ภาวะตาบอดในเด็กไทย

ภาวะตาบอดในเด็กไทย

แพทย์ รพ.เด็ก แนะ “ภาวะตาบอดในเด็กไทย” ปัญหาใหญ่ที่ต้องดูแล ระบุทารกคลอดก่อนกำหนดควรได้รับการตรวจจอตาภายใน 4 - 6 สัปดาห์หลังคลอด

แพทย์ รพ.เด็ก แนะ “ภาวะตาบอดในเด็กไทย” ปัญหาใหญ่ที่ต้องดูแล ระบุทารกคลอดก่อนกำหนดควรได้รับการตรวจจอตาภายใน 4 - 6 สัปดาห์หลังคลอด

“ภาวะตาบอดในเด็ก” นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญในการลดทอนคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กไทย ซึ่งนอกจะเกิดผลเสียกับตัวเด็กแล้ว ยังส่งผลกระทบระยะยาวไปถึงการพัฒนาประเทศในอนาคตอีกด้วย ดังนั้นการควบคุมสภาวะตาบอดในเด็กจึงถือเป็นความสำคัญระดับต้นที่ทุกฝ่ายควรหันมาให้ความสำคัญ

พญ.ขวัญใจ วงศกิตติรักษ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า “ปัญหาตาบอดและสายตาพิการในเด็กนับอีกปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขของไทยอันดับต้นๆ โดยมี โรคจอตาในทารกคลอดก่อนกำหนด หรือ Retinopathy of Prematurity (ROP) เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งถึงร้อยละ 66 ซึ่งเกิดสาเหตุหลักคือการคลอดก่อนกำหนดหรือคลอดก่อน 37 สัปดาห์ และมีน้ำหนักน้อยกว่า 1,500 กรัม ที่ทารกจะมีการพัฒนาของเส้นเลือดในจอตาไม่สมบูรณ์ เมื่อออกมาเจออากาศภายนอกที่มีออกซิเจนมากจะทำให้เส้นเลือดมีพัฒนาการเติบโตแบบผิดปกติจนกลายเป็นเส้นเลือดงอกใหม่ ซึ่งไม่มีความแข็งแรงเท่าเส้นเลือดปกติ ทำให้เส้นเลือดในตาแตกง่ายจนอาจเกิดพังผืดไปดึงรั้งจอตาให้หลุดออกมาจนเกิดสภาวะตาบอดได้

ทั้งนี้ แนวทางในการรักษาขึ้นอยู่กับระยะเวลาการตรวจพบโรค โดยในประเทศไทยจากการประมาณการพบว่ามีผู้ป่วยเด็กโรคดังกล่าวประมาณ 3,000 คนต่อปีจำเป็นต้องรักษาด้วยเลเซอร์ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเด็กเหล่านี้เข้าถึงการรักษาเพียง 350 - 400 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 12 จากทุกโรงพยาบาลในประเทศไทย และอีกกว่า 2,500 คน ไม่ได้รับการรักษา ซึ่งถ้าประมาณการจากจำนวนผู้ป่วยเด็กที่เข้ารับการรักษาโรคดังกล่าวทั้งหมด คาดว่ามีทารกคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักน้อยกว่า 1,500 กรัม ได้รับการตรวจคัดกรองโรคดังกล่าวเพียง 1,600 คน หรือคิดเป็นเพียง 16% ของเด็กคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักน้อยกว่า 1,500 กรัม เท่านั้น และอีกสาเหตุ คือ ภาวะตามัวที่เกิดจากภาวะสายตาผิดปกติที่ไม่ได้รับการแก้ไข คิดเป็นร้อยละ 33

ดังนั้นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อลดอัตราการตาบอดในเด็ก ต้องมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนเพื่อให้เด็กทุกคนที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคจอตา ในทารกคลอดก่อนกำหนดได้รับการตรวจจอตาภายใน 4 - 6 สัปดาห์หลังคลอดและผลักดันให้ทุกคนเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง อีกทั้งยังต้องพัฒนาให้เกิดเครือข่ายของศูนย์การแพทย์ที่สามารถให้การวินิจฉัยและรักษาโรคจอตาในทารกคลอดก่อนกำหนดและพัฒนาให้เกิดศูนย์โรคตาในเด็กระดับตติยภูมิ (รูปแบบของบริการดูแลสุขภาพ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสถานพยาบาลที่มีบุคลากรและสิ่งอำนวยความสะดวกในเรื่องการวินิจฉัยและบำบัดรักษาขั้นสูง) เพื่อเป็นที่รับปรึกษาในการวินิจฉัยและให้การรักษาโรคจอตาในรายที่เกินขีดความสามารถของศูนย์ในระดับภูมิภาค โดยจะให้บริการทั้งด้านการผ่าตัดรักษาโรคตาที่ซับซ้อน การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเห็นและการบริการเครื่องช่วยสายตาเลือนราง

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ. เด็ก) มีความตั้งใจที่จะสร้างระบบ “ROP Network” ในการส่งต่อภาพวินิจฉัยโรคจอตาจากหน่วยบริการในภูมิภาค โดยให้จักษุแพทย์ในพื้นที่ถ่ายรูปจอตาของผู้ป่วยด้วยกล้องถ่ายจอตาแล้วจัดส่งเข้าสู่สถาบันฯ ผ่านทางระบบ “Telemed” ได้ทันที ทำให้จักษุแพทย์ในพื้นที่สามารถวินิจฉัยโรคในระยะไกลและให้การรักษาด้วยเลเซอร์ได้ทันเวลาภายใน 72 ชั่วโมง ทำให้ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยในการเดินทางเข้ามาตรวจคัดกรองโรคในสถาบันฯ”

โดยล่าสุด พญ.ขวัญใจ วงศกิตติรักษ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้เป็นตัวแทนจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี พร้อมด้วยทีมแพทย์และพยาบาลเข้าร่วมประชุมและนำเสนอผลงานวิชาการ เรื่อง “การป้องกันสภาวะตาบอดในเด็กในประเทศไทย (Preventing Childhood Blindness in Thailand” ในงานประชุมวิชาการด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ครั้งที่ 8 (The 8th Kure International Medical Forum (K-INT) in 2015) ณ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการจัดประชุมเพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมจากนานาประเทศได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การดูแลรักษาผู้ป่วยหรือการจัดการกับปัญหาสุขภาพอย่างเป็นทีม(Team Approach) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการดูแลสุขภาพ อันจะส่งผลดีต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาคมอาเซียนโดยรวม