ผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงโรคทางระบบประสาท

ผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงโรคทางระบบประสาท

แพทย์เตือนผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยงโรคทางระบบประสาทรีบตรวจ เร่งรักษาและป้องกัน เพิ่มคุณภาพชีวิต

แพทย์เตือนผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยงโรคทางระบบประสาทรีบตรวจ เร่งรักษาและป้องกัน เพิ่มคุณภาพชีวิต

ปัจจุบันวิวัฒนาการทางด้านการแพทย์ที่ก้าวหน้าอย่างมากจึงทำให้คนมีอายุยืนยาวขึ้น เห็นได้จากจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึง 15% และคาดว่าจะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากยิ่งขึ้นถึง30% ภายใน 30 ปี ซึ่งการมีประชากรสูงอายุที่มากขึ้นอาจนำมาสู่อัตราความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ของผู้สูงอายุที่มากยิ่งขึ้นตามความเสื่อมถอยของอายุ โดยโรคทางระบบประสาทนับเป็นโรคหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับอายุเป็นอย่างมาก ดังนั้นการตระหนักถึงความสำคัญในการตรวจประเมินความเสี่ยงโรคทางระบบประสาท และหากพบโรคแล้วเริ่มรักษาได้เร็ว ก็จะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป

ศ.นพ.นิพนธ์ พวงวรินทร์ หัวหน้าสาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และประธานมูลนิธิเพื่อโรคระบบประสาทแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อโรคระบบประสาทแห่งประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงความเสี่ยงของประชาชนผู้สูงอายุต่อโรคทางระบบประสาทซึ่งนับวันยิ่งมีอัตราสูงขึ้น จึงมุ่งสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุเพื่อให้รู้หลักการดูแลตนเอง รวมถึงกลุ่มคนรุ่น
ใหม่ เพื่อให้ช่วยกันดูแลและใส่ใจญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ในวัยผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด อันจะช่วยให้สามารถหาทางป้องกันและรักษาโรคได้อย่างทันท่วงที และในโอกาสครบรอบ 10 ปีของมูลนิธิฯ จึงได้จัดกิจกรรม “โรคระบบประสาทเพื่อประชาชน” โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 19 พฤศจิกายนนี้ ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ด้วยนิทรรศการให้ความรู้จากชมรมและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ พร้อมทั้งการตรวจเช็คสมรรถภาพ หรืออัตราเสี่ยงของโรคระบบประสาทฟรี

“ปัจจุบันประชาชนยังมีความรู้ไม่เพียงพอที่จะดูแลตนเอง หรือรู้จักสาเหตุของโรคเพื่อหาทางแก้ไข อาทิ มักคิดว่าอาการขี้ลืมเป็นเรื่องธรรมชาติของผู้สูงอายุ แต่ในความเป็นจริงคือการค่อยๆ เข้าสู่ความเสี่ยงของ โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ซึ่งหากไม่รักษาแล้วภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี จะทำให้อาการมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงไม่สามารถจำอะไรได้เลย”

ด้าน พ.อ.พิเศษ ดร.น.พ.โยธิน ชินวลัญช์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านอายุรกรรมสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า สมองของคนเราเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญในการควบคุมการทำงานด้าน
ความจำ ความรู้สึก ความนึกคิด อารมณ์และพฤติกรรม ดังนั้นเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้นก็อาจส่งผลให้สมองของมีความผิดปกติเกิดขึ้นได้ โดยโรคที่เกี่ยวข้องกับสมองและระบบประสาทซึ่งสามารถพบได้บ่อยในกลุ่ม
ผู้ป่วยสูงอายุ ได้แก่ โรคสมองเสื่อม โรคลมชัก การนอนหลับผิดปกติ และ โรคพาร์กินสัน เป็นต้น ซึ่งสามารถยกตัวอย่างได้ มีดังนี้

โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ สามารถพบได้ประมาณ 65% ของโรคสมองเสื่อมทั้งหมด ซึ่งโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์มักพบได้ 10% ในผู้สูงอายุ 65 ปีและจะเพิ่มเป็น 40% ในผู้สูงอายุ 85 ปี ปัจจุบันยังไม่ทราบ สาเหตุที่แท้จริงของโรคแต่เชื่อว่าสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย อาทิ อายุที่เพิ่มขึ้น พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยมีรายงานว่าปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์สมองเสื่อมประมาณ 5 ล้านคนทั่วโลกและ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2 เท่า ภายใน 5 ปี แม้ว่าโรคดังกล่าวจะยังไม่มียารักษาโรคได้โดยตรง แต่ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้นจึงทำให้สามารถชะลอโรค ดังนั้นการตรวจวินิจฉัยได้ตั้งแต่ระยะเริ่ม แรกจึงมีความสำค้ญ โดยพิจารณาจากความจำที่ถดถอยลงของผู้ป่วยอันสามารถนำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ได้ในอนาคต ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 10 – 15 ปี ในการพัฒนาก่อนจะสู่โรคฯ อย่างแท้จริง

สำหรับการวินิจฉัยโรคสมองเสื่อมอัลไชเมอร์ในระยะเริ่มแรกก่อนจะเกิดอาการสมองเสื่อมคือใช้การ PET Scan เพื่อหาสารเบต้าอมีลอยด์และสารเทาว์โปรตีน ซึ่งจะเป็นข้อบ่งชี้ถึงโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ นอกจากนี้การวินิจฉัยแยกโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์จากโรคสมองเสื่อมชนิดอื่นๆ เช่น โรคสมองเสื่อมส่วนหน้า ก็มีความสำคัญเพื่อให้การรักษาได้ถูกต้อง การดูแลและการรักษาโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์จะมีความแตกต่างกับการดูแลรักษาในโรคสมองเสื่อมส่วนหน้า เป็นต้น

โดยการตรวจหาสารชนิดนี้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจะสามารถวินิจฉัยโรคได้ล่วงหน้า 10-15 ปี ก่อนที่ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ล่าสุดที่จะ เข้ามาในอนาคตอันใกล้นี้ นั่นคือการตรวจหาสารเบต้าอมีลอยด์ที่บ่งชี้ถึงความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ทางตาโดยใช้เครื่อง Retina Scan และการใช้เครื่อง PET scan ตรวจหาสารเทาว์โปรตีนที่จะทำให้
การวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการสมองเสื่อมอัลไซเมอร์แต่เนิ่นฯได้แม่นยำขึ้น ในผู้สูงอายุหรือผู้ใกล้ชิดบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรมีการเตรียมพร้อมด้วยการดูแลตนเองอย่างดี การทานอาหารที่มี ประโยชน์ การใช้สมองอย่างต่อเนื่อง การนอนหลับที่เพียงพอและหลีกเลี่ยงความเครียด ซึ่งจากการศึกษาพบว่าในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคฯ แต่หากว่ามีการป้องกันดูแลตนเองที่ดี ก็จะช่วยทำให้ลดความ เสี่ยงในการเป็นโรคลดน้อยลงหรือชะลอตัวโรคให้ช้าลง

โรคลมชัก เป็นโรคที่พบได้ทุกวัย แต่จะพบได้มากขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุเนื่องจากสมองที่เริ่มเสื่อมลงหรือความกระทบกระเทือนจากโรคทางกาย เช่น ความดันสูง เบาหวาน เส้นเลือดสมองอุดตัน โรคไต หรือ อุบัติเหตุทางสมอง เป็นต้น โดยพบว่าผู้ป่วยโรคลมชักในกลุ่มผู้สูงอายุ จะเป็นคนที่ไม่เคยมีอาการโรคลมชักมาก่อนเลยพบสูงเกือบถึง 2 % ของประชากรทั้งหมด สำหรับอาการของผู้ป่วยจะมีอาการเหม่อลอย มีความจำขาดหายเป็นช่วง พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้อาจจะพบได้บ่อยกว่าอาการเกร็งกระตุกที่คนทั่วไปรู้จักว่าเป็นอาการของโรคลมชัก จึงมักทำให้ตัวผู้ป่วยเอง ญาติหรือคนใกล้ชิด ไม่สามารถสังเกตได้ว่าผู้ป่วยกำลังมีอาการของโรคลมชัก จึงมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถทำการรักษาได้ทันท่วงที ซึ่งทันทีที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการข้างต้นนี้ควรได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างเร่งด่วน

สำหรับการวินิจฉัย โรคลมชักคือการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ซึ่งในผู้ป่วยบางคนอาจจะต้องการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองแบบ 24 ชั่วโมงร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีการตรวจด้วยการเอกซเรย์ เช่น การทำ MRI , PET และ SPECT ซึ่งล้วนแต่ช่วยให้สามารถวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญมากที่สุดของโรคลมชักคือการรักษาที่ต้องทำอย่างทันทีและเร่งด่วน โดยพบว่าผู้ป่วยที่มีการรักษาอย่างถูกต้อง จำนวนกว่า 70% จะไม่มีอาการชักอีกเลย แต่สำหรับผู้ป่วยที่รักษาไม่ทันท่วงที่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้ ในผู้ป่วยที่มีอาการดื้อต่อยาอาจต้องใช้วิธีการผ่าตัดหรือการรักษาอื่นๆร่วมด้วย ทั้งนี้ปัจจุบันมียา ป้องกันอาการลมชักชนิดใหม่ๆ ออกมาอย่างมากมาย ซึ่งล้วนแต่มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นและให้ผลข้างเคียงที่ลดลง จึงทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้นอย่างมาก

กิจกรรมวันโรคระบบประสาทเพื่อประชาชน พร้อมด้วยนิทรรศการให้ความรู้และการตรวจเช็คสมรรถภาพทางสมอง ตรวจวัดความดันเพื่อวัดอัตราเสี่ยงการเป็นโรคอัลไซเมอร์ จากชมรมต่างๆ อาทิ ชมรมโรคพาร์กิน สัน ชมรมโรคประสาทร่วมกล้ามเนื้อ ชมรมศึกษาโรคปวดศีรษะ เป็นต้น รวมทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกมายที่พร้อมมาให้ความรู้ในหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ สั่นแบบไหน ใช่พาร์กินสัน รู้เท่าทัน สั่นต้องสู้ , เวียนหัวแบบไหน ถึงตายได้, มหันตภัย โรคนอนกรน เป็นต้น ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 18 – 19 พฤศจิกายนนี้ เวลา 14.00 น. – 19.00 น. ณ ลานกิจกรรม Lift Style ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน