'ลายพิมพ์ดีเอ็นเอ'ตรวจสมุนไพร

(รายงาน) "ลายพิมพ์ดีเอ็นเอ"ตรวจสมุนไพร ฝีมือเภสัชจุฬาฯ-รักษาโรคถูกจุด
เป็นที่ทราบกันดีว่า "สมุนไพร" มีคุณอนันต์ หลายชนิดใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ชะงัด เป็นภูมิปัญญาที่ควรต่อยอดพัฒนาและสืบสาน
อย่างไรก็ดี การใช้สมุนไพรก็มีข้อควรระวัง เช่น ต้องใช้ให้ถูกชนิด ถูกขนาด และถูกวิธีด้วย ไม่อย่างนั้นอาจมี "โทษมหันต์" ถึงตายได้เหมือนกัน
ด้วยเหตุนี้ ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงมีหน่วยวิจัยสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติด้วยนวัตกรรมการใช้ข้อมูลทางพันธุกรรม หรือ "ดีเอ็นเอ" เพื่อการนี้โดยเฉพาะ
รศ.เภสัชกรหญิง ร.ต.อ.หญิง ดร.สุชาดา สุขหร่อง อาจารย์ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เล่าให้ฟังว่า หน่วยวิจัยสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติฯ ตั้งขึ้นภายใต้โครงการศูนย์นวัตกรรมทางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีบริการตรวจเอกลักษณ์พืชสมุนไพรและเครื่องยาสมุนไพรโดยใช้ลายพิมพ์ดีเอ็นเอ ลักษณะทางสัณฐานวิทยา
ทั้งนี้ เพราะการใช้สมุนไพรนั้นมีความจำเป็นต้องใช้ให้ถูกต้น ถูกขนาด ถูกส่วน และถูกวิธี เนื่องจากถ้าใช้ผิดต้น ผิดขนาด หรือผิดวิธี ขาดส่วนใดส่วนหนึ่งก็จะทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการรักษาลดน้อยลง หรือไม่เกิดผล และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
อาจารย์สุชาดา กล่าวต่อว่า สมุนไพรที่คนไทยสับสนในการใช้และเกิดพิษได้เมื่อใช้ผิดต้น ผิดส่วน หรือเป็นสมุนไพรที่พบการปนปลอมด้วยสมุนไพรชนิดอื่นๆ มาก ได้แก่ รางจืด มีสรรพคุณเด่นเรื่องแก้พิษ ขับพิษ แต่ส่วนที่สามารถขับพิษได้ต้องสกัดมาจากใบรางจืด แต่ผลิตภัณฑ์รางจืดที่จำหน่ายตามท้องตลาดมากมายไม่รู้ว่าสกัดมาจากส่วนไหน และไม่รู้ว่าเป็นรางจืดชนิดใด
นอกจากนั้น ยังมี สมุนไพรไคร้เครือ ที่ตอนนี้ได้ถูกตัดออกจากทะเบียนตำรับยาแล้ว เนื่องจากเมื่อพิสูจน์เอกลักษณ์โดยดีเอ็นเอ พบว่า เป็นสมุนไพรที่มีพิษทำให้เกิดไตวาย มะเร็งบริเวณท่อไตและเชิงกราน ดังนั้นหากใครยังรับประทานยาที่มีส่วนผสมของสมุนไพรไคร้เครืออาจทำให้เสียชีวิตได้
ไคร้เครือเป็นยาอยู่ในจำพวกยาหอม ยาลม ซึ่งในบัญชียาหลักแห่งชาติและยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณมีจำนวน 14 ตำรับ ได้แก่ ยาหอมนวโกศ ยาหอมอินทจักร์ ยาธาตุบรรจบ ยาประสะกานพลู ยาประสะเจตพังคี ยามันฑธาตุ ยาวิสัมพยาใหญ่ ยาเขียวหอม ยาอำมฤควาที ยาหอมแก้ลมวิงเวียน ยาแก้ไข้ ยาบรรเทาหัด อีสุกอีใส และยาตรีหอม อย่างไรก็ตาม ร้านจำหน่ายเครื่องยาสมุนไพรหลายแห่งในจังหวัดต่างๆ ยังพบยาเหล่านี้วางจำหน่ายอยู่ ทั้งๆ ที่มีส่วนผสมของไคร้เครือ
สำหรับสมุนไพรที่คนไทยสับสนในการใช้ ยังมี ใบกระท่อมกับ ใบกระทุ่มนา หรือ ใบบัวบก กับ ผักแว่น ที่มีลักษณะคล้ายกันมาก แต่เมื่อนำมาใช้กลับให้ผลรักษาที่แตกต่างกัน และ มะหาด ที่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมในครีมทาผิว ทำให้หน้าขาว ผิวขาว แต่จริงๆ ก็ไม่มีใครรู้ว่าเอาส่วนไหนของต้นมะหาดมาทำ เพราะถ้าจะช่วยเรื่องผิวจริงๆ ต้องเอามาจากแก่นของมะหาดซึ่งมีอายุ 40 ปีมาทำ ไม่ใช่ใช้ใบมะหาดหรือส่วนอื่นๆ เหล่านี้เป็นต้น
"ถ้าเราใช้สมุนไพรผิดตั้งแต่ต้น ย่อมไม่ได้สรรพคุณในการรักษาตามที่ต้องการ ซึ่งในตอนนี้มีสมุนไพรจำนวนมากที่ยังไม่มีข้อมูลที่แน่นอนเกี่ยวกับชนิดของพืชหรือพันธุ์พืช หรือเกิดความสับสนในการเรียกชื่อ เพียงการสังเกตหรือใช้ประสาทสัมผัสจึงไม่เพียงพอ การพิสูจน์เอกลักษณ์ว่าเป็นสมุนไพรชนิดนั้นๆ โดยนวัตกรรมการใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นการตรวจสอบลักษณะเฉพาะของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดในการช่วยจำแนกและพิสูจน์เอกลักษณ์สมุนไพร จะให้ความแม่นยำมากกว่า ใช้เวลาไม่นาน เพียง 2 ชั่วโมงก็สามารถทราบผลได้ ซึ่งแตกต่างจากการตรวจในรูปแบบอื่น"
"อย่างการตรวจจากสารเคมี ฤดูกาลจะมีผลต่อการตรวจสอบ ส่วนการพิสูจน์เอกลักษณ์สมุนไพรโดยดีเอ็นเอ สภาพอาอากาศหรืออายุของสมุนไพร หรือลักษณะของสมุนไพรทั้งสดหรือแห้ง ก็ไม่ได้ทำให้ผลการตรวจเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งข้อมูลที่ได้จะถูกจัดเก็บในรูปของลายพิมพ์ดีเอ็นเอ เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงได้ เป็นการปกป้องสิทธิสำหรับพันธุ์พื้นเมือง โดยการทำ DNA library ของพันธุ์พืชสมุนไพร" อาจารย์สุชาดากล่าว
ทั้งนี้ หน่วยวิจัยสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ภายใต้โครงการศูนย์นวัตกรรมทางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดมาแล้วเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งวิธีการตรวจสมุนไพรโดยใช้ลายพิมพ์ดีเอ็นเอได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมไทยที่ให้ความสำคัญในการจัดส่งสมุนไพรยาต้นตำรับพิสูจน์เอกลักษณ์หรือตรวจดีเอ็นเอ เพื่อยืนยันความถูกต้องของสายพันธุ์และสรรพคุณ