“Whole Food, Plant-Based Diet” เริ่มจากเมนูใกล้ตัว

“Whole Food, Plant-Based Diet” เริ่มจากเมนูใกล้ตัว

Whole foods, plant-based diet คือ การรับประทานอาหารพืชเป็นหลักในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ เป็นหนึ่งในแนวทางการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ

Whole foods, plant-based diet คือ การรับประทานอาหารพืชเป็นหลักในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ เป็นหนึ่งในแนวทางการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในรอบปีที่ผ่านมา และยังคงอยู่ในกระแสความนิยมจากผู้คนจำนวนมากต่างจากแนวทางอื่นๆ เนื่องจากมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นคุณประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้รับประทานอาหารในแนวทางนี้ อาทิเช่น ผลงานการศึกษาของ ดร.ดีน ออร์นิช และ ดร.แมคดูกัล ที่ระบุว่าอาหารพืชเป็นหลักในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาตินั้นสามารถป้องกันและจัดการกับโรคเรื้อรังชนิดต่างๆ ได้



นอกจากจะช่วยในการรักษารูปร่างแล้ว งานวิจัยทางการแพทย์ในหลายสาขายังชี้ให้เห็นว่าการรับประทานอาหารพืชเป็นหลักในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาตินี้ ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง ได้อีกด้วย วิทยาลัยสาธารณสุขแห่งฮาร์วาร์ด (Harvard School of Public Health) แนะนำว่าอาหารที่มีผักและผลไม้เป็นส่วนประกอบหลักนั้นจะช่วยลดค่าความดันโลหิตได้ นักวิจัยจากฮาวาร์ดยังพบว่าผู้ที่รับประทานผักและผลไม้มากกว่าคนทั่วไปเป็นระยะเวลากว่า 14 ปีนั้นมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดน้อยลงอีกด้วย

การรับประทานอาหารพืชเป็นหลักในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติทุกวัน แตกต่างจากแนวทางในการรับประทานแบบอื่นๆ เพราะสามารถทำได้ง่ายและคุ้มค่า ซึ่งแนวทางนี้จะเน้นการรับประทานอาหารที่เน้นพืชเป็นหลักโดยไม่มีการสกัด ไม่มีการขัดสี ไม่มีการแปรรูปใดๆ และลดการรับประทานเนื้อสัตว์กับอาหารแปรรูปให้น้อยลง อาหารธรรมชาติเหล่านี้จะช่วยนำสารอาหารหลักที่ให้พลังงานทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันที่ดีเข้าสู่ร่างกาย โดยไม่ได้เน้นแค่สารอาหารเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นการผสมผสานของสารอาหารที่หลากหลายที่เหมาะสมกับร่างกายของคนเรามาก นอกจากคุณประโยชน์ที่มากมายแล้ว ยังเริ่มต้นได้ง่ายๆ จากพืชผักผลไม้ใกล้ตัว ที่สามารถหาได้ทั่วไปในประเทศไทย

มะพร้าว – ผลไม้ท้องถิ่นมากคุณประโยชน์
นอกจากความชื่นใจดับกระหายแล้ว น้ำมะพร้าวยังประกอบด้วยสารไซโตไคนินเป็นจำนวนมาก ไซโตไคนินเป็นกลุ่มฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมการเจริญเติบโต พัฒนาการ และความแก่ของร่างกายมนุษย์ การดื่มน้ำมะพร้าวจึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีส่วนช่วยรักษาความหนุ่มสาวไว้ได้

ฟักทองและมะละกอ – ขุมทรัพย์ที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ
ผลการศึกษาของสถาบันมะเร็งแห่งชาติในสหรัฐอเมริการะบุว่า ผักผลไม้ที่มีสีเหลืองและส้ม เช่น ฟักทอง มะละกอ และแครอทนั้นอุดมไปด้วยสารเบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีคุณสมบัติในการป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ผักผลไม้เหล่านี้ยังมีคุณประโยชน์อื่นๆ ต่อร่างกายอีกมากมายหลายประการ

ฟักทองจัดว่าเป็นผลไม้ประเภทหนึ่งซึ่งนิยมนำมารับประทานกันทั่วไป โดยใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารคาวหวานหลายชนิด เราสามารถเลือกอิ่มกับเมนูง่ายๆ อย่างเช่น ผัดฟักทองรับประทานกับข้าวกล้อง

นอกจากฟักทองจะประกอบไปด้วยวิตามินเอและแคโรทีนอยด์ ซึ่งช่วยบำรุงสายตาและทำให้การมองเห็นในที่ที่มีแสงน้อยดีขึ้นแล้ว ฟักทองยังอุดมไปด้วยใยอาหารในปริมาณสูง ทำให้รู้สึกอิ่มนานขึ้น จึงเหมาะสำหรับคนที่กำลังควบคุมแคลอรี แคโรทีนอยด์ช่วยกำจัดอนุมูลอิสระ ช่วยลดริ้วรอย ทำให้ผิวตึงกระชับ การรับประทานฟักทองและมะละกอจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี

นอกจากเนื้อฟักทองแล้ว เมล็ดฟักทองก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพและร่างกายด้วยเช่นกัน ในเมล็ดฟักทองอุดมไปด้วยกรดอะมิโนทริปโตเฟนซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยสร้างเซโรโทนิน ซึ่งเป็นหนึ่งในสารที่ทำให้รู้สึกสดชื่นและมีอารมณ์ดี ลองทานเมล็ดฟักทองเป็นอาหารว่าง รับรองว่าคุณต้องรู้สึกมีความสุขมากขึ้นแน่นอน

ผักใบเขียว – อาหารพื้นฐานที่ไม่ควรมองข้าม
สำหรับชีวิตในเมืองอันแสนวุ่นวายและเร่งรีบ การหาผักและผลไม้รับประทานในแต่ละมื้ออาจดูเป็นเรื่องยาก แต่อันที่จริงแล้วสารพัดพืชผักผลไม้ที่มีประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นผักบุ้ง ผักโขม หรือผักคะน้านั้น สามารถหาซื้อได้ง่ายตามซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือในสลัดบาร์ทั่วไป

การปรุงอาหารที่บ้านยังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดหากคุณต้องการควบคุมปริมาณน้ำมัน เกลือ และน้ำตาลด้วยตนเอง
การทำอาหารจากผักสักจานที่บ้านนั้นยังใช้เวลาไม่กี่นาทีเท่านั้น ลองเมนูง่ายๆ อย่างผักบุ้งหรือผักโขมลวกแล้วโรยหน้าด้วยอัลมอนด์บดกับพริกซอย รับประทานพร้อมข้าวกล้องหุงร้อนๆ เพียงเท่านี้คุณก็จะได้สารอาหารที่เต็มเปี่ยม

ผักใบเขียวยังประกอบไปด้วยใยอาหารในปริมาณสูง และช่วยรักษาระบบการย่อยอาหาร เช่น การทำความสะอาด และลดการอักเสบ นอกจากนี้ผักใบเขียวยังช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งและโรคเรื้อรังอื่นๆ ช่วยในการลดน้ำหนักและการรักษาน้ำหนักให้คงที่ ผักสีเขียวเข้ม เช่น พืชในตระกูลผักโขมอุดมไปด้วยธาตุเหล็ก จากผลการศึกษาของกรมวิชาการเกษตรของสหรัฐอเมริกา พบว่าผักโขมที่ปรุงแล้วขนาด 1 ถ้วยตวงมีธาตุเหล็ก 1 มิลลิกรัมซึ่งมากกว่าตับวัวปริมาณ 85 กรัมเสียอีก

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการรับประทานอาหารพืชเป็นหลักในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติแนวทางนี้ ว่าเป็นการทานผักประเภทใบเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งความจริงเรายังจำเป็นต้องเพิ่มพืชผักผลไม้ที่ให้แป้ง เช่น ถั่วเมล็ดแห้ง ข้าวโพด ฟักทอง และข้าวกล้อง ไปในมื้ออาหารด้วย หากทานอาหารในหมวดหมู่นี้ให้ครบทุกชนิด นอกจากจะได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนแล้ว คุณจะสนุก และมีความสุขกับการรับประทานมากขึ้นอีกด้วย