ชง4มาตรการลดอุบัติเหตุจุดตัดทางรถไฟ
(รายงาน) ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุฯชง4มาตรการ ลดอุบัติเหตุจุดตัดทางรถไฟ
ผ่านไปอีกครั้งกับเทศกาล "นับศพ" จากอุบัติเหตุทางถนนช่วงวันหยุดยาวปีใหม่ โดยปีนี้มีผู้สังเวยชีวิตไปถึง 302 รายจากระยะเวลาเพียง 5-6 วัน
แม้สาเหตุหลักจะมาจากปัญหาเดิม คือ "เมาแล้วขับ" แต่ประเด็นเรื่องการเตรียมพร้อมเพื่อความปลอดภัยในแง่ของถนนก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะปัญหาเรื้อรังในบ้านเราคือ "จุดตัดทางรถไฟ"
เพราะแม้แต่ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ก็ยังเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟ 2 ครั้ง!
รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐพงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย และมูลนิธิไทยโรดส์ เขียนบทความให้ความรู้และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการลดอุบัติเหตุบริเวณ "จุดตัดทางรถไฟ" เอาไว้อย่างน่าสนใจ
บทความระบุว่า อุบัติเหตุมักจะเกิดขึ้นบริเวณจุดตัดทางรถไฟที่ไม่มีเครื่องกั้นอัตโนมัติ โดยสาเหตุส่วนใหญ่ของอุบัติเหตุประเภทนี้มาจาก
1.ระยะการมองเห็น (Sight Distance) ที่ไม่เพียงพอ มักถูกบดบังด้วยต้นไม้ พงหญ้า สิ่งปลูกสร้างข้างทางรถไฟต่างๆ หรือรถยนต์ที่จอดอยู่ข้างทาง ระยะการมองเห็นที่ไม่เพียงพอนั้นทำให้รถยนต์ที่กำลังจะวิ่งข้ามผ่านทางรถไฟ ไม่สามารถมองเห็นรถไฟที่กำลังวิ่งใกล้เข้ามาได้อย่างชัดเจน เมื่อมองเห็นรถไฟอีกที ก็คือในขณะที่รถไฟเข้ามาใกล้ตัวรถยนต์มากแล้ว
2.ผู้ขับขี่ไม่คุ้นเคยกับเส้นทาง โดยไม่รู้ว่าจะมีทางรถไฟตัดผ่านอยู่ข้างหน้า ทั้งนี้อาจมีองค์ประกอบร่วมมาจากบริเวณถนนไม่มีการติดตั้งป้ายเตือนที่ชัดเจน หรือมีป้ายเตือนแต่ป้ายนั้นเก่าและเลือนลาง
นอกจากนั้น ที่ผิวจราจรอาจขาดเครื่องหมายจราจรที่บ่งบอกว่ามีทางรถไฟตัดผ่าน หรือเป็นผิวจราจรที่มีการปรับระดับให้อยู่ในระดับเดียวกับทางรถไฟ ยิ่งทำให้ผู้ขับขี่ขับผ่านไปได้อย่างราบรื่น โดยไม่รู้ว่ามีทางรถไฟตัดอยู่ข้างหน้า
3.ผู้ขับขี่ถูกกวนสมาธิด้วยกิจกรรมอื่นภายในรถ เช่น ฟังวิทยุ คุยโทรศัพท์ คุยกันภายในรถ ทำให้ไม่ทันได้ระวังว่ากำลังมีรถไฟผ่านมา
4.ผู้ขับขี่เห็นว่ารถไฟกำลังจะมาถึงแล้ว แต่เกิดการตัดสินใจผิดพลาด คิดว่าน่าจะขับรถผ่านไปได้ทัน
หลังจากการเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนกับรถไฟทุกครั้ง มักจะมีคำถามตามมาในเรื่องของ "เครื่องกั้นรถไฟ" ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการที่จะติดตั้ง "เครื่องกั้นรถไฟ" ก็ไม่ได้มีความจำเป็นในการติดตั้งทุกจุดตัดที่มีรถไฟผ่าน แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาในเรื่องของปริมาณรถไฟที่วิ่งผ่านและปริมาณจราจรที่วิ่งตัดกับทางรถไฟเป็นหลัก
ในปัจจุบันพบว่ามีจุดตัดทางรถไฟอยู่หลายประเภท ได้แก่ จุดตัดแบบมีเครื่องกั้นอัตโนมัติ, แบบไฟเตือนอัตโนมัติ, แบบป้ายจราจร, แบบทางยกระดับหรือทางลอด และแบบทางลัดผ่านที่ผิดกฎหมายซึ่งไม่มีป้ายจราจรอยู่เลย
ถ้าดูที่ปริมาณประเภทจุดตัดทั้งหลายแล้ว พบว่าความเสี่ยงจะอยู่ที่จุดตัดทางรถไฟแบบมีแต่ป้ายจราจร และแบบทางลักผ่าน ซึ่งมีอยู่เกือบ 1,500 จุดทั่วประเทศ แต่การติดตั้งเครื่องกั้นทั้งหมดทุกจุดคงใช้งบประมาณสูงมาก และต้องใช้ระยะเวลาในการติดตั้ง ทางศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยจึงขอเสนอแนะมาตรการระยะเร่งด่วนที่สมควรต้องทำก่อน ดังนี้
1.การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบถนนที่ตัดผ่านทางรถไฟ ควรร่วมมือกันในการสำรวจจุดตัดทางรถไฟ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องระยะการมองเห็น โดยให้มีการถางหญ้า ตัดต้นไม้ข้างทางในบริเวณจุดตัดทางรถไฟอยู่อย่างสม่ำเสมอ
2.เร่งดำเนินการตรวจสอบป้ายเตือน เครื่องหมายจราจร เส้นจราจร ว่ามีความชัดเจนหรือไม่ โดยป้ายจราจรและเครื่องหมายจราจรดังกล่าวต้องสามารถเตือนผู้ขับขี่ได้ว่ากำลังจะผ่านทางรถไฟที่อยู่ข้างหน้า
3.ตรวจสอบจุดตัดทางรถไฟประเภทที่ไม่มีเครื่องกั้น ว่าในปัจจุบันถึงระดับสภาพตามหลักเกณฑ์ที่สมควรต้องติดตั้งเครื่องกั้นอัตโนมัติแล้วหรือไม่ โดยพิจารณาจากปริมาณจราจร ระยะการมองเห็น และแนวถนน
4.ทดสอบการทำงานของเครื่องกั้นอัตโนมัติในจุดตัดทางรถไฟ ว่ายังใช้งานได้ดีอยู่หรือไม่
ส่วนในระยะต่อไปก็ควรมีมาตรการอื่นอย่างต่อเนื่อง เช่น เมื่อทำการตรวจสอบในข้างต้นแล้ว จุดที่จำเป็นต้องติดตั้งเครื่องกั้นอัตโนมัติ ก็ควรเสนอของบประมาณในการติดตั้งเครื่องกั้นต่อไป
นอกจากนี้ ควรมีการพิจารณารูปแบบการออกแบบถนนในบริเวณจุดตัดผ่านทางรถไฟให้มีลักษณะทางกายภาพที่สามารถเตือนผู้ขับขี่ให้ชะลอความเร็วลง ก่อนที่จะผ่านทางรถไฟ เพราะในบางครั้งผู้ขับขี่ก็อาจไม่ทันได้มองป้ายจราจรที่เตือนอยู่ข้างทาง วิธีนี้ในต่างประเทศก็นิยมใช้อยู่หลายรูปแบบ
เช่น การตีเส้นจราจรแบบพิเศษ การใช้ผิวทางที่มีสีที่แตกต่างไปจากผิวทางทั่วไป หรือการสร้าง "เกาะกลางใน" บริเวณก่อนถึงทางรถไฟ เพื่อปรับสภาพแวดล้อมของถนนให้ผู้ขับขี่รับรู้ และเพิ่มความระมัดระวัง