‘นั่งนาน...น’ ป่วยง่าย อ้วนเร็ว มีลูกยาก
ใน 1 วันคุณนั่งกี่ชั่วโมง? ยิ่งนั่งอยู่เฉยๆ นานเท่าไหร่ก็ยิ่งเสี่ยงกับความตายมากเท่านั้น เพราะร่างกายเราไม่ได้สร้างมาเพื่อให้นั่งทั้งวัน
ใน 1 วันคุณนั่งกี่ชั่วโมง? นักวิจัยสมาคมวิจัยโรคมะเร็งอเมริกาศึกษาพบว่า คนเราถ้ายิ่งนั่งอยู่เฉยๆ นานเท่าไหร่ ก็ยิ่งเสี่ยงกับความตายมากเท่านั้น โดยเฉพาะสุภาพสตรีมีอัตราเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย มีรายงานว่า การนั่งนานๆ ไม่ต่ำกว่าวันละ 6 ชั่วโมงหรือนั่งมาราธอนเกินกว่า 2 ชั่วโมงจะเสี่ยงกับการเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่นั่งนานไม่เกินวันละ 3 ชั่วโมงถึง 37% โดยจะเสียงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและโรคมะเร็ง
สอดคล้องกับข้อมูลจากคลินิกหัวเฉียวไทย-จีนแพทย์แผนไทย (Huachiew TCM) ว่า ผู้หญิงที่ต้องนั่งทำงานในออฟฟิศเป็นเวลานานๆ อาจทำให้การไหลเวียนเลือดลมติดขัด มดลูกเมื่อถูกยึดไว้ที่ตำแหน่งเดียวเป็นเวลานานๆ อาจเป็นสาเหตุให้ประจำเดือนไหลย้อนผ่านท่อนำไข่กลับไปในช่องท้องจนทำให้เกิดอาการปวดท้อง ปวดเอว ปวดประจำเดือน หรือหากเกิดภาวะปราณติดขัด เลือดที่คั่งจะทำให้หลอดเลือดและระบบต่อมน้ำเหลืองอุดตันได้ง่าย ผลที่ตามมาคือ ท่อนำไข่อุดตัน นอกจากนี้ยังทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกเคลื่อนตัวออกไปเจริญนอกมดลูก กลายเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ซึ่งอาจทำให้โอกาสการตั้งครรภ์ลดลง ทั้งยังมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดและหัวใจมากกว่าคนที่ยืนทำงาน 2 เท่า
MedicalBillingandCoding.org เผยแพร่ผลการสำรวจ พบว่า ค่าเฉลี่ยการนั่ง ไม่ว่าจะเป็น หน้าทีวี หน้าคอมพ์ หน้าโต๊ะทำงาน สูงถึง 9.3 ชั่วโมงต่อวัน มากกว่าเวลานอนซึ่งใช้เพียง 7.7 ชั่วโมง สิ่งที่องค์กรอยากบอกคือ ร่างกายไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อให้นั่งทั้งวัน ดังนั้น ควรลุกขึ้นยืนบ้าง เพราะคนที่นั่งมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันเพิ่มความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตภายใน 15 ปีมากกว่าคนที่นั่งไม่เกิน 3 ชั่วโมงถึง 40% แม้ในคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ
การนั่งนานด้วยท่านั่งที่ “ไม่” เหมาะสมยังเป็นสาเหตุสำคัญที่มีผลต่อสุขภาพและการเจ็บป่วยต่างๆ ทั้งอาการปวดคอ ปวดหลัง เจ็บก้นกบ กระดูกสันหลังเคลื่อนและกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยแพร่บทความอันตรายของการนั่งนานว่า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย สืบเนื่องถึงระดับน้ำตาลในเลือด ไตรกลีเซอไรด์ ไขมันดี ความดันโลหิตและฮอร์โมนเลปตินซึ่งกระตุ้นความอยากอาหาร
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสาเหตุทางชีวภาพของโรคอ้วนและโรคหลอดเลือดหัวใจ นอกจากนี้ การนั่งยังมีส่วนในการทำลายระบบน้ำเหลืองที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อของร่างกาย เนื่องจากท่อน้ำเหลืองไม่ได้มีระบบสูบฉีดเหมือนหัวใจ แต่จะถูกควบคุมด้วยจังหวะการหดตัว-คลายตัวของกล้ามเนื้อขา ดังนั้น เมื่อนั่งนานๆ ระบบน้ำเหลืองจะไม่สามารถทำงานได้
ด้วยเหตุนี้ หนุ่มสาวออฟฟิศต้องพยายามเคลื่อนไหวร่างกาย อาจจะตั้งนาฬิกาเตือนทุกชั่วโมงให้ลุกขึ้นเดินไปโน่นมานี่บ้าง ขยับแข้งขยับขา ยืดเส้นยืดสาย 5-10 นาทีหากนั่งติดต่อกันเกิน 40 นาที หลังเลิกงานหรือในวันหยุดควรหาเวลาไปออกกำลังกาย เดินเล่น หากิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเพื่อให้เลือดลมที่ติดขัดจากการต้องนั่งนานๆ ในวันธรรมดาได้มีโอกาสไหลเวียนอย่างคล่องตัว สำหรับท่านั่งมาตรฐานที่ถูกต้องคือ หลังตรงแบบสบายๆ ตามธรรมชาติ เอนหลัง 135 องศาจะช่วยให้หลังไม่ทำงานหนักเกินไป ไม่เกร็ง หลังไม่งอไม่แอ่นหนัง ไม่ห่อไหล่ ไม่ยกไหล่ ไม่เกร็งหัวไหล่
หากคุณนั่งบนเก้าอี้สูงหรือเก้าอี้มีพนักพิงหลัง ควรพิงพนักเก้าอี้ให้แผ่นหลังแนบพอดี ลำตัวตั้งตรง ปล่อยไหล่สบายๆ ไม่เกร็ง ไม่ยกไหล่ขึ้น ทิ้งน้ำหนักตัวลงบริเวณก้นและสะโพกทั้งสองข้างให้เท่ากัน ไม่เอียงตัวซ้าย หรือขวาด้านใดด้านหนึ่ง ช่วงขาตั้งฉากกับพื้น ทิ้งน้ำหนักลงฝ่าเท้าทั้งสองข้าง ไม่เขย่งเท้า
เมื่อใดที่รู้สึกเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณหลัง บ่า ไหล่ มือแขน และรู้สึกเมื่อยขึ้นเรื่อยๆ นั่นเป็นสัญญาณให้รู้ว่า คุณกำลังนั่งผิดท่า