อาการหลงลืมแบบไหนที่ต้องเฝ้าระวัง

อาการหลงลืมแบบไหนที่ต้องเฝ้าระวัง

คุณเคยมีอาการแบบนี้หรือไม่ ลืมโทรศัพท์ ลืมกุญแจ ลืมปิดบ้าน ลืมล็อครถ จะเดินไปซื้อของพอถึงร้านนึกไม่ออกว่าจะมาซื้ออะไร

คุณเคยมีอาการแบบนี้หรือไม่ ลืมโทรศัพท์ ลืมกุญแจ ลืมปิดบ้าน ลืมล็อครถ จะเดินไปซื้อของพอถึงร้านนึกไม่ออกว่าจะมาซื้ออะไร ทั้งๆที่ก็ยังไม่ได้สูงวัย แต่ทำไม? เป็นคนขี้ลืมแบบนี้.... อาการขี้ลืมเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่เลือกเพศเลือกวัย บางคนทำกิจกรรมหลายๆ อย่างในคราวเดียวกัน ทำให้ไม่มีสติ สมาธิกับสิ่งที่ทำอยู่ ก็อาจมีอาการหลงลืมชั่วคราว เช่น ลืมนัด ลืมทานข้าว หรือบางคนอาจมีอาการหลงลืมมากกว่านั้น ลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวาน ชอบถามคำถามเดิมๆ ซ้ำๆ ระดับอาการขี้ลืม หลงลืม ในแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป แล้วอาการแบบไหนที่ต้องเฝ้าระวังบ้าง

พญ. บุษราลักษณ์ ธนวัฒนาเจริญ จาก Addlife Anti-Aging Center ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) กล่าวว่า อาการหลงลืม และความจำเสื่อม เป็นอาการของโรคสมองเสื่อม ซึ่งอาการหลงลืม มีความรุนแรงน้อยกว่าอาการความจำเสื่อม อาการหลงลืมเล็กๆ น้อยๆ อาจเป็นแค่การหลงลืมตามวัย ไม่มีผลต่อการดำรงชีวิตประจำวัน แต่อาการหลงลืมจากสมองเสื่อม จะกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น ใส่เสื้อกลับด้าน จำไม่ได้ว่าใส่เสื้อยังไง อาบน้ำอย่างไร ลืมชื่อคนในบ้าน หลงทางกลับบ้าน เป็นต้น

เมื่อมีอาการเหล่านี้มากๆ อาจต้องนึกถึงโรคสมองเสื่อม ซึ่งมีการแบ่งระดับของโรคสมองเสื่อมออกเป็นดังนี้

1. ระดับอ่อน หรือไม่รุนแรง เรียกว่า สมองเสื่อมเล็กน้อย คือ ลืมเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น เช่น ลืมว่าวางของไว้ที่ไหน จำชื่อคน หรือ สถานที่ที่คุ้นเคยไม่ได้ คล้ายๆ กับอาการหลงๆ ลืมๆ

2. ระดับปานกลาง เสื่อมมากขึ้น คือ ความจำในอดีตยังดี มีความบกพร่องในหน้าที่การงานและสังคมบ้าง ยังช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันได้ การตัดสินใจยังดีอยู่ แต่จะมีความบกพร่องในความเข้าใจ การเรียนรู้ แก้ปัญหา การตัดสินใจ เช่น คำนวณเลขง่ายๆ ไม่ได้ เปิดโทรทัศน์ไม่ได้ ทำอาหารที่เคยทำไม่ได้ ลืมชื่อคนในบ้าน และระยะท้ายของระดับนี้อาจถึงขั้นประสาทหลอน ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องมีผู้ดูแลอยู่ใกล้ชิด

3. ระดับรุนแรง คือ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย แม้แต่กิจวัตรประจำวัน บุคลิกภาพเปลี่ยนกลั้นอุจจาระปัสสาวะไม่ได้
และตัวการหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดความจำเสื่อม (Memory Loss) คือ

• การใช้ยา กลุ่มยาต้านซึมเศร้า ยาแก้แพ้ ยาระงับประสาท ยาคลายเครียด ยานอนหลับ

• การดื่มสุรา สูบบุหรี่ ทำให้ออกซิเจนเข้าสู่สมองลดลง

• การนอน นอนน้อย หรือ หลับไม่สนิท ตื่นบ่อย

• ภาวะซึมเศร้า หรือ เครียด ส่งผลต่อความตั้งใจหรือสมาธิสั้น ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่ทำ

• การขาดสารอาหาร วิตามิน เช่น วิตามิน B, B12 ธาตุเหล็ก

• ประวัติได้รับการกระแทกที่ศีรษะไม่รุนแรง อาจพบมีความจำเสื่อม และมักจะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เนื่องจากสมองบวมลดลง ทำให้เนื้อสมองกลับมาทำงานปกติ

• การเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมักจำเรื่องอดีตได้ แต่จำเรื่องราวที่เพิ่งเกิดไม่ได้ เช่น จำไม่ได้ว่าเพิ่งรับประทานอะไรมาเมื่อตอนกลางวัน

• โรคสมองเสื่อม คือ กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานของสมองที่เสื่อมลงหลายๆ ด้าน ไม่เฉพาะความจำเท่านั้น แต่รวมถึงการบกพร่องด้านการใช้ความคิด การเรียนรู้สิ่งใหม่ การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ พฤติกรรม และบุคลิกภาพ กระทบต่อการดำรงชีวิตทั้งด้านการงาน สังคม และชีวิตประจำวัน

• โรคความดัน เบาหวาน ไขมันสูงหลอดเลือดไม่ดี เลือดเลี้ยงสมองน้อย

• เกิดจากพันธุกรรม คือถ้าคนในครอบครัวเป็น ก็ทำให้มีโอกาสเป็นมากกว่าคนทั่วไปที่ไม่มีประวัติครอบครัว

• อายุที่เพิ่มขึ้น

เหล่านี้คือสาเหตุที่ทำให้ความจำเสื่อม ซึ่งอาการที่ควรเฝ้าระวัง คือ อาการหลงลืมที่เป็นมากขึ้น จากแค่ลืมว่าวางของไว้ที่ไหน ต่อมาเริ่มพูดสิ่งของสลับ เช่น จะพูดถึงโต๊ะ แต่พูดเป็นที่นอน จะเรียกชื่อคนนี้ แต่พูดเป็นชื่ออีกคน ซึ่งถ้าเริ่มมีผลกระทบการทำงาน สังคม ทำสิ่งที่เคยทำไม่ได้ เช่น ทำอาหาร มีอาการหลงลืม คิดแก้ปัญหาตัดสินใจไม่ได้ บุคลิกเปลี่ยนอารมณ์เปลี่ยนง่ายและเร็ว ก็ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่ยังอาจจะแก้ไขได้ ซึ่งเราสามารถป้องกันตนเองไม่ให้มีอาการหลงลืม ความจำเสื่อม ด้วยการดูแลตนเองและปฏิบัติตนด้วยเคล็ดวิธีกระตุ้นความจำ ที่สามารถทำได้ง่ายๆ คือ

1. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด

2. ฝึกบริหารสมอง ทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมองอย่างสม่ำเสมอ เช่น อ่านหนังสือ วาดรูป คิดเลข เล่นเกมปัญหา ฝึกเขียนหนังสือ แปรงฟันข้างที่ไม่ถนัด เปลี่ยนเส้นทางการเดินทางที่เคยทำประจำ

3. หลีกเลี่ยงความเครียดจากการทำงาน หาเวลาไปพักผ่อนต่างจังหวัด

4. การฝึกสมาธิ ทำให้มีความจดจ่อกับสิ่งที่ทำและจำได้มากขึ้น รวมทั้งช่วยลดความเครียดอารมณ์ซึมเศร้า ลดโอกาสเกิดโรคความดันสูง เบาหวาน ช่วยให้นอนหลับดีและไม่ต้องพึ่งยารักษาโรคเหล่านี้

5. รับประทานวิตามินเสริมที่มีส่วนช่วยเรื่องบำรุงสมอง เช่น วิตามิน B B12 Gingko สารสกัดจากใบแปะก๊วย ไขมันโอเมก้า3 เป็นต้น

...รู้อย่างนี้แล้วเราควรรีบมาบริหารสมอง ดูแลและป้องกันเพื่อสุขภาพของสมองที่แข็งแรงกันดีกว่าคะ....