดีมาก โดยเฉพาะการผ่าตัดที่เรียกว่า Minimal Invasive ALIF ซึ่งมีข้อดี คือ เป็นการผ่าตัดที่ทำลาย หรือ รบกวน กล้ามเนื้อน้อยมาก ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวหลังผ่าตัดอย่างรวดเร็ว ผลข้างเคียงน้อย (โดยที่ในปัจจุบันมีวัสดุที่ใส่ในช่องหมอนรองกระดูก และยึดให้มั่นคง
ที่ในผู้ป่วยจำนวนมากไม่จำเป็นต้องผ่าตัดยึดโลหะจากด้านหลัง) แต่การผ่าตัดดังกล่าวมีโอกาสเกิดการฉีกขาดของเส้นเลือด ซึ่งผู้ป่วยอาจมีผลแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้ ดังนั้นศัลยแพทย์กระดูกสันหลัง และศัลยแพทย์ด้านหลอดเลือด จะร่วมกันผ่าตัด Minimal Invasive ALIF เพื่อลดอัตราเสี่ยงดังกล่าวลง ทางสถาบันได้รับความร่วมมือจากศัลยแพทย์กระดูกสันหลัง และศัลยแพทย์ด้านหลอดเลือด (ที่ผ่านการฝึกอบรม spine access surgery) ในการเข้าทำผ่าตัดร่วมกัน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อผู้ป่วย ลดระยะเวลาการผ่าตัด ลดอัตราการเสียเลือด ผู้ป่วยจะฟื้นตัวเร็วขึ้น ตลอดจน ทำให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจถึงมาตรฐานการรักษาที่ดี
“จุดประสงค์ของการผ่าตัดนี้ คือการรักษาเสถียรภาพของกระดูกสันหลังและบรรเทาอาการปวดขาหรือหลัง อาการเหน็บชา อ่อนเพลียหรือการทรงตัวที่ผิดปกติจากความดันในเส้นประสาท”
นอกจากวิธีข้างต้นแล้ว ทางสถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ ใช้ BMP (Bone Morphogenetic Protein) ในการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง คือ โปรตีนสังเคราะห์ที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างกระดูก (rhBMP-2) เริ่มทดลองใช้ในการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังตั้งแต่ ปลายปี 2001 ต่อมามีการผลิตและใช้อย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบันโดยเฉพาะในการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ในสหรัฐอเมริกา FDA ระบุถึงข้อบ่งชี้ ให้ใช้ในการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอวทางด้านหน้า (Anterior Lumbar Interbody Fusion) โดยร่วมกับ Interbody device
ข้อดี คือ มีประสิทธิภาพในการเชื่อมข้อสูงมาก ใช้ระยะเวลาสั้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกถึงความปวดที่ลดลงเมื่อกระดูกเชื่อมสมบูรณ์เร็วขึ้น และเทคนิคนี้ไม่จำเป็นต้องตัดกระดูกของผู้ป่วยเองเพื่อใช้เชื่อมข้อกระดูกสันหลัง ดังนั้นจะเกิดประโยชน์สูงสุด และผลข้างเคียงน้อยที่สุด คือ การใช้ตามข้อบ่งชี้ที่ระบุให้ใช้ในการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังทางด้านหน้า และให้อยู่ใน Interbody device แต่ผลข้างเคียงของ BMP อาจทำให้เกิดการอักเสบในเนื้อเยื่อรอบกระดูกสันหลัง (ไม่แนะนำให้ใช้ในการเชื่อมกระดูกคอทางด้านหน้า) และ อาจทำให้เกิดกระดูกงอกในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งอาจจะไปกดทับเส้นประสาทหรืออวัยวะอื่นได้
แพทย์หญิงนันท์ชญาน์ ฉายะโอภาส แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู กล่าวว่า รูปแบบการกายภาพบำบัดเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังมีทั้งแบบสำหรับผู้ป่วยไม่ต้องผ่าตัด และต้องผ่าตัด ซึ่งแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูจะเป็นผู้กำหนดวิธีการกายภาพให้เหมาะสมกับคนไข้แต่ละราย จุดเด่นของวิธีรักษาด้วยการทำกายภาพระยะสั้น คือ สามารถบรรเทาการเจ็บปวด ลดการใช้ยา ให้ความรู้การจัดท่าทางของแผ่นหลังและการออกกำลังกายอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันการเกิดโรคในแต่ละบุคคล และกายภาพระยะยาว คือ ดูแลตัวเองได้ถูกต้อง ออกกำลังให้ถูกกับตัวโรค และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ต้องผ่าตัด จะใช้วิธีกายภาพด้วยเครื่องมือต่างๆ อาทิ การประคบร้อน กระตุ้นไฟฟ้า ฝังเข็ม ธาราบำบัด ฯลฯ เพื่อการลดปวด และควรหาสาเหตุ เฝ้าระวังป้องกันโรคก่อนที่จะรุนแรงขึ้น เช่น สังเกตพฤติกรรมออกกำลังกายผิดวิธี คงค้างอยู่ในท่าที่ผิดลักษณะเป็นเวลานานๆ ฯลฯ เพื่อหาวิธีการแก้ไขด้วยการให้ความรู้ในแนวทางที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการเกิดโรคในแต่ละบุคคล
แต่สำหรับผู้ป่วยที่ต้องรับการผ่าตัด แพทย์ต้องดูแลความพร้อมของผู้ป่วยก่อนการผ่าตัดและหลังจากผ่าตัด เพื่อลดอาการแทรกซ้อน ฟื้นฟูสุขภาพให้ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านแล้วดูแลตนเองได้อย่างถูกวิธี โดยเฉพาะส่วนหลังและสุขภาพองค์รวมไปถึงหัวใจและปอดให้แข็งแรง พร้อมทั้งเรียนรู้การออกกำลังกาย เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ เช่น มีโรคประจำตัวต่างๆ ที่มีความเสี่ยงสูง แพทย์ต้องดูแลประคับประคอง เพื่อลดโอกาสเกิดการดำเนินโรคที่รุนแรงมากขึ้น รวมไปถึงฟื้นฟูทั้งสภาพร่างกายและจิตใจให้ได้สูงสุดเท่าที่สภาพร่างกายอำนวย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
ในขณะเดียวกันอีกโรคที่น่าจับตามองคือ โรคเนื้องอก หรือมะเร็งบริเวณกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโรคที่ปัจจุบันเราสามารถรักษาได้ นายแพทย์ยอดรัก ประเสริฐ ศัลยแพทย์ระบบประสาทและกระดูกสันหลัง อธิบายว่า มะเร็งเป็นโรคที่เกิดจากการเพิ่มจำนวนของเซลล์ที่ผิดปกติของอวัยวะในส่วนต่างๆ มีโอกาสแพร่กระจายได้ถึง 70% และในจำนวนนี้ มีโอกาสที่จะแพร่กระจายมายังกระดูกสันหลังถึง 40% แม้ว่าอาจเกิดอาการเพียง 10-20% แต่ผู้ป่วยเหล่านั้นจะต้องทุกข์ทรมานจากอาการปวดและอาการอ่อนแรง บางรายอาจเป็นอัมพาตได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว การวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็วจะมีโอกาสช่วยผู้ป่วยได้มากทั้งในการลดอาการปวดและลดความพิการจากอาการกดทับของไขสันหลัง
“วิธีการรักษามะเร็งแพร่กระจายมากระดูกสันหลังในปัจจุบันมีพัฒนาการไปมากทั้งวิธีการผ่าตัดและอุปกรณ์สำหรับใส่เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก ตลอดจนการรักษาเสริมภายหลังจากการผ่าตัด ทั้งการฉายรังสีและเคมีบำบัด”
สถาบันกระดูกสันหลังกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ มีความพร้อมในการให้การรักษาผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลัง รวมถึงเนื้องอกของกระดูกสันหลังทุกชนิด ทุกขั้นระยะของโรค ตั้งแต่การวินิจฉัยไปจนการรักษาซึ่งจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างดีระหว่างทีมแพทย์ ซึ่งประกอบด้วยประสาทศัลยแพทย์ ศัลยแพทย์กระดูกสันหลัง แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง แพทย์รังสีรักษา และวิสัญญีแพทย์ เพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ โทร. 1719 ตลอด 24 ชั่วโมง