ใช้ยาในทางที่ผิดอาจเสพติดทำลายชีวิต

ใช้ยาในทางที่ผิดอาจเสพติดทำลายชีวิต

แพทย์เตือนขาโจ๋ใช้ยาในทางที่ผิดกลายเป็นสารเสพติดทำลายชีวิต

จากกรณีที่มีการเผยแพร่เรื่องราวผ่านโลกโซเชียล เกี่ยวกับวัยรุ่นใช้ยาแก้ปวด “ทรามาดอล” หรือที่กลุ่มวัยรุ่นเรียกว่า “ยาเขียวเหลือง” เพราะเชื่อว่ากินแล้วจะรู้สึกเคลิ้มมีความสุขไม่เจ็บปวดทุกข์ทรมาน โดยไม่รู้ถึงพิษภัยของการใช้ยาผิดประเภท ซึ่งล่าสุดผู้ป่วยรายนี้มีอาการทางสมองและไม่สามารถลุกเดินได้ หลังจากกินยาชนิดนี้ติดต่อกัน เป็นเวลานาน

นายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า “ทรามาดอล” (Tramadol) เป็นยาแก้ปวดในกลุ่มโอพิออยด์ ออกฤทธิ์เหมือนมอร์ฟีน พบว่ามีการลักลอบขายยาชนิดนี้ให้แก่เด็กวัยรุ่นเพื่อใช้ในทางที่ผิดทั้งการเสพแบบยาเดี่ยวและผสมกับเครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแม้กระทั่งผสมกับน้ำใบกระท่อม และยาต่างๆ เช่น ยานอนหลับ ยาแก้ไอ ยาแก้แพ้อากาศ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “สี่คูณร้อย” จากข้อมูลของสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์พบว่ามีผู้ป่วยที่ติดยาทรามาดอล ปี 2557 มีจำนวน 5 ราย ปี 2558 มีจำนวน 9 ราย และปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 46 ราย เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่ติดยาชนิดสี่คูณร้อยปี 2557 มีจำนวน 50 ราย ปี 2558 มีจำนวน 80 ราย และปี 2559 มีจำนวน 114 ราย จะเห็นได้ว่าสถิติผู้เข้ารับการบำบัดรักษาจากทั้ง 2 กรณีมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี สำหรับยาทรามาดอลในทางการแพทย์ใช้รักษาอาการปวดในระดับรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก มีขนาด 50 มิลลิกรัม และ 100 มิลลิกรัม ซึ่งขนาดที่ร่างกายสามารถรับได้ในปริมาณสูงสุดไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน และมีผลข้างเคียง เช่น อาเจียน มือสั่น ใจสั่น มึนงง ง่วงซึม ประสาทหลอน เป็นต้น หากได้รับยาในปริมาณสูงตั้งแต่ 500 มิลลิกรัม (10 เม็ด) ขึ้นไป จะเกิดอาการรุนแรง เช่น ชัก ไข้สูง ภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย ภาวะลิ่มเลือดกระจายในหลอดเลือด ไตวายเฉียบพลัน และอาจเสียชีวิตได้

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ยาทรามาดอลสามารถทำให้เสพติดได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เนื่องจากยามีฤทธิ์เช่นเดียวกับสารเสพติดประเภทฝิ่น เฮโรอีน หากนำไปใช้ในทางที่ผิดสามารถทำให้ติดได้ และเมื่อใช้ในระยะยาวจะมีผลสะสมต่อสมองทำให้สมองเสื่อมและร่างกายทรุดโทรม ควรใช้ยานี้อย่างระมัดระวังตามแพทย์สั่ง ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตบุตรหลาน

ทั้งนี้ หากไม่สามารถหยุดยาได้เองสามารถปรึกษาสายด่วนยาเสพติด 1165 หรือขอรับคำปรึกษาและบำบัดรักษาได้ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในภูมิภาค 6 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี