โครงการมหากุศลผ่าตัดผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจ
สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ นำเทคโนโลยีขั้นสูงผ่าตัดผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจผ่านสายสวนหัวใจ ลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดใหญ่ แผลเล็ก กลับบ้านได้เร็ว
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการมหากุศลเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพ-รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า ปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตติดอันดับ 1 ใน 4 ของโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดในประเทศไทย และพบจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้น
จากข้อมูลของสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ ในระยะเวลา 5 ปี (ตั้งแต่ปี 2553 – 2557) มีผู้ป่วยนอกเข้ามารับการรักษาจำนวน 1,024,148 ครั้ง โดยเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจเข้ารับบริการ 592,893 ครั้ง สำหรับผู้ป่วยในที่รักษาในสถาบันโรคทรวงอก มีจำนวน 55,423 คน แบ่งเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจ 34,103คน และในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจ จำนวน 4,390 คน
โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ โดยเฉพาะโรคลิ้นหัวใจเอออติคตีบ ซึ่งเป็นลิ้นหัวใจที่กั้นห้องล่างซ้ายและหลอดเลือดแดงใหญ่ ถือว่าเป็นโรคที่ค่อนข้างอันตราย เกิดจากการสะสมของหินปูนที่ตัวลิ้นหัวใจเอออติค ทำให้ไม่สามารถเปิดปิดได้ พบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เป็นลม หมดสติ เหนื่อยงาน และอาจหัวใจวาย จากสถิติพบว่าผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตแบบเฉียบพลันภายใน 5 ปี 3 ปี และ 2 ปี ตามลำดับ หลังจากมีอาการดังกล่าว
นอกจากนี้ยังมีโรคลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว ซึ่งเป็นลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายและห้องล่างซ้าย ถือเป็นภัยเงียบที่น่ากลัว เพราะโรคนี้มักไม่แสดงอาการในระยะเริ่มแรก อาจพบเมื่อเข้าสู่วัยกลางคนถึงผู้สูงอายุ โดยพบได้ถึงร้อยละ 10 ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปี สาเหตุของโรค ได้แก่ ลิ้นหัวใจเสื่อมตามอายุ การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ โรคลิ้นหัวใจรูห์มาติก และกล้ามเนื้อหัวใจด้านซ้ายโตมากบีบตัวอ่อนทำให้ลิ้นหัวใจไมตรัลปิดไม่สนิท ผู้ป่วยจะมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ บางรายอาจเสียชีวิตเนื่องจากการทำงานของหัวใจล้มเหลว ซึ่งการรักษาผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจทั้ง 2 กลุ่มนี้มีอัตราเสี่ยงจากการผ่าตัดสูง เนื่องจากอายุมากและ มีโรคต่าง ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคถุงลมปอดโป่งพอง
ทั้งนี้ ในการรักษาและดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ต้องพร้อมทั้งบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย กรมการแพทย์ได้สนับสนุนทั้งด้านวิชาการ การศึกษา วิจัย และงบประมาณแก่สถาบันโรคทรวงอก ในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตลอดจนเทคโนโลยีขั้นสูงที่ทันสมัย เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด และเป็นการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ สามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศ ทำให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ
แพทย์หญิงวิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ ได้จัดทำโครงการมหากุศลเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราช-กุมารี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ประกอบด้วยโครงการสำคัญ 2 โครงการ คือ
1. โครงการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เอออติค (Aortic Valve) ผ่านทางสายสวนหัวใจ (Transcatheter Aortic Valve Implantation) หรือ TAVI เป็นการใส่ลิ้นหัวใจใหม่เข้าไปสวมทับลิ้นหัวใจเดิมโดยใช้สายสวนผ่านเส้นเลือดแดงใหญ่ บริเวณขาหนีบทั้ง 2 ข้าง หรือบริเวณหน้าอกด้านซ้าย มีข้อดี คือ ผู้ป่วยไม่ต้องได้รับการผ่าตัดใหญ่ เสียเลือดจากการผ่าตัดน้อย แผลเล็ก ไม่ต้องใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม การพักฟื้นเร็วประมาณ 2 – 3 วัน สามารถกลับบ้านได้
และ 2. โครงการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคลิ้นหัวใจไมตรัลรั่วโดยใช้อุปกรณ์พิเศษ MitraClip (MitraClip for the Treatment of Mitral regurgitation) เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการรักษาโรคลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว โดยการใช้ Clip ผ่านสายสวนเข้าไปหนีบบริเวณช่องว่างระหว่างลิ้นหัวใจไมตรัลที่รั่ว ขณะทำจะมีการใช้เครื่องตรวจคลื่นหัวใจด้วยเสียงสะท้อนความถี่สูงผ่านหลอดอาหาร (Transesophageal Echocardiography) เพื่อความแม่นยำและให้ได้ผลการรักษาที่ดี
จากการศึกษาวิธีการรักษาด้วย MitraClip ทั่วโลก พบว่า การใช้ clip 1 – 3 ตัว สามารถลดความรุนแรงของอาการลิ้นหัวใจไมตรัลรั่วได้อย่างมาก ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวดีขึ้น อัตราความสำเร็จในด้านความปลอดภัยร้อยละ 74 – 97 อัตราการเสียชีวิตพบได้ ร้อยละ 0.9 – 4 อัตราการเสียชีวิตที่ 30 วันประมาณร้อยละ 0.7 – 8 ผลแทรกซ้อนอื่นๆ น้อยกว่าร้อยละ 5 และ มีระยะเวลาอยู่โรงพยาบาลเพียง 3 – 5 วัน
โดยทั้ง 2 โครงการจะต้องทำในห้อง Hybrid OR ซึ่งเป็นห้องผ่าตัดที่ทันสมัยใช้ในการทำสายสวนทางหลอดเลือดร่วมกับการผ่าตัดทั่วไป เป็นห้องผ่าตัดที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย และเป็นแห่งแรกของกระทรวงสาธารณสุข