ท่าเตียน : ประวัติศาสตร์เกื้อกูลความเจริญริมน้ำเจ้าพระยา

ท่าเตียน : ประวัติศาสตร์เกื้อกูลความเจริญริมน้ำเจ้าพระยา

ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีประวัติศาสตร์ 500 ปี พื้นที่นี้ประกอบด้วย ‘วัด วัง ตลาด’ มีความเจริญรุ่งเรืองมาหลายด้าน ผ่านการเปลี่ยนแปลงจาก ‘บางกอก’ มาสู่ ‘กรุงเทพฯ’ ปัจจุบัน ‘ท่าเตียน’ กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ที่นักเดินทางทั้งไทยและต่างชาติไม่พลาดมาเยือน

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เป็นไปตามยุคสมัย ล้วนส่งผลต่อ ‘ชุมชน’ 

เช่นเดียวกับ ท่าเตียน ชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกช่วงที่ไหลผ่านกรุงเทพฯ รับมือกระแสความเจริญมาแล้วอย่างน้อย 500 ปี

ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้บันทึกเรื่องราวความรุ่งเรืองตั้งแต่สมัย กรุงศรีอยุธยา ในฐานะเป็นชุมชนตั้งอยู่บนเมืองท่าขนาดใหญ่ที่ในเวลานั้นชื่อ ‘บางกอก’ และเป็นเมืองหน้าด่านที่มีเรือสินค้ามากมายนำสินค้าทางการเกษตร ตลอดจนสินค้าจากต่างประเทศ เข้ามาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา โดยมี ป้อมวิไชเยนทร์ เป็นด่านเก็บภาษีและเป็นป้อมปราการสำคัญใช้ป้องกันเรือรบต่างชาติที่มาทางทะเลในสมัยนั้น

เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาแตก และสร้างราชธานีใหม่ที่กรุงธนบุรี จนมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ พื้นที่แห่งนี้ยังคงมีความเกี่ยวข้องกับ วัด วัง ตลาด มาโดยตลอด 

‘ท่าเตียน’ จึงเป็นเป็นผืนดินประวัติศาสตร์ที่รุ่มรวยด้วยศิลปวัฒนธรรมหลายแขนง การคมนาคม การค้า การเมืองการปกครอง การศึกษา ตลอดการเปลี่ยนผ่านจาก ‘บางกอก’ มาสู่ ‘กรุงเทพฯ’

หนึ่งในเรื่องราวประวัติศาสตร์สุดลือลั่นริมแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ผืนดินนี้ ป้อมวิไชเยนทร์ คือหลักฐานที่ยังปรากฏให้เห็น 

T2

ป้อมเมืองบางกอกทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีสายโซ่โยงขึงระหว่างป้อม ด้านบนคือป้อมวิไชเยนทร์ (บริเวณโรงเรียนราชินี) ด้านล่างคือป้อมวิไชยประสิทธิ์ บริเวณกองทัพเรือปัจจุบัน

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงว่าจ้างชาวฝรั่งเศสให้ก่อสร้างป้อมปราการขนาดใหญ่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยติดตั้งทั้งปืนใหญ่และขึงโซ่ขวางลำน้ำ เพื่อป้องกันทั้ง บางกอก-เมืองหน้าด่าน และราชธานีกรุงศรีอยุธยาที่อยู่ลึกเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ตามคำกราบบังคมทูลของ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ซึ่งได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นแม่กองสร้างป้อมจนแล้วเสร็จ และทรงตั้งชื่อป้อมตามชื่อแม่กอง หรือที่ชาวบ้านสมัยนั้นเรียกกัน ‘ป้อมบางกอก’

การสร้างป้อมปราการทั้งสองแห่งนี้เอง บางหลักฐานระบุว่า กลายเป็นชนวนเหตุสำคัญให้ เจ้าพระยาโกษาธิบดี(เหล็ก) แม่ทัพคู่พระทัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งพระองค์ถือเสมือนหนึ่งพี่น้องแท้ๆ ต้องโทษโบยอย่างหนักจนถึงแก่อสัญกรรม และทำให้การเมืองยุคนั้นตึงเครียดอย่างที่สุด 

ป้อมวิไชเยนทร์สร้างด้วยสถาปัตยกรรมก่ออิฐฉาบปูน มีกำแพงรูปแปดเหลี่ยม 2 ชั้น สร้างขนานกัน กำแพงชั้นในมีหอคอยกลมทรงสอบ 2 หลัง ตั้งอยู่บนกำแพงตรงมุมด้านทิศเหนือ และทิศใต้ 

T3

ท่าเรือใช้ขนถ่ายสินค้าขึ้น-ลงที่ ‘ท่าเตียน’ ฝั่งตรงข้ามคือวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารและป้อมวิไชเยนทร์ สมัยเริ่มต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ทรงสร้างพระราชวังขึ้นบริเวณป้อมวิไชเยนทร์ฝั่งตะวันตกซึ่งตั้งอยู่ปากคลองบางหลวง(คลองบางกอกใหญ่) ทรงปรับปรุงป้อม และพระราชทานนามใหม่ว่า ‘ป้อมวิไชยประสิทธิ์’ 

ปัจจุบันป้อมวิไชยประสิทธิ์ หรือ ‘ป้อมวิไชเยนทร์ฝั่งตะวันตก’ อยู่ในความดูแลของ ‘กองทัพเรือไทย’ ใช้เป็นสถานที่ยิงสลุตในพระราชพิธีสำคัญ และติดตั้งเสาธงบริเวณทางเข้าป้อมทางทิศตะวันตกตรงกำแพงชั้นใน เพื่อเชิญธงราชนาวีและธงผู้บัญชาการทหารเรือ

ส่วนป้อมวิไชเยนทร์ฝั่งตะวันออก มีบันทึกว่าถูกรื้อลงในสมัยสมเด็จพระเพทราชา ปัจจุบันคือที่ตั้งของโรงเรียนราชินี

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงขึ้นครองราชย์ ทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรี ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ข้ามมาอยู่ทางฝั่งตะวันออก ซึ่งก็คือบริเวณ ‘ท่าเตียน’ นั่นเอง 

การย้ายเมืองหลวงครั้งนี้ทำให้ ‘ท่าเตียน’ ซึ่งเดิมเป็นท่าเรือและตลาด เปลี่ยนรูปโฉมครั้งใหญ่

รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการก่อสร้างพระนครใหม่ ย้ายสถานที่ราชการ ขยายและขุดคลองรอบกรุงขึ้นใหม่ สร้างกำแพงเมืองป้อมใหม่ รวมทั้ง พระบรมมหาราชวัง หรือ ‘พระราชวังหลวง’ เพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองของประเทศและเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยา 

สิ่งปลูกสร้างภายใน ‘พระบรมมหาราชวัง’ ประกอบด้วยพระราชมนเทียร พระมหาปราสาท เปลี่ยนเสาระเนียดจากเครื่องไม้เป็นก่อกำแพงอิฐ สร้างประตูรายรอบพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนสร้างพระอารามในพระราชวังหลวง คือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) 

ปัจจุบันทั้ง ‘พระบรมมหาราชวัง’ และ ‘วัดพระศรีรัตนศาสดาราม’ กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของประเทศไทยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาชื่นชมความวิจิตรของสถาปัตยกรรมไทยทั้งแบบจารีตนิยมและผสานรูปแบบตะวันตกอย่างมีเอกลักษณ์ เป็นรายได้ให้ลูกหลานไทยเก็บกินไม่รู้จบ

ประตูอันสูงสง่ารอบพระบรมมหาราชวัง มีทั้ง ‘ประตูชั้นใน’ และ ‘ประตูชั้นนอก’ ล้วนตั้งชื่อคล้องจองกัน 

นักอ่านวรรณกรรมคงคุ้นเคยกับชื่อ ประตูช่องกุด ประตูชั้นนอกที่เล่าวิถีชีวิตของชุมชนโบราณผ่าน ‘สาวชาววัง’ ซึ่งมีกิริยางดงาม แต่งกายสวยงามเรียบร้อยทุกกระเบียดนิ้ว มักใช้ประตูนี้เดินเข้าเดินออกเพื่อซื้อของใช้ หนุ่มๆ ในสมัยนั้นจึงไม่พลาดที่จะมาดักรอขอเกี้ยว จนเป็นที่มาของคำว่า ‘เจ้าชู้ประตูดิน’ เพราะด้านหลังประตูช่องกุดมีตลาดเล็กๆ เป็นแหล่งรวมสินค้าชั้นดี ทั้งสไบ ปิ่นปักผม หวี พัดราคาแพง

ใครเป็นนักอ่านตัวยง เมื่อไปถึงท่าเตียน จึงมักไม่พลาดที่จะต้องไปให้ถึง ‘ประตูช่องกุด’

31858527-low

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

‘ท่าเตียน’ ยังเป็นที่ตั้งของ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ตามประวัติสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงสมัยกรุงธนบุรี และเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ในอดีต สรรพวิชาต่างๆ สงวนไว้เป็นตำรับตำรา-วิชาของตระกูล จนมาในสมัย ‘รัชกาลที่ 3’ ทรงโปรดให้นำสรรพวิชาจารลงหินอ่อนและสมุดไทย ติดประกาศไว้ที่วัดโพธิ์ เพื่อให้คนไทยทุกชนชั้นได้เข้าถึงความรู้อย่างเท่าเทียมกัน เพราะในเวลานั้น ‘วัดโพธิ์’ คือวัดกลางเมือง ใกล้ตลาด ผู้คนพลุกพล่าน วัดโพธิ์จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น มหาวิทยาลัยแห่งแรก ของไทย 

‘ยูเนสโก’ ขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์จำนวน 1,440 ชิ้น เป็นมรดกความทรงจำโลกในทะเบียนนานาชาติ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2554

31858543-low

ภายในวัดโพธิ์มีสิ่งก่อสร้างสำคัญมากมาย อาทิ วิหารพระพุทธไสยาส พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล พระวิหารทิศ พระเจดีย์หมู่ห้าฐานเดียว พระมหาสถูป รูปปั้นฤาษีดัดตน ฯลฯ  และ ‘ยักษ์วัดโพธิ์’ ประติมากรรมที่กลายเป็นหนึ่งเรื่องเล่าที่มาของชื่อ ‘ท่าเตียน’

ความก้าวหน้าในเรื่องคมนาคม ‘ท่าเตียน’ ยังเป็นพื้นที่แรกของกรุงเทพฯ ที่ รถรางแห่งเมืองบางกอก ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทยในสมัย ‘รัชกาลที่ 5’ จากการก่อสร้างของชาวเดนมาร์กในปีพ.ศ.2430

รถรางคันแรกเคลื่อนที่ไปด้วยการใช้ม้าลาก จากนั้นได้มีการเปิดดำเนินกิจการ รถรางไฟฟ้า ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2437

T1

รถรางสายแรกแห่งเมืองบางกอกแล่นผ่าน ‘ท่าเตียน’

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง สัมปทานการเดินรถรางไฟฟ้าสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2492 รัฐบาลในขณะนั้นเข้าไปดำเนินกิจการต่อในนาม บริษัทการไฟฟ้ากรุงเทพฯ จำกัด สังกัดกรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2493

แต่หลังจากมีการพัฒนาบ้านเมืองขนานใหญ่เกิดขึ้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พร้อมกับนโยบายให้เลิกการเดินรถรางและรถสามล้อถีบในเขตพระนคร-ธนบุรี รถรางจึงค่อยๆ ลดบทบาทลง และเลิกเด็ดขาดในเขตเมืองหลวงเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2511 รวมเวลาที่คนกรุงมีรถรางใช้นับได้ 80 ปี

T6

รถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสนามไชย สิ่งอำนวยความสะดวกสมัยใหม่ย่านท่าเตียน-ปากคลองตลาด

ทว่า ในปีพ.ศ.2557 ‘รถรางไฟฟ้า’ กลับคืนสู่ ‘ท่าเตียน’ อีกครั้งในรูปของ รถไฟฟ้าใต้ดิน กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ โดยมี สถานีสนามไชย ซึ่งได้รับการตกแต่งด้วยงานสถาปัตยกรรมไทยอย่างงดงาม ออกแบบโดย รศ.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(สถาปัตยกรรม)พ.ศ.2537 เป็นสถานีที่จะนำผู้คนเข้าสู่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน

‘วังเจ้านาย’ ถือเป็นแหล่งกำเนิดศิลปวัฒนธรรมแขนงต่างๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือ ‘ศิลปการแสดง’ ด้วยความเป็นที่ตั้งของวังหลายแห่ง ‘ท่าเตียน’ จึงมีประวัติเกี่ยวพันกับการแสดงสมัยใหม่ด้วย นั่นก็คือ ปรินซ์เธียเตอร์ โรงละครแบบฝรั่งครั้งแรกของไทย

ปรินซ์เธียเตอร์ เป็นโรงละครของ เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง(เพ็ง เพ็ญกุล) ในสมัย ‘รัชกาลที่ 4’ ท่านเจ้าพระยาฯ เป็นอุปทูตไปอังกฤษ และได้รับอิทธิพลจาก ‘ลอนดอน เธียเตอร์’ จึงนำแบบละครยุโรปมาปรับปรุง ‘ละครนอก’ ให้มีแนวทางแปลกออกไป แต่งกายประณีต กลายเป็นการแสดงละครแนวใหม่ เรียก ‘ละครพันทาง’ จับเนื้อเรื่องวรรณคดีไทยต่างๆ มาผสมรวมกัน

คณะละครนี้เดิมชื่อ Siamese Theatre เป็นละครที่เล่นอยู่กับบ้านตามความพอใจเจ้าของวัง และเล่นรับรองในยาม ‘แขกเมือง’ เยือนพระนคร ชาวบ้านก็พลอยได้ดูด้วย 

จนเมื่องานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปี(พ.ศ.2425) เจ้าพระยามหินทรฯ นำละครไปร่วมแสดง ณ ท้องสนามหลวง และริเริ่มการแสดงละครเก็บเงิน (ตีตั๋ว) ที่โรงละครเป็นครั้งแรก

การจัดแสดงละครตีตั๋วของเจ้าพระยามหินทรฯ ก่อให้เกิดคำว่า ‘วิก’ เนื่องจากละครแสดงเวลาเดือนหงาย เดือนละ 1 สัปดาห์ หรือ 1 วีค (week) ชาวบ้านมักพูดกันว่า “วิก” คือไปสุดสัปดาห์ด้วยการไปดูละครของท่านเจ้าพระยาฯ

T4

อาคารพาณิชย์ยุคแรกของท่าเตียน(และของกรุงเทพฯ) เมื่อเปลี่ยนมาค้าขายบนบก

ในรัชสมัย ‘รัชกาลที่ 5’ กรุงเทพฯ เข้าสู่การเป็นเมืองสมัยใหม่ มีการตัดถนนหนทางและเกิดสาธารณูปโภคใหม่ๆ 

ช่วงเวลานั้น ‘รัชกาลที่ 5’ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อ ‘ศาลต่างประเทศ’ และ ‘บ้านพักข้าราชการชาวต่างชาติ’ ที่ท้ายวัดโพธิ์ และสร้าง ตึกแบบนีโอคลาสสิก ล้อมตลาด เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบพระบรมมหาราชวัง ให้เป็นระเบียบสวยงาม 

714794-high

กลุ่มตึกแถวท่าเตียนแบบนีโอคลาสสิก

กลุ่มตึกแถวท่าเตียน จึงนับเป็น กลุ่มอาคารพาณิชย์ในยุคแรกของสยามที่ได้รับอิทธิพลตะวันตก และสะท้อนการ ‘วางระบบผังเมือง’ ในยุคแรกๆ ที่เริ่มเปลี่ยนจากการค้าขายริมน้ำ มาเป็นการค้าขายบนบก และกระจายตัวไปตามเส้นทางถนน

ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ท่าเตียนเป็นแหล่ง ‘ค้าส่ง’ หรือที่เรียกว่า ยี่ปั๊ว แหล่งเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ยี่ปั๊วหมายถึงพ่อค้าคนกลาง คือคนที่ไม่ได้ผลิตสินค้าเอง แต่รับสินค้ามาจากผู้ผลิตแล้วนำไปขายให้กับพ่อค้าปลีก (ซาปั๊ว) อีกต่อหนึ่ง

Tha31858410

จินเชียงเส็งพานิช

ด้วยรูปลักษณ์อาคารที่งามอย่างอดีต ประกอบกับยุคสมัยที่ผ่านไป ทายาทยี่ปั๊วบางแห่งปรับเปลี่ยนธุรกิจไปในทิศทางใหม่ แต่ยังคงรักษากลิ่นอายธุรกิจของบรรพบุรุษไว้ ดังตัวอย่างของโรงงานน้ำตาลปี๊บเก่าแก่แห่งท่าเตียน จินเชียงเส็งพานิช ทายาทรุ่นที่สามได้ดัดแปลงโรงงานน้ำตาลปี๊บเป็นที่พักและร้านอาหาร โดยใช้เครื่องไม้เครื่องมือและเครื่องจักรที่เคยอัดบีบปี๊บน้ำตาลมะพร้าวมาตกแต่งสถานที่ เป็นเอกลักษณ์ที่มีเสน่ห์ รวมทั้งพิมพ์ ‘ใบปิดปี๊บ’ ที่มีลายเส้นและลวดลายย้อนยุคอย่างที่เคยใช้งานจริง วางจำหน่ายเป็นของที่ระลึก ได้รับความนิยมเป็นอันมากจากนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งชื่นชอบงานเรโทรต้องแวะไปเยือน

นอกจากการขายส่ง ยังมีสินค้าแปรรูปหลายชนิดที่ชาวท่าเตียนผลิตเอง หนึ่งในสินค้าขึ้นชื่อคือ ไข่เค็มท่าเตียน ของร้าน อี้ฮงไท่ ตั้งอยู่ในตลาดท่าเตียน ขายส่งทั่วกรุงเทพฯ มานานกว่า 80 ปีตั้งแต่รุ่นปู่ และยังคงทำไข่เค็มด้วยสูตรเดิม

Tha31858464-low

อี้ฮงไท่ ร้านขายไข่เค็มแห่งท่าเตียน

Tha31858430-low

ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลตากแห้ง สินค้าดั้งเดิมในตลาดท่าเตียน

แม้แต่ กะปิ ก็ทำกันที่ท่าเตียน ร้านทำกะปิเก่าแก่ของท่าเตียนคือ เจริญวัฒนา ในซอยเพ็ญพัฒน์ บริการทั้งขายส่งและขายปลีก

ปัจจุบัน ‘ท่าเตียน’ กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมา โบราณสถาน แหล่งพักผ่อนสังสรรค์ยามค่ำคืน บูติคโฮเต็ล ที่นักเดินทางทั้งไทยและต่างชาติไม่พลาดมาเยือน

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตท่าเตียนในพ.ศ.นี้ ชุมชนที่เต็มไปด้วยความงามและเรื่องราวประวัติศาสตร์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ที่ซึ่ง ความเจริญกับ รากเหง้าทางประวัติศาสตร์พึ่งพากันและกัน