ดนตรีบำบัดลดความเจ็บปวด

ดนตรีบำบัดลดความเจ็บปวด

จุฬาฯ เผย ผลวิจัย การใช้ดนตรีบำบัดลดความเจ็บปวด และ ความกังวลของผู้ป่วยโรคไต ขณะฟอกไต

จุฬาฯ เผย ผลวิจัย การใช้ดนตรีบำบัดลดความเจ็บปวด และ ความกังวลของผู้ป่วยโรคไต ขณะฟอกไต

โรงพยาบาลในสังกัด กรุงเทพมหานคร สํานักวัฒนธรรมกีฬา และการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ ศูนย์วิจัยวัฒนธรรมเมืองและหน่วยวัฒนธรรมดนตรีไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การดำเนินงาน และ การประสานงานของ Chula Unisearch นำร่อง วิจัยในหัวข้อ “ใช้ดนตรีบำบัดในผู้ป่วยโรคไต ขณะฟอกเลือด ด้วยเครื่องไตเทียม” ลดความเจ็บปวด และ ความกังวลของผู้ป่วยโรคไต ขณะฟอกไต ที่โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน และโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์


ดร. บุษกร บิณฑสันต์ และคณะคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โครงการ “ใช้ดนตรีบำบัดในผู้ป่วยโรคไต ขณะฟอกเลือด ด้วยเครื่องไตเทียม” ซึ่งโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน และโรงพยาบาลจริญกรุงประชารักษ์ มีกลุ่มเป้าหมาย คือผู้ป่วยโรคไตระหว่างการฟอกเลือดด้วยเครื่องฟอกไต มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการบุกเบิกในการวิจัยแบบสหสาขาวิชากล่าวคือ ผู้ที่ร่วมทําวิจัยประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ด้านดนตรีนักดนตรีบําบัด นักระบาดวิทยา แพทย์ และพยาบาลวิชาชีพทําให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นการสร้างงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยในสถานพยาบาลของกรุงเทพมหานครซึ่งสามารถเป็นงานต้นแบบที่สามารถนําไปประยุกต์ใช้ในโรงพยาบาลอื่นๆ เช่นเดียวกับการใช้งานด้านดนตรีบําบัดในต่างประเทศได้


ดนตรีบำบัด (Music Therapy) จึงกลายเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในการช่วยบำบัดรักษาความผิดปกติทางร่างกายทางอารมณ์ และทางสังคม ซึ่งมีการศึกษาและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาประเทศในแถบยุโรป รวมทั้งประเทศญี่ปุ่นสำหรับประเทศไทย งานด้านดนตรีบำบัดนับว่าอยู่ในขั้นเริ่มต้น เนื่องจากขาดการสนับสนุนจากผู้กำหนดนโยบายคือ รัฐบาล โดยในสังคมเมืองใหญ่ ดังเช่น กรุงเทพมหานคร ด้วยมลภาวะที่เกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อม ตลอดจนภาระทางด้านการงานที่รัดตัว ทำให้เกิดภาวะความเครียดแก่ผู้คนในชุมชนเมือง ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า ในสถานพยาบาลของรัฐมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมลภาวะที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและความตึงเครียดที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต


ด้วยเหตุนี้งานวิจัยด้านดนตรีบำบัดจึงมีความจำเป็นที่สมควรได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นโครงการนำร่องในประเทศไทยในการที่จะนำกิจกรรมดนตรีไปใช้เพื่อการบำบัด และเป็นทางเลือกในการบำบัดจิต ใจผู้ป่วยขณะรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลกล่าวได้ว่าดนตรีบำบัด คือ การใช้ดนตรีและวิธีการทางดนตรีในการช่วยฟื้นฟู รักษา และพัฒนาด้านอารมณ์ ร่างกาย และจิตใจ เพื่อให้มีสภาพที่ดีขึ้น โดยดนตรีที่นำมาใช้ในการบำบัดนั้นต้องได้รับการเห็นชอบจากผู้เชี่ยวชาญในการรักษา ซึ่งประกอบด้วย นักดนตรีบำบัดแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ผู้รับผิดชอบกรณีศึกษาและญาติของผู้เข้ารับการบำบัด ในงานวิจัยนี้ ดนตรีจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้บำบัดกับผู้เข้ารับการบำบัด


ผลการศึกษา พบว่า ผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมพร้อมทั้งการใช้ดนตรีสดบำบัดให้ผลต่อค่า SBP DBP และอัตราชีพจรไม่แตกต่างกัน ทั้งก่อนและหลังการบำบัด (P>0.05) แต่ อย่างไรก็ตาม คะแนนความเจ็บปวดและความวิตกกังวลมีค่าแตกต่างกันมากอย่างมีนัยสำคัญ (P>0.05) โดยคะแนนความเจ็บปวดและวิตกกังวลก่อนและหลังการบำบัดผู้ป่วยที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม พร้อมทั้งการฟังดนตรีก่อนและหลังลดลงอย่างมาก เช่นเดียวกับการบำบัดผู้ป่วยที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่ใช้ดนตรีสดบำบัด


สรุปได้ว่า การใช้ดนตรีบำบัดช่วยลดความเจ็บปวดและความวิตกกังวลของกลุ่มตัวอย่างของผู้ป่วยโรคไตที่ทำการฟอกเลือดที่โรงพยาบาลได้ โดยการบำบัดด้วยดนตรีสดและการฟังดนตรีในผู้ป่วยโรคไตที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมให้ผลไม่ต่างกันในด้านของการเปลี่ยนแปลงของความดันเลือดความเจ็บปวด และความวิตกกังวล ดังนั้น การเลือกใช้ดนตรีบำบัดในรูปแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการและความจำเป็นของผู้ป่วยซึ่งต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านงบประมาณ บุคลากร สถานที่ และความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกของโรงพยาบาล รศ.ดร. บุษกร กล่าว