ปล่อยตัว'นพ.วิสุทธิ์'หลังเข้าเกณฑ์พักลงโทษ

ปล่อยตัว'นพ.วิสุทธิ์'หลังเข้าเกณฑ์พักลงโทษ

ปล่อยตัว "นพ.วิสุทธิ์" ออกจากเรือนจำ หลังเข้าเกณฑ์พักการลงโทษ ชี้รับโทษจำคุกคดีฆ่าหั่นศพพญ.ผัสพรกว่า10ปีแล้ว

นายอายุตม์ สินธพพันธ์ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวาง เปิดเผยว่า ในวันนี้(4 ส.ค.) เรือนจำปล่อยตัวนพ.วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ ผู้ต้องขังคดีฆ่าหั่นศพพญ.ผัสพร บุญเกษมสันติ ภรรยาแล้ว เนื่องจากเข้าหลักเกณฑ์การพักการโทษ ซึ่งมีการพิจารณาถึง 3 ขั้นตอน โดยเริ่มจากคณะกรรมการของเรือนจำก่อนส่งให้คณะกรรมการของกรมราชทัณฑ์พิจารณาอีกชั้นหนึ่ง จากนั้นได้เเสนอให้คณะกรรมการของกระทรวงยุติธรรมพิจาณาอนุมัติ. ที่ผ่านมานพ.วิสุทธิ์ ถือเป็นผู้ต้องขังชั้นเยี่ยม ระหว่างต้องโทษทำประโยชน์ด้วยการช่วยดูแลผู้ป่วย โดยที่ผ่านมานพ.วิสุทธิ์ต้องโทษประหารชีวิต จากนั้นได้รับพระราชทานอภัยโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต โดยได้รับโทษจำคุกมาแล้ว 10 ปี 7 เดือน 25 วัน ได้รับอภัยโทษมาแล้วหลายครั้ง จนเหลือโทษจำคุกอีก 3 ปี 1 เดือน 20 วัน ซึ่งเข้าข่ายได้รับการพักการโทษเนื่องจากเหลือโทษอีกไม่ถึง 5 ปี ทั้งนี้ ในช่วงพักโทษนพ.วิสุทธิ์ จะอยู่ในการดูแลของกรมคุมประพฤติโดยจะต้องไปรายงานตัวและประพฤติตัวตามเงื่อนไขของกรมคุมประพฤติ โดยจะครบกำหนดพ้นโทษจริงในวันที่ 24 ก.ย. 2560 โดยนพ.วิสุทธิ์ ถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำไปตั้งแต่ช่วงเช้า

ผบ.เรือนจำกลางบางขวาง กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้มีโอกาสได้พูดคุยกับนพ.วิสุทธิ์ ซึ่งเคยบอกว่าหากมีโอกาสก็อยากช่วยเหลืองานสังคม แต่ไม่ได้ระบุว่าออกไปแล้วจะทำอะไร สำหรับผู้ต้องขังพักโทษหากกระทำผิดเงื่อนไขก็ต้องถูกส่งตัวกลับเข้าเรือนจำเพื่อรับโทษที่เหลือจนครบ เช่น บางรายมีการกระทำความผิดซ้ำ ก่ออาชญากรรมเพิ่ม หรือไปอยู่ในสถานที่อโคจรต้องห้าม โดยครั้งนี้มีผู้ต้องขังได้รับการพักการโทษรวม 14 คน ยืนยันว่าการพักการโทษเป็นหลักเกณฑ์ตามปกติโดยเรือนจำจะเป็นผู้สำรวจผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำของตัวเองว่าเข้าข่ายได้รับสิทธิพักการโทษหรือไม่ จากนั้นจึงเสนอให้กรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมกลั่นกรองอีกครั้ง

สำหรับการพักการลงโทษ หมายถึง การปลดปล่อยออกไปก่อนครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาศาลภายใต้เงื่อนไขคุมประพฤติที่กำหนด การพักการลงโทษมิใช่สิทธิของผู้ต้องขัง แต่เป็นประโยชน์ที่ทางราชการให้แก่ผู้ต้องขังเด็ดขาดที่มีความประพฤติดี มีความก้าวหน้าทางการศึกษา ทำงานเกิดผลดีแก่เรือนจำหรือทำความชอบแก่ทางราชการเป็นพิเศษ โดยผู้ที่จะได้รับการปล่อยตัวพักการลงโทษ ต้องมีคุณสมบัติ คือ เป็นผู้ต้องขังเด็ดขาด และเป็นผู้ต้องขังชั้นเยี่ยม ชั้นดีมาก หรือชั้นดี ซึ่งแต่ละระดับชั้นจะมีเกณฑ์พักการลงโทษต่างกัน เช่น กรณีชั้นเยี่ยม ต้องเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน 3 โดยในช่วงที่อยู่ระหว่างคุมต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กรมคุมประพฤติกำหนด หากฝ่าฝืนจะถูกนำตัวกลับมาคุมขังไว้ในเรือนจำพร้อมลงโทษทางวินัย