ต่อพงษ์ วงศ์เสถียรชัย Work-Life Balance
หนุ่มเมืองโคราชวัย 33 ปี หลงเสน่ห์ชายหาด เสียงคลื่นและท้องทะเล สร้างกิจการส่วนตัวจากความรักในการท่องเที่ยว Love Andaman
หนุ่มเมืองโคราชวัย 33 ปี หลงเสน่ห์ชายหาด เสียงคลื่นและท้องทะเล สร้างกิจการส่วนตัวจากความรักในการท่องเที่ยว Love Andaman พร้อมประสบการณ์การต่อสู้อย่างโชกโชนบนสังเวียนธุรกิจ
ความสำเร็จในโลกธุรกิจของ “ต่อพงษ์ วงศ์เสถียรชัย” หรือสตางค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เลิฟอันดามัน จำกัด บริษัทท่องเที่ยวสุดฮิปที่เป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ ผ่านภาพสวยๆ ทะเลสีฟ้าใสของชายหาดภาคใต้ของประเทศไทย พร้อมคำบอกเล่าแบบปากต่อปากกับรูปแบบการบริการที่ได้ใจลูกค้า ความสำเร็จบนเส้นทางธุรกิจไม่ใช่โชคช่วยหรือส้มหล่น เขาต้องผ่านมรสุมชีวิตมานับไม่ถ้วนกว่าจะได้รับการยอมรับ
จุดเริ่มต้นของฝันที่กลายเป็นจริง
ทุกอย่างในวันนี้ เริ่มจากสมัยมัธยม ที่ต่อพงษ์ใฝ่ฝันจะไปเที่ยวมาก จนกระทั่งนักเรียนแลกเปลี่ยนจากเยอรมนีที่เขาเป็นบัดดี้จะกลับประเทศและอยากไปเที่ยวเป็นทริปสั่งลา จึงพากันไปเกาะพีพี ซึ่งยุคนั้นยังไม่เจริญ ความงามของธรรมชาติ ชายหาด ท้องฟ้าและน้ำทะเลสร้างความตื่นตาตื่นใจ เรียกได้ว่า มหัศจรรย์มาก ความประทับใจนั้นก็คงอยู่ภายในใจ
ในขณะเดียวกันเป็นคนที่ชอบถ่ายรูปมาก เมื่อครั้งไปเรียนด้านบริหารการท่องเที่ยวที่ประเทศนิวซีแลนด์ เขาเคยเป็นแอดมินของโลนลี่แพลนเน็ต เวลามีฝรั่งมาถามเกี่ยวกับเมืองไทยก็จะเข้าไปตอบ และเก็บความประทับใจเอาไว้
กระทั่งต้องกลับไทยและมีช่วงว่างจึงไปเที่ยวอาดังราวี หลีเป๊ะ ด้วยความที่เป็นคนชอบคุย ไปเจอลุงป้าคู่หนึ่งที่คุยกันถูกคอ ก่อนพบว่าทั้งคู่จะไปเกาะสิมิลัน สุรินทร์ เขาเปลี่ยนแผน จากตอนแรกจะอยู่อันดังราวีหลีเป๊ะ 5 วัน ก็อยู่แค่ 2 วัน และติดรถลุงกับป้าไปสิมิรัน สุรินทร์ต่อ กลายเป็นเที่ยวครบทุกเกาะทั้ง พีพี อันดังราวีหลีเป๊ะ สิมิรัน สุรินทร์ จบทริปแบบประทับใจ กลับไปเรียนต่อ
แต่ชีวิตก็ถึงช่วงพลิกผัน ครอบครัวประสบปัญหาจากการเสียชีวิตของบิดา ทำให้ลูกคุณหนูที่ไม่เคยทำอะไรมาก่อนต้องลำบากครั้งแรกในชีวิต
“ผมไปเป็นลูกจ้าง ทำงานร้านอาหารไทย ทำทุกอย่างที่ตัวเองไม่เคยต้องทำมาก่อน คำว่า ลำบากเข้าใจครั้งแรกในชีวิต วันแรกที่เริ่มทำงาน น้ำตาไหลเพราะเหนื่อยแบบที่ไม่เคยเป็น ทั้งที่งานนั้นไม่ได้หนัก แต่เราไม่เคยต้องทำ เลยคิดว่า ทุกอย่างมันหนัก เป็นประสบการณ์ให้ตัวเองแข็งแรงขึ้น”
ในระหว่างที่ทำงานพาร์ทไทม์เป็นไกด์กับตากล้อง ใครก็อยากได้ไกด์ที่ถ่ายรูปสวย และเขาเองก็ถ่ายรูปสวยจึงมีโอกาสได้งานที่ Aden Vacation ที่เขาได้เรียนรู้งานบริการ พร้อมกับเกิดคอนเน็คชั่นดาราและแขกวีไอพีมากมาย
มรสุมพิสูจน์ใจนักสู้
กระทั่งกลับมาไทย ต่อพงษ์เริ่มทำธุรกิจของตนเอง แต่ด้วยความที่เป็นคนเก่งหน้าบ้าน แต่หลังบ้านไม่เก่งเลยจึงถูกโกง ตัวเขาเลยต้องพัก ก่อนเริ่มอีกครั้งและต้องเจอประสบการณ์แบบเดิม ทำให้กลายเป็นช่วงที่ต้องตัดสินใจว่าจะสู้ต่อหรือหนีกลับออสเตรเลีย แต่แล้วเขาก็บอกตัวเองว่าต้องสู้ จึงเกิดเป็น Love Andaman
“ก่อนหน้านั้นตั้งชื่อ LUV Andaman เป็นภาษาวัยรุ่น แต่คนอื่นไม่เข้าใจว่าคำนี้เป็นศัพท์ย่อวัยรุ่นแทนคำว่า Love จึงต้องเปลี่ยนชื่อมาเป็น Love Andaman และเป็นรายแรกที่บุกทำทริปสิมิลัน เริ่มทำโครงการไม่ให้อาหารปลา ให้ความรู้นักท่องเที่ยวก่อนลงเรือ รีไซเคิลบนเกาะ ดังนั้น สิมิลันตาชัย เป็นที่แรกที่ทำได้สำเร็จ แม้ในช่วงแรก ทุกเจ้าหัวเราะว่า ทำไม่ได้ นักท่องเที่ยวชอบให้อาหารปลา ปลาจะมาเยอะ แต่เรามองโมเดลออสเตรเลียที่เน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งผลคือนักท่องเที่ยวไทยเข้าใจ และชื่นชอบที่จะรักษาระบบนิเวศ ทำให้เกิดเป็นความภาคภูมิในในตัวเอง และบอกว่าจะกลับมาใช้บริการของเราอีก”
ความเป็น “เลิฟอันดามัน” โดยเฉพาะเรื่องซีเอสอาร์และสิ่งแวดล้อมเป็นที่รู้จัก แต่ธุรกิจก็สะเปะสะปะหลายปี แม้จะโตเร็วมาก แต่ระบบหลังบ้านไม่โอเค ต่อพงษ์ยอมรับว่า เขาไม่ถนัด หามาเท่าไหร่ก็รั่ว ถูกลูกน้องโกง จนต้องขายบ้าน รถ คอนโด ทุกอย่าง แบบหมดเนื้อหมดตัว เพราะเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ต้องขายทุกอย่างมาใช้หนี้ ขนาดเรือที่ใช้ยังเป็นเรือมือสองที่เสียบ่อย ต้องซ่อมตลอด มีค่าใช้จ่ายอีกเป็นล้าน
บทเรียนทำ
ให้จดจำ เมื่อมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนในปี 2 ของธุรกิจ และปีที่ 3 เป็นปีของการเติบโต โดยเฉพาะเมื่อมารู้จักเคทีซี ที่ทำทริปสื่อ มีโอกาสรู้จักกับผู้คนหลากหลายสายทั้งสื่อ บล็อกเกอร์
“วันนั้นไปเกาะตาชัย ฝนตกหนักมาก แต่ผมลงไปดูเอง ด้วยหลักการบริการที่เน้นการดูแลด้วยใจ หลักการบริหารคนเราคือ ต้องใส่ใจ ดูแลลูกค้าจากใจ และผมสอนน้องๆ เอง จัดให้ดู ทำให้ดู บริการแขกให้ดูว่า บริการจากใจเป็นยังไง เราจึงได้ทีมไกด์ดีที่เข้าถึงลูกค้าได้จากการใส่ใจทำให้แม้จะมีฝนมา แต่ทริปเรายังแฮปปี้ สื่อต่างๆ ประทับใจ และเกิดเป็นการบอกต่อ”
ต่อพงษ์ทำงานแบบนี้ทุกทริป มีคอร์สอบรมไกด์ให้ใส่ใจดูแลลูกค้าไม่ว่ามีอาชีพใดก็ตาม สิ่งเหล่านี้ทำให้เลิฟอันดามันเติบโตขึ้นมากผ่านการตลาดออนไลน์ และกลายเป็นเจ้าที่มีโซเชียลมีเดียแข็งแรง เป็นรายที่มีเพจแอคทีฟมาก มีฟอลโลเวอร์เกือบ 1 ล้านคน
“ถ้าจะพูดถึงหลักการ CRM Customer Realtion Management เราใช้ FRM คือ Friendship และ Relationship มาบริหารความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น บางทีไม่ต้องท่องบทเยอะ เป็นตัวเรา บริการเต็มที่ จนเติบโตเยอะ จากเรือมือสอง 2 ลำก็มีเรือใหม่เข้ามาเรื่อยๆ ตอนนี้มี 10 กว่าลำ”
เที่ยวเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยว
ต่อพงษ์เพิ่งกลับจากการพักยาวเกือบ 3 เดือน การพักยาวของเขาคือ การเที่ยวเพื่อเก็บอะไรใส่หัวกลับมา พร้อมกับกล้อง 2 ตัว เลนส์ 5 ตัว ไปนอนแบ็คแพ็ค 30 เตียงเป็นครั้งแรก
“ครั้งนี้ไปเที่ยวเก็บนู่นนี่ รีชาร์จตัวเอง เพราะก่อนหน้านี้เป็นช่วงดาวน์ที่ตัวเราเองรู้สึกว่า ไม่ไหวแล้ว ถ้าเราชอบเที่ยวก็ต้องออกเที่ยว ถึงจะสามารถกลับมาทำงานท่องเที่ยวได้ดีขึ้น ถ้าไม่ออกไปเห็นโลกข้างนอกว่าเปลี่ยนไปแค่ไหน เราจะไม่มีทางเข้าใจว่า จะกลับมาทำยังไงให้ดีขึ้นได้ยังไง”
สิ่งที่เขาใฝ่ฝันคือ การท่องเที่ยวทะเลใต้จะทำได้อย่างออสเตรเลีย จึงพยายามนำเสนอการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เรื่องการจำกัดจำนวนโดยการทำ High Standard Tourism แบบออสเตรเลีย ไม่ว่าจะเป็น เครื่องยนต์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เครื่องยนต์ 2 จังหวะที่ทิ้งคราบน้ำมัน, เรือต้องมีถังบำบัด ไม่ทิ้งของเสียลงทะเล, อุปกรณ์ล้างเรือต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้, กัปตัน เด็กเรือต้องได้รับการอบรม, ไกด์ต้องผ่านการรับรองจากอุทยานฯ, บริษัทต้องทำรีไซเคิล ฯลฯ
“บริษัททัวร์ต่างๆ ควรทำ เพราะเดิมเราทำทัวร์เกาตาชัยครั้งละ 30-40 คน เราแฮปปี้ แต่เดี๋ยวนี้ คนเข้าไปเยอะ ราคาถูกลง แต่ใช้ทรัพยากรไม่คุ้ม และไม่มีหน่วยงานมาทำหน้าที่รับรอง ถ้าทำได้ มันจะเกิดการแข่งขันของธุรกิจท่องเที่ยวแบบยั่งยืน” ต่อพงษ์กล่าว
พร้อมยกตัวอย่างว่า เกาะตาชัยที่สวยที่สุด หากมีการวางกฎและให้คะแนนตามเกณฑ์ บริษัทที่ทำตามกฎและได้คะแนนมากเป็นอันดับ 1 ได้เข้า 7 วันต่อสัปดาห์ เข้าจุดสวยได้ทุกจุด บริษัทที่ได้คะแนนอันดับ 2 เข้าเกาะได้ 6 วันต่อสัปดาห์ และเข้าจุดที่สวยรองลงมา ถ้าอยากได้จุดสวยสุดต้องไปพัฒนาให้เป็นที่ 1 สำหรับบริษัทที่ 3 เข้าได้แค่ 4 วัน เข้าได้ 3 จุดสวยรองลงมา และจำกัดปริมาณแขกที่พามาเพราะความสามารถในการบริหารจัดการมีน้อย
บริษัทที่ 4 เข้าได้ 3 วัน ครั้งละไม่เกิน 20 คน ตามความสามารถที่มี จะทำให้ทุกบริษัทแข่งกันพัฒนาด้านการบริการและบริหารจัดการ ทำทุกอย่างตามที่กฎออกมาเพื่อให้ตัวเองได้โควต้า หรือต้องดี สิ่งแวดล้อมต้องดูแล มีพนักงานดูแลให้เพียงพอ มีใบให้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อสื่อสารให้ได้รู้
การแข่งขันจะเปลี่ยนไปเป็น Advanced Eco-Tourism แต่ไทยยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่เขาหวังว่า จะทำได้เช่นนั้น
ความสุขของการเห็นโลกกว้าง
ความรักในการท่องเที่ยว ทำให้ต่อพงษ์สนุกทุกครั้งที่ออกเดินทาง การเที่ยวแบบแบ็คแพ็คเป็นการเรียนรู้ประสบการณ์พบมิตรภาพใหม่ ล่าสุด นิวซีแลนด์ปีที่แล้ว เขาไปนอนโฮสเทลแถบควีนทาวน์ เป็นห้อง 8 เตียง เจอผู้หญิงไต้หวัน และอีกคนจากสาธารณรัฐเชค คุยไปคุยมา บอกว่ามาทำงานที่นี่แถวมิลฟอร์ดซาวน์ กลายเป็นว่าขับรถเที่ยวด้วยกัน และปรากฏว่า เขาทำบริษัททัวร์ ก็ได้เข้าไปดูทัวร์ ลงเรือทัวร์ ได้เจอ hospitallity ตัวจริงใส่ใจดูแลเรา กลายเป็นมิตรภาพที่ดีมาก และยั่งยืนมาจนทุกวันนี้ เป็นบทเรียนที่ทำให้เรียนรู้ว่า อยากจะทำให้ได้แบบนี้ ดูแลแบบนี้กับแขกเรา
อีกทริปเขาไปเจอสองสามีภรรยาบนเรือนอน ก็คุยจนกลายเป็นเพื่อนและชวนไปเที่ยวที่บ้าน ไปเล่นเจ็ตสกี ได้กินแกะครั้งแรกที่อร่อยและไม่เหม็น เห็นชีวิตคนท้องถิ่นจริง ๆ
ต่อพงษ์ยอมรับว่า ทะเลกลายเป็นจุดหมายที่ไม่เคยเบื่อ เมื่อไปนั่งริมทะเลคือหายเหนื่อย ถ่ายรูปก็เหมือนกัน ขับรถทุกเย็น ไปดูพระอาทิตย์ตก ที่เดิม จุดเดิม แต่รู้ว่าแต่ละวันไม่เหมือนกัน มีเสน่ห์ในแบบเฉพาะ
“เมื่อครั้งเจอมรสุมทั้งนอกและใน เคยจะถอยหลายครั้ง แต่ตอนที่ล้าที่สุดอย่าพึ่งบอกว่าล้าที่สุด ลองพักก่อนแล้วไปเติมพลังบวกใหม่ ก่อนไปยุโรปครั้งนี้ ถ้ามาเจอผมคือ โทรม แต่พอได้พัก ได้คิด ได้ผ่อนคลาย ไปเก็บพลังใหม่ ไปเติมความสุขจากการท่องเที่ยว กลับมาผมบ้าพลังนะ กลับมาคุยงานกันไม่นานตัดสินใจทำเกาะรอก บุกพีพี เกาะราชา-ไม้ท่อน และโปรโมทในเวลาไม่นานคนตอบรับดีมาก และประกาศว่าจะออกวันละไม่เกิน 2 ลำเพื่อควบคุมคุณภาพให้ทั่วถึง ทำให้มันบูทีคขึ้น ดูแลแขกทั่วถึงขึ้น”
“ถ้าใช้ชีวิตโดยไม่ได้ทำสิ่งที่ชอบ ชีวิตก็ไม่มีความหมายอะไรเลย” เส้นทางการชีวิตของผู้บริหารเลิฟอันดามัน ที่ขับเคลื่อนให้วิถีธุรกิจและวิถีชีวิตมาบรรจบกันอย่างมีความสุข