6 อาหารยอดฮิตของเด็กขี้แพ้

ปัจจุบันยังสามารถพบ “เด็กขี้แพ้” ได้บ่อยขึ้น เนื่องจากการใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในขวบปีแรก
รู้หรือไม่ว่า แพ้อาหาร เป็นโรคภูมิแพ้ประเภทหนึ่งที่พบได้มาก นอกเหนือจากโรคภูมิแพ้ผิวหนัง และภูมิแพ้อากาศ (โรคหืด) จากรายงานของสหรัฐอเมริการะบุว่า ประชากรเด็กกว่า 3 ล้านคนเป็นโรคภูมิแพ้อาหาร ทั้งนี้ ปัจจุบันยังสามารถพบ “เด็กขี้แพ้” ได้บ่อยขึ้น เนื่องจากการใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในขวบปีแรก ที่อาจมีระดับการแพ้เกิดขึ้นบ่อยที่สุด ขณะเดียวกัน เด็กไม่จำเป็นต้องแพ้อาหารตั้งแต่เกิด อาจพบการแพ้อาหารบางชนิดเมื่อโตขึ้น
จากสถิติพบอาการแพ้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิง เด็กที่คลอดวิธีธรรมชาติมักจะมีภูมิคุ้มกันในลำไส้แข็งแรงกว่าเด็กผ่าคลอด ส่วนเด็กที่อาศัยในเมืองมีสัดส่วนแพ้อาหารสูงกว่าเด็กที่อยู่ในชนบทอีกด้วย ส่วนหนึ่งจากหนังสือ “ชัยชนะของเด็กขี้แพ้” โดย รศ.พญ.พรรณทิพา ฉัตรชาตรี กุมารแพทย์ระดับปรมาจารย์ เผย 6 อาหารยอดนิยมที่เด็กไทยแพ้ ให้คุณพ่อคุณแม่ได้รู้ทันกันตั้งแต่เนิ่นๆ
1. นมวัว
อาหารที่มีนมวัวเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ขนมปัง มัฟฟิน โดนัท เนย ไอศกรีม โยเกิร์ต ซุปข้น ต้มยำบางอย่าง ไข่กวน พิซซ่า ฯลฯ นอกจากนี้ ยังอาจพบในซาลาเปา ไส้กรอก ขนมครก วุ้นกะทิ ฯลฯ
อาการแพ้นมวัว อาจเริ่มเห็นเมื่อเด็กอายุได้ 1-2 เดือน เพราะเป็นอาหารที่เด็กได้รับเป็นอย่างแรก ต่อจากนมแม่ หากเกิดแบบเฉียบพลัน มักพบผื่นแดง ลมพิษ หลอดลมตีบ ส่วนอาการแพ้แบบค่อยเป็นค่อยไป อาจใช้เวลาเป็นวันหรือสัปดาห์ ซึ่งมักจะส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น ถ่ายเป็นมูกเลือด ฯลฯ เมื่อลูกมีอาการแพ้นมวัว พ่อและแม่จึงต้องเลือกนมผงที่ใช้สำหรับเด็กแพ้นมวัวโดยเฉพาะ ซึ่งราคาสูงกว่าทั่วไป เนื่องจากต้องผลิตด้วยกรรมวิธีพิเศษ จนได้โครงสร้างโปรตีนเล็กลง จนอาจถึงระดับกรดอะมิโน ซึ่งใช้สำหรับกลุ่มเด็กที่มีอาการแพ้โปรตีนในนมวัวอย่างรุนแรง เพราะมีโอกาสแพ้น้อยที่สุด
2. ไข่
ปัจจุบันมีทารกเริ่มแพ้ไข่ตั้งแต่ 4-6 เดือนเลยทีเดียว โดยมากจะมีอาการผิวหนังอักเสบจากการแพ้ พบผื่น ที่แก้ม ข้อพับ ลำตัว คัน และมักพบอาการแพ้ที่เกิดจากไข่ขาวมากกว่าไข่แดง หรือแพ้เฉพาะไข่ดิบไม่แพ้ไข่สุก ทั้งนี้ เด็กมีโอกาสหายแพ้ได้เมื่ออายุ 2-3 ปี และสามารถกินไข่ที่สุกน้อยลงเรื่อยๆ ได้ ดังนั้น พ่อแม่จึงไม่ควรให้ลูกงดรับประทานไข่ทั้งหมด สามารถให้ลูกรับประทานเมนูที่ปรุงไข่สุกแล้ว เช่น คุกกี้ ขนมอบ นอกจากนี้ 90% ของเด็กที่แพ้ไข่ จะรับประทานไก่ได้ มีเด็กเพียง 10% ที่แพ้ทั้งไข่และไก่
3. แป้งสาลี
คือ แป้งที่ทำจากข้าวสาลี หากแพ้แป้งสาลีแล้ว คุณหมอจะให้งดทุกสายพันธุ์ ในเด็กและผู้ใหญ่หากรับประทานแป้งสาลีร่วมกับการออกกำลังกายหนักๆ อาจทำให้เกิดอาการแพ้ที่รุนแรง เกิดลมพิษ หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก ช็อกและเสียชีวิตได้ ดังนั้น แพทย์จึงแนะนำว่า ควรงดออกกำลังกาย 2-4 ชั่วโมงหลังรับประทาน จะป้องกันการแพ้เช่นนี้ได้ แป้งสาลีเป็นส่วนผสมของอาหารหลายเมนู อาทิ เบเกอรี่ อาหารเส้น (ยกเว้นเส้นก๋วยเตี๋ยวสีขาว) อาหารประเภททอด ซาลาเปา ไส้กรอก ขนมไทยบางชนิด ซอสถั่วเหลือง ซีอิ๊ว ผงปรุงรส ฯลฯ ในการเลือกซื้ออาหารควรเลือกแบบไม่มีแป้งสาลี (Wheat Free) โดยเฉพาะ
4. ถั่วลิสง
แม้จะเม็ดเล็ก แต่ทำให้เกิดการแพ้อย่างรุนแรง ขณะตั้งครรภ์คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคถั่วลิสงที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ส่งผลให้สารก่อภูมิในถั่วรุนแรงขึ้น เช่น อบ คั่ว หรือเนยถั่วลิสง (Peanut Butter) แนะนำให้รับประทานเป็นถั่วต้ม ทั้งนี้ เด็กที่แพ้ถั่วลิสงมักรับประทานถั่วแดง ถั่วเขียว หรือถั่วเหลืองได้
5. อาหารทะเล
อาหารทะเลในที่นี้หมายถึง สัตว์น้ำที่มีกระดอง ได้แก่ กุ้ง กั้ง ปู หอย และหมึก การแพ้กุ้งอาจจะไม่ได้แพ้ทั้งตัว แต่แพ้เฉพาะส่วน และไม่แพ้ทุกสายพันธุ์ ในบางรายอาจจะแพ้กุ้งเมื่อโตขึ้น หลังจากเริ่มแพ้ไรฝุ่น เพราะไรฝุ่นมีโครงสร้างโปรตีนคล้ายกับกุ้ง จนอาจกระตุ้นให้เกิดการแพ้กุ้งตามมาด้วย
นอกจากนี้ เมื่อโตขึ้นแล้วรับประทานอาหารที่ใส่สารปรุงแต่ง สารผสม สารปนเปื้อนในกุ้งมากขึ้น ก็อาจส่งผลให้ภูมิคุ้มกันในลำไส้ไม่ค่อยดี จากที่ไม่เคยแพ้ก็แพ้ตอนโตได้ ดังนั้น หากรับประทานกุ้งแล้วมีอาการแปลกๆ สามารถพบแพทย์ให้ทำทดสอบทางผิวหนัง หรือเจาะเลือดได้
6. ผักและผลไม้
อาจรู้สึกคันปาก คันคอ และเกิดผื่น เมื่อให้ลูกน้อยเริ่มกินผัก ควรเริ่มจากผักที่มีสีขาวหรือสีเขียวอ่อนๆ เช่น ผักกาดขาว ฟัก ผักกวางตุ้ง ส่วนผลไม้ เช่น สาลี่ แอปเปิ้ล ไม่เพียงเท่านั้น เด็กบางคนอาจแพ้เฉพาะผลไม้สด เมื่อผ่านกระบวนการความร้อนก็สามารถรับประทานได้ปกติ ผลไม้ที่พบว่ามีเด็กโตและผู้ใหญ่มักแพ้ ได้แก่ เงาะ ลำไย แคนตาลูป เมลอน เชอร์รี่ แม้กระทั่งกล้วย เด็กไทยก็มีแนวโน้มแพ้มากขึ้น
เด็กที่กินแต่นมแม่ ยังไม่ได้รับอาหารอื่นๆ ก็สามารถแพ้อาหารได้เช่นกัน เนื่องจากรับอาหารที่คุณแม่บริโภคผ่านทางนมแม่ มีข้อสังเกตพบว่า หากระหว่างตั้งครรภ์หรือก่อนตั้งครรภ์แม่รับประทานอะไรมากเกินไป เช่น นมวัว ไข่ ก็มีแนวโน้มที่ลูกอาจแพ้ได้เช่นกัน ฉะนั้น คุณแม่ต้องจัดสมดุลเรื่องอาหารการกินให้ดี สำหรับคุณแม่ที่ห่วงเรื่องขาดแคลเซียม แนะนำว่า สามารถเลือกรับประทานแคลเซียมในรูปแบบเม็ดหรือผงเสริมได้ โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณนมให้มากเกินไป