พิเภกสวามิภักดิ์ : บทร้อง ท่ารำ กระบวนรบ..ยิ่งใหญ่-กินใจ
การแสดงปีนี้เน้นบทร้อง-ความวิจิตรของท่ารำจากครูนาฏศิลป์วังต่างๆ บทร้อง-บทเจรจามีหลายอารมณ์ เครื่องประกอบฉากที่สร้างขึ้นใหม่คือ 'เรือสำเภา' ที่โล้ส่งพิเภกออกจากกรุงลงกา
มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดการแสดงโขนประจำปี 2561 ตอน : พิเภกสวามิภักดิ์ ตามพระราชเสาวณีย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงให้จัดการแสดงโขนขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่าให้คงอยู่ตลอดไป
สำหรับการแสดง ตอน : พิเภกสวามิภักดิ์ ในปีนี้ได้นำบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ฉบับต่างๆ อาทิ บทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 2, รัชกาลที่ 6 มาสอดประสานปรับปรุงการดำเนินเรื่องให้กระชับเหมาะสมกับปัจจุบัน แต่ยังคงอนุรักษ์ศิลปะการแสดงแบบ โขนหลวง ไว้อย่างครบถ้วนผ่านการปรึกษาระหว่าง ครูบาอาจารย์โขน ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากครูโขนแต่ละวัง
“บทปีนี้ยากมาก เป็นบทผสมผสานของรัชกาลที่หนึ่ง รัชกาลที่สอง รัขกาลที่หก เลือกบทที่ไพเราะที่แปลกที่กินใจ อย่างตอนท้องพระโรงกรุงลงกา ผมใช้บทรัชกาลที่หนึ่ง พอถึงบทขับพิเภก ผมใช้บทรัชกาลที่หก (พิเภก)ลาเมีย..ผมใช้บทรัชกาลที่หก ตอนพิเภกนั่งสำเภา ผมใช้บทรัชกาลที่สอง บางทีบทพระราชนิพนธ์แต่ละตอนโยงกันไม่ได้ ผมต้องแต่งเพิ่มเพื่อให้เชื่อมกันอย่างกลมกลืนและร้อยต่อเนื่องกัน” อาจารย์ประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้กำกับการแสดงโขนพระราชทาน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ กล่าว
“บทถวายพระพร ผมแก้แล้วแก้อีก อยากให้ฟังบทนำก่อนการแสดง ผมแต่งขึ้นมาโดยเฉพาะในงานนี้ เรียกบทเฉลิมพระเกียรติ คุณครูทัศนีย์(ทัศนีย์ ขุนทอง) ศิลปินแห่งชาติคีตศิลป์ ด้านการขับร้อง ท่านถอดใจนำเพลงที่ไพเราะที่สุดมาใส่ ผมก็พูดกับท่านผู้หญิง(ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ)ว่า ไม่รู้ผมจะแต่งใหม่ได้ไหม เพราะผมแต่งด้วยใจ กว่าจะแก้ออกมาได้ ต้องเงียบๆ ผมแต่งตีสามตีสี่ แต่งเป็นกลอนแปด จำนวน 4 บท”
การขับร้องปีนี้ได้รับการปรับใหม่ ก่อนนี้มี ต้นเสียง คือคนร้องนำ โบราณใช้ลูกคู่เป็นผู้หญิงหมด ครั้งนี้คนร้องนำเป็นชาย ลูกคู่เป็นผู้ชายทั้งหมด ซึ่งไม่เคยปรากฏในวงการนาฎศิลป์ไทย
“เราเห็นว่าเมื่อก่อนคนขับร้องชายหายาก แต่ตอนนี้เราสามารถปั้นเด็กได้ เราก็เลยให้เป็นต้นเสียงและเป็นลูกคู่ไปด้วยเลย ต่อไปเขาเป็นลูกคู่ชำนาญ เขาก็ขึ้นมาเป็นต้นเสียงได้” อ.ประเมษฐ์ ขยายความเหตุใดจึงปรับการขับร้องใหม่
เช่นเดียวกับ ท่ารำ ก็ได้รับการปรับเปลี่ยน ไม่หยุดนิ่งอยู่กับ ‘ท่ารำเดิม’ ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ได้รับความเมตตาจากครูบาอาจารย์โขนทุกท่าน
“กระบวนท่ารำบางท่า เรามองมุมหนึ่ง แต่ครูบาอาจารย์โขนท่านก็จะมองในอีกมุม ก็เรียนถามท่าน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ทุกท่านมีวิสัยทัศน์ที่ดี อย่างเช่นท่า ‘ชั่งใจ’ ครูบาอาจารย์บางท่านใช้ ‘ชั่งใจ’ แบบนี้ (ยกแขนระดับข้อศอก หงายฝ่ามือทั้งสองข้าง ยกขึ้นลงสลับกัน) แต่ครั้งนี้เราใช้ ‘ชั่งใจ’ แบบการยกตาชั่งจีนขึ้นแบบใช้มือเดียวหยิบขึ้นตรงๆ ครูบาอาจารย์ท่านลึกซึ้งถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เราจดจำท่าและนำมาเลือกใช้ให้เหมาะสม ต้องปรึกษากัน ท่านี้ดีกว่าไหม ซึ่งมีเหตุผลว่าอะไรที่จะเหมาะสมและยึดถือจารีตประเพณี”
อาจารย์ประเมษฐ์ กล่าวว่า ครูบาอาจารย์โขนในการแสดงโขนพระราชทาน มูลนิธิศิลปาชีพฯ มาจากหลาย วัง แต่ละท่านได้รับถ่ายทอดจากครูโขนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะตน อาทิ ครู รัจนา พวงประยงค์ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง(นาฏศิลป์ไทย-ละคร)พ.ศ.2554 ท่านสืบทอดมาจากครูเจริญจิต ภัทรเสวี ซึ่งเป็นละครของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์, ครู รัตติยะ วิกสิตพงศ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ไทย) พ.ศ.2560 สืบทอดมาจากครูลมุล ยมะคุปต์ ซึ่งเป็นละครวังสวนกุหลาบ, ครูโขนยักษ์ สมศักดิ์ ทัดติ สืบทอดจากครูอร่าม อินทรนัฎ ซึ่งสืบทอดมาจากคุณหญิงนัฏกานุรักษ์ (เทศ สุวรรณภารต) และก็มีครูบาอาจารย์ในกรมศิลปากรซึ่งเป็นที่รวมของครูบาอาจารย์ที่ยอดที่สุดของประเทศ
“นาฎศิลป์ไทย เราถือเรื่องรุ่นที่สืบทอดต่อกันมาเป็นชั้นๆ แต่ละท่านก็ได้รับถ่ายทอดจากครูคนไหนๆ ท่านก็จะมีกลเม็ดเด็ดพรายไม่เหมือนกัน แต่ทั้งหมดมาจากละครหลวงในรัชกาลที่สอง” อ.ประเมษฐ์ กล่าว
ปีนี้ยังปรับเปลี่ยนไปถึง กระบวนท่ารบของยักษ์-ลิง โบราณเดินหน้า-ถอยหลังเข้าออกเผชิญหน้ากันตรงๆ แต่ครั้งนี้ หมุนเป็นวงกลม ซึ่งอาจารย์ประเมษฐ์กล่าวว่า เพื่อให้เห็นภาพที่งดงามขึ้นมาและไม่ให้ศิลปะตายอยู่กับที่ แต่สามารถพัฒนาได้
กระบวนท่ารบยักษ์-ลิงที่หมุนเป็นวงกลม (ตอนที่ 4, สนามรบ) สวยงามยิ่งใหญ่ สมคำอาจารย์ประเมษฐ์
การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประจำปี 2561 ตอน : พิเภกสวามิภักดิ์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายนถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2561 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซื้อบัตรเข้าชมได้ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา โทร.0 2262 3456 หรือ www.thaiticketmajor.com บัตรราคา 420/ 620/ 820/ 1,020/ 1,520 และ 1,820 บาท รอบนักเรียน นักศึกษา บัตรราคา 200 บาท (หยุดการแสดงทุกวันจันทร์) ดูรายละเอียดได้ที่ Facebook : Khon Performance โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
การแสดงปีนี้เน้นบทร้อง-ท่ารำจากครูนาฏศิลป์วังต่างๆ บทร้อง-บทเจรจามีหลายอารมณ์ ฉากพิเภกลาเมียและลูกอาจทำให้เสียน้ำตา ฉากทศกัณฐ์เรียกพิเภกออกมาหน้าทัพโดยมี ‘3 จำอวด’ เป็นลูกคู่เรียกเสียงหัวเราะจากการหยิบจับเรื่องร้อนในโซเชียลมีเดียเข้าไปสอดแทรกไว้อย่างพอเหมาะ
โดยเฉพาะ ฉากพิเภกถอดมงกุฎฝากนางตรีชฎาไปคืนทศกัณฐ์ ก็ไม่เคยมีมาก่อน เราได้เห็นตัวละครโขนถอดมงกุฎบนเวที เห็นคุณธรรมของพิเภกที่ไม่ยึดติดลาภยศ
ถึงถูกขับไล่(เพราะซื่อสัตย์) แต่ก็ไปอย่างไม่อายฟ้า
อาจารย์ประเมษฐ์ บุณยะชัย