รดาชญา คุ้นวงศ์ หัวใจ(ไร่)กำนันจุล

รดาชญา คุ้นวงศ์ หัวใจ(ไร่)กำนันจุล

ใครว่าจะคิดว่า ‘รดาชญา คุ้นวงศ์’ สาวเมืองกรุงวัยเบญจเพสจะหันหลังให้กับแสงสีไปใช้ชีวิตในบ้านป่า ความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงนี้เพราะ รัก เท่านั้น

โรงงานสาวไหม สวนผลไม้ แปลงนาข้าวปลอดสารพิษและบ่อเลี้ยงปลาขนาดใหญ่ รวมพื้นที่ทั้งหมดกว่า 10,000 ไร่ ในตำบลวังชมภู จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นแหล่งพักพิงและที่ทำงานใหม่สำหรับ “รดาชญา คุ้นวงศ์” หรือแนน หลานสะใภ้แห่ง(ไร่)กำนันจุล

จากพื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ เกิดและเติบโตย่านใจกลางเมืองหลวง เรียนจบสถาปัตย์จุฬาฯ ด้านอินดัสเตรียล ก่อนเรียนจบเธอเลือกทำวิทยานิพนธ์หัวข้อ การออกแบบสิ่งทอ ทั้งๆ ที่ไม่มีรู้เรื่องเส้นไหม เหตุผลเพราะชื่นชอบงานหัตถกรรม และเป็นวัตถุดิบที่ผลิตในประเทศ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มหาศาลและทั่วโลกรู้จักไหมไทยเป็นอย่างดี


๐ พรหมลิขิตชักพาคู่ชีวิต
หลังจากเรียนจบเธอเข้ารับราชการในตำแหน่งนักวิชาการออกแบบ สังกัดกรมหมอนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากทางกรมฯกำลังต้องการนักออกแบบมาช่วยออกแบบผ้าไหมในตอนนั้น ภาระหน้าที่คือ ่การเดินทางไปตามกลุ่มทอผ้าทั่วไประเทศเพื่อช่วยพัฒนาผ้าไหมให้สวยขึ้น

การเดินทางนี้เองทำให้พบกับสามี คุณโป้ง-จงสฤษดิ์ คุ้นวงศ์ (ทายาทรุ่น 3 ของไร่กำนันจุล )ในงานประชุมของสมาคมไหมที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เป็นการรวมกลุ่มคนที่ทอผ้าในโคราช ขณะที่คุณโป้งเป็นตัวแทนของจุลไหมไทยในฐานะ กรรมการผู้จัดการบริษัท จุล อินเตอร์ซิลค์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเส้นไหมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยส่งออกทั้งในและต่างประเทศ
คุณแนน ย้อนความหลังให้ฟังว่า “ครั้งแรกที่เจอไม่ได้คิดอะไรเลย แต่วันรุ่งขึ้นคุณโป้งส่งรถตู้มารับให้ไปเยี่ยมชมโรงไหมที่ไร่ จึงเริ่มคิดเหมือนกันว่าเขาจีบหรือป่าวนะ เร็วไปนะ (หัวเราะ)” ขณะที่กามเทพยังไม่แผลงศรปักใจฝ่ายหญิง แต่ฝ่ายชายตอบชัดเจนว่า “ตอนนั้นคิดอะไรอยู่แน่นอน ไม่งั้นคงไม่ชวนมาเที่ยวไร่ (หัวเราะ)”
ความรู้สึกเบื้องแรก เธอยอมรับว่าทั้งสองมีบางสิ่งบางอย่างคล้ายกัน อย่างน้อยต้องเดินทางไปโน่นนี่ตลอดเวลา แต่สิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้กับเธอมากที่สุด คือ เขาประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่า ถ้าจะคบกับเขาต้องแต่งงานภายในปีหน้า
คุณโป้ง ขยายความถึงที่มาแห่งเจตนารมณ์ว่า ที่ผ่านมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมาเรื่อยๆ กระทั่งวันหนึ่งรู้ตัวอีกทีก็อายุ35 แล้ว เพื่อนๆ แต่งงานกันเกือบหมด จึงมองว่าโมเดลแบบเดิมที่เจอคนที่ใช่แล้วคบไปเรื่อยๆ ไม่เวิร์ค เขาก็อยากจะแต่งงานมีครอบครัว มีลูก จึงเปลี่ยนโมเดลเดิมจาก A ไป Z เปลี่ยนเป็นจาก Z ไป A น่าจะเวิร์ค จึงขีดเส้นเลยว่า ภายในปี 2555 จะแต่งงาน ไม่มีเรื่องดวงมาเกี่ยวข้อง มีการตั้ง KPI ซึ่งตามทฤษฎีต้องกำหนดสเปกของคู่ชีวิต
ครั้งแรกที่ได้พบกับคุณแนน เขาวิเคราะห์แล้วว่ามีความเป็นไปได้ที่จะไปสู่เป้าหมายคือ การแต่งงาน เมื่อเทียบกับสเปกที่ตั้งไว้ก็ใกล้เคียง และสิ่งที่ทำให้ตัดสินใจเลือกใช้ชีวิตกับเธอ เพราะทัศนคติการใช้ชีวิตเรียบง่าย ไม่ติดแบรนด์ เลือกอะไรที่มันมีคุณค่าจริงๆ
ด้วยความที่อายุยังน้อย การแต่งงานจึงเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในความคิดของคุณแนนมาก่อน แต่จากวันที่คบกับคุณโป้ง เธอมีความสุขมาก ฉะนั้น ถ้าอยากมีความสุขเช่นนี้ตลอดไปคงต้องแต่งงาน เพื่อให้ความสุขอยู่ใกล้ตัวตลอดไป
ช่วงแรกที่ไปมาหาสู่กัน ทางครอบครัวของฝ่ายหญิงค่อนข้างเป็นห่วง “คุณแม่ถามย้ำว่า มั่นใจนะว่าเขายังไม่แต่งงานมีลูกแล้ว หรือจะเป็นเกย์” (หัวเราะ) แต่เมื่อคุ้นเคยกันมากขึ้น ทุกคนในครอบครัวก็ยอมรับคุณโป้ง เพราะเขาเป็นคนที่รักและให้ความสำคัญกับครอบครัวมาก


๐ ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง
แม้อายุเธอกับสามีจะห่างกันถึง 10 ปี แต่ไม่มีปัญหากับการใช้ชีวิตคู่
“ช่องว่างระหว่างวัยเป็นข้อดีในการใช้ชีวิตร่วมกัน พึ่งพาอาศัยกัน รู้สึกว่าอยากได้คำแนะนำ ความเห็นจากเขา รู้สึกอบอุ่น บางครั้งด้วยความเป็นเด็ก แนะจะมีอารมณ์กับเหตุการณ์นั้นๆ แต่พอปรึกษาคุณโป้งก็จะได้คำแนะนำดีๆและทำให้มีสติมากขึ้น”
รดาชญา ยอมรับว่า ช่วงแรกกังวลมากที่จะต้องไปอยู่บ้านไร่ต่างจังหวัด เพราะเป็นคนกรุงเทพฯ และใช้ชีวิตเป็นคนเมืองมากๆ หลังจากแต่งงานแล้วกว่าจะได้ย้ายไปก็ประมาณเกือบปี แรกๆ ไม่กล้าไป มีความกลัว มีความกังวล หลายๆ อย่าง
กระทั่งเธอเริ่มรู้สึกเหนื่อยและเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับคุณโป้ง ที่ล้มหัวกระแทกพื้นอยู่ที่บ้านไร่เนื่องจากอาการเพลียแล้ววูบ จึงคิดได้ว่า ในเมื่อแต่งงานกันแล้วทำไมไม่อยู่ด้วยกัน จะได้ดูแลกันและกัน แทนที่จะเอาความกลัวของตัวเองเป็นที่ตั้ง จากนั้นก็ตัดสินใจย้ายไปอยู่เพชรบูรณ์ ซึ่งกลายเป็นบ้านที่ทำให้เธอและครอบครัวมีความสุข
แต่กว่าจะมาถึงวันนี้เธอต้องปรับตัวหลายอย่างในสังคมใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตแตกต่างกัน ขณะที่ทุกคนพยายามเปิดรับเธอเข้าเป็นสมาชิกในครอบครัว ส่วนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตก็เปลี่ยนไปจากที่เคยชินกับจังหวะชีวิตที่เร่งรีบ รถติด ชอปปิง รับประทานอาหารนอกบ้าน
“ช่วงที่ลงตัวคือ เมื่อมีลูกคนแรก รู้สึกว่าการที่ได้มาอยู่ต่างจังหวัดเป็นสิ่งที่ดี เหมาะกับการอยู่เป็นครอบครัวมาก พอมาอยู่ที่นี่เริ่มทำกับข้าวเองบ้างจากเดิมไม่เคยทำมาก่อน เมนูหลักคือสปาเก็ตตี้ สเต็ก ส่วนอาหารไทยจะมีแม่บ้านทำให้อยู่แล้ว ไลฟ์ไสต์การใช้ชีวิตเปลี่ยนไป รู้สึกสบายใจขึ้น ทำอะไรช้าลง สามารถควบคุมความคิดหรือสิ่งที่เราทำได้มากขึ้น เมื่อมาอยู่ต่างจังหวัด แรกอาจรู้สึกเหงา แต่พอมีลูกรู้สึกชีวิตลงตัวมาก”
“ลูกสาวตื่น 6 โมงเช้าทุกวันเหมือนนาฬิกาปลุก เช้ามาก็พาไปเดินเล่น กินข้าวเช้ากัน เสร็จเดินไปทำงานแค่ 1-2 นาทีถึงที่ทำงาน เสร็จกลางวันกลับมากินข้าวบ้านด้วยกัน ตอนบ่ายอาจจะงีบนิดหนึ่ง แล้วไปทำงาน 4 โมงเย็นเราก็พักผ่อนมาเล่นกับลูก พาไปขี่จักรยาน เดินเล่น ออกกำลังกาย”
ในฐานะฐานะหลานสะใภ้และภรรยาของซีอีโอไร่กำนันจุล ก็ต้องปรับวิธีคิดเช่นกันช่วงแรกรู้สึกเกร็งที่ต้องทำงานกับพนักงานกว่า 1,000 คน และอยู่กับครอบครัวใหญ่ แต่สิ่งที่เรียนรู้ก็คือ คุณสามารถเป็นตัวของตัวเอง ทำตัวให้มีความสุขแล้วทุกอย่างจะไม่มีปัญหา ขณะเดียวกันเรียนรู้วัฒนธรรมองค์กรของธุรกิจครอบครัว ที่มีจิตวิญญาณความเป็นครอบครัวให้กับพนักงานที่มีความผูกพันธ์กับเรื่องราวของกำนันจุล รักและภาคภูมิใจกับการเป็นส่วนหนึ่งของไร่กำนัลจุล


๐ ชีวิตครอบครัวในฝัน
สำหรับคนที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจหันหลังให้กับเมืองกรุงไปอยู่ต่างจังหวัด รดาชญามีข้อแนะนำคือ อย่ากลัว “เพราะแนนเคยกลัว การที่เราอยู่ในกรุงเทพฯ มันเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเรา ซึ่งเกิดและเติบโตมาในบรรยากาศแบบนี้ ถ้าใครที่อยากไปใช้ชีวิตต่างจังหวัดให้ละความกลัว เปิดใจไปรับความสุข แล้วจะรู้สึกว่าตนเองโชคดีที่ตื่นมาได้ยินเสียงไก่ขัน นกร้อง อยู่กับธรรมชาติ”
แม้ชีวิตจะดูมีความสุข แต่เธอบอกว่า เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนก็ต้องมีความทุกข์แวะเวียนเข้ามา ทำให้ต้องมาทบทวนว่า อะไรที่ทำให้ทุกข์ ถ้าใส่ใจความสุขของตนเอง จะทำให้เรามีความสุขมากขึ้นเรื่อยๆ ความทุกข์จะอยู่กับเราไม่นาน เพราะพยายามขจัดความทุกข์ให้ออกไป ซึ่งใช้หลักการเดียวกับการแก้ปัญหาคือการมองต้นเหตุปัญหา ใช้อริยสัจสี่ คือ ความจริง 4 ประการ ได้แก่ การมีอยู่ของทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และ หนทางไปสู่ความดับทุกข์ ซึ่งเป็นหลักความจริงของชีวิต
ส่วนการดูแลสุขภาพ จะประกอบไปด้วยเรื่องร่างกาย ความคิด และอารมณ์ ส่วนใหญ่สิ่งที่ทำให้เครียดมาจากความคิด ดังนั้น ต้องบาลานซ์สามเรื่องเข้าด้วยกัน เมื่อรู้ตัวว่าเครียดส่วนใหญ่มาจากงาน ต้องพยายามคุมอารมณ์และร่างกายให้คลายเครียด
ด้านร่างกายอาจจะผ่อนคลายด้วยการนวดหรือออกกำลัง เช่น ขี่จักรยาน เล่นโยคะ ส่วนการคลายอารมณ์ก็อาศัยเล่นกับลูก ทำให้อารมณ์ดี หยุดคิด เรียกสติกลับคืนมา จากที่ผ่านมาเธอให้เวลากับงาน กับลูก ครอบครัว แต่บางครั้งลืมที่ดูแลตนเองก็ทำให้ไม่สบายบ้าง จึงต้องกลับมาใส่ใจดูแลตนเองด้วยการไม่เครียด ถ้าจัดการตัวเองตรงนี้ได้จะทำให้ชีวิตเธอสมบูรณ์ขึ้น
ชีวิตครอบครัวทุกวันนี้ดีกว่าที่เคยนึกถึง แม้จะเรียบง่ายแต่ก็มีความสุข เป็นครอบครัวที่อบอุ่น ดูแลช่วยเหลือกันและกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ให้เกียรติกัน สร้างบรรยากาศที่ดีสำหรับลูกที่จะเติบโตมาด้วยความรัก เมื่อเขาเติบโตก็จะสามารถแบ่งปันความรักให้คนรอบข้าง
“แนวทางการเลี้ยงลูกมีเป้าหมายให้เขาเป็นเด็กที่มีความสุข มีความรักล้นเออ ฉลาดในการเข้าสังคม ซึ่งมาจากการศึกษาจากตำราและประสบการณ์มาปรับให้เหมาะกับการเลี้ยงลูกให้เป็นธรรมชาติสไตล์เรา ไม่เลี้ยงแบบประคบประหงมมากเกินไป”
พร้อมกันนั้นจะเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่เน้นซื้อของเล่น เพราะอยากให้ลูกเล่นกับพ่อแม่มากกว่าตุ๊กตาหรือของเล่น การอยู่ต่างจังหวัดได้เปรียบเพราะมีธรรมชาติรอบตัว เธอตั้งใจให้ลูกมีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัดนานที่สุด อยู่ใกล้ชิดคุณปู่คุณย่า ถึงวันหนึ่งพอมีลูกคนที่สองหรือสามค่อยกลับเข้ากรุงเทพฯพร้อมกันเพื่อเรียนชั้นประถม
ความต้องการของผู้หญิงที่เป็นแม่ทุกคนคงเหมือนกัน คือเพียงแค่ได้เห็นคนที่ตัวเองรักมีความสุขก็เพียงพอแล้ว