ตะขอนวดตัว
ตะขอนวดตัววิไล ภูมิปัญญาไทยฝีมือ นักวิจัย คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ตะขอนวดตัววิไล ภูมิปัญญาไทยฝีมือ นักวิจัย คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ดร.วิชัย อึงพินิจพงศ์ นักวิจัยด้านกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า แนวคิดของการสร้างอุปกรณ์ชนิดนี้มาจากการพยายามช่วยเหลือผู้ที่มีอาการปวดเมื่อยหลังและคอให้สามารถดูแลรักษาตนเองได้ด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัดและการนวดไทย เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่ารักษา โดยใช้หลักการออกแบบทางชีวกลศาสตร์ คือควบคุมทิศทางและค้นหาจุดปวดได้ง่าย โดยได้ทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างพบว่าให้ผลดีในการลดปวดและเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อหลัง เทียบเท่ากับการกดนวดด้วยมือ
“การมาโรงพยาบาลแต่ละครั้งมันเป็นปัญหาอุปสรรคจึงคิดว่าทำอย่างไรผู้ป่วยจึงจะช่วยเหลือตัวเองได้ในเบื้องต้น จึงเป็นโจทย์สำหรับเราว่า ถ้าเขาสามารถนวดตัวเองได้ สอนจุดนวดต่างๆ และสร้างอุปกรณ์นวดขึ้นมา เขาสามารถเอาไปใช้ดูแลแลตัวเองได้ สำหรับคนที่อยู่ไกลมาก จากประสบการณ์การเป็นหมอพบว่า ผู้ป่วยมาไกล กว่าจะมารักษา แต่ละครั้งก็ลำบาก และสิ้นเปลืองงบประมาณ ฉะนั้น ตะขอนี้จะช่วยได้มากทีเดียวลดปัญหาที่จะดูแลตัวเองได้ในระดับหนึ่ง” ดร.วิชัย กล่าว
จากการวิจัยพบว่าประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะในชนบท มีปัญหาปวดเมื่อยกล้ามเนื้อกว่าร้อยละ 70 ซึ่งเกิดจากการทำงานในชีวิตประจำวัน เช่น ทำไร่ นา และรับจ้างเป็นกรรมกร และจากการสำรวจพฤติกรรมการรักษาพบว่าทางออกของผู้ป่วยส่วนใหญ่คือการพึ่งยาชุดและยาแก้ปวดเมื่อยต่างๆ ซึ่งมักเป็นยาที่มีฤทธิ์ข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ อาทิ ระคายกระเพาะอาหารและลำไส้ ท้องผูก ภูมิคุ้มกันลดลง และไตวาย ไม่เฉพาะผู้ป่วยในชนบทเท่านั้น แต่อุปกรณ์นี้ยังสามารถใช้ได้กับพนักงานออฟฟิศ ผู้ป่วยโรคออฟฟิศซินโดรมได้อีกด้วย ตะขอนวดตัววิไลจึงถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการบรรเทาปัญหาปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เหมาะกับทั้งในแบบชีวิตของคนเมือง และชนบท
ดร.วิชัย ยังกล่าวต่ออีกว่า ตะขอนวดตัววิไล เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเพื่อบำบัด และสามารถรักษาให้หายขาดจากโรคได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ซึ่งเป็นปัจจัยหลัก เช่น การทำงานหนักต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน และผิดท่า ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เลือกอาชีพไม่ได้ แต่ควรเลือกวิธีผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกๆ 1 หรือ 2 ชั่วโมง เมื่อปัจจัยที่เป็นต้นเหตุถูกกำจัดออกไป โรคภัยจะหายขาดในที่สุด
ตะขอนวดตัววิไล ถูกออกแบบให้เป็นรูปวอแหวน (ว.) เพื่อให้ใช้งานง่าย โดยตั้งชื่อว่า " วิไล " เนื่องจากอุปกรณ์มีลักษณะคล้าย วอแวน ทั้งนี้โอกาสจะเกิดอันตรายจากการใช้อุปกรณ์มีน้อยมากเนื่องจากผู้ป่วยสามารถเลือกลงน้ำหนักนวดเฉพาะจุดได้ด้วยตนเอง การนวดตนเองจึงเป็นการนวดที่สามารถผ่อนแรงหนักเบาได้ตามความต้องการ และมีคู่มือประกอบการใช้งาน ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่เว็บไซด์ http://36ams.kku.ac.th