‘ปวดเมื่อย’ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ส่งสัญญาณโรคกระดูกสันหลัง
อาการปวดที่ไม่สัมพันธ์กับกิจกรรมใดๆ อยู่เฉยๆ ก็ปวด กินยาคลายกล้ามเนื้อหรือนวดแล้วก็ไม่หาย หรือปวดหลังร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ส่งสัญญาณโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หากพบแพทย์เร็วก็สามารถจบโรคได้เร็ว
อาการปวดหลังร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ซึ่งจะปวดมากเวลาเดิน ต้องหยุดเดินเป็นระยะๆ เป็นอาการเด่นของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ปวดมากหรือปวดน้อยขึ้นอยู่ว่าเส้นประสาทถูกกดมากหรือน้อยเป็นสำคัญ ถ้าทิ้งไว้นานอาการชาและอ่อนแรงของขาซีกนั้นจะเริ่มเด่นชัดขั้นจนถึงขยับไม่ได้ อาการทั้งหมดจะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป
หากยังไม่ชัดเจนถึงอาการของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท นายแพทย์ภัทร โฆสานันท์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านโรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายเพิ่มเติมว่า อาการปวดที่ไม่สัมพันธ์กับกิจกรรมใดๆ อยู่เฉยๆ ก็ปวด กินยาคลายกล้ามเนื้อหรือนวดแล้วก็ไม่หาย ควรมาพบแพทย์เพราะโรคนี้ถ้าพบเร็วก็สามารถจบโรคได้เร็ว แต่หากยิ่งปล่อยให้หนักก็จะรักษายุ่งยากขึ้นและโอกาสหายเป็นปกติก็ยากขึ้นด้วย
“ผู้ป่วยโรคนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งผู้สูงอายุที่กระดูกเสื่อมตามวัยและวัยหนุ่มสาวที่มีพฤติกรรมทำร้ายกระดูกสันหลัง เช่น เล่นกีฬาหักโหม ยืนก้มยกของหนัก นั่งนานต่อเนื่องเกินกว่า 6-7 ชั่วโมง ซึ่งข้อกระดูกส่วนเอวถูกกดทับมาก ยิ่งนั่งนานแรงกดยิ่งมาก ตลอดจนอุบัติเหตุกระแทกบริเวณกระดูกสันหลังบ่อยๆ ทำให้กระดูกสันหลังเสื่อมเร็วขึ้น” นายแพทย์ภัทร กล่าว
สิ่งสำคัญคือ มีงานวิจัยมาแล้วว่า “ก้มพร้อมกับบิด” เป็นพฤติกรรมเสี่ยงสูงสุด เช่น นั่งบิดตัวเอื้อมไปยกของด้านหลัง ฉะนั้น เวลาจะยกของต้องให้หลังอยู่ในแนวตรงด้วยการนั่งยองๆ แล้วยกของพร้อมกับยืน
ทั้งนี้ หมอนรองกระดูกไม่ได้เป็นกระดูก แต่จะเป็นเหมือนเจลใสๆ มีหน้าที่รับแรงกระแทก เมื่อใช้งานเป็นเวลานาน น้ำในหมอนรองกระดูกก็เริ่มแห้ง ไม่ค่อยยืดหยุ่นและเริ่มกรอบปริแตกแล้วยื่นออกมากดทับเส้นประสาท จึงเป็นเหตุให้เกิดอาการชา ไม่มีแรง ปวดร้าวและรู้สึกเหมือนถูกไฟช๊อต ร่างกายมีความพยายามช่วยเหลือตัวเองอยู่แล้ว เช่น ใช้กล้ามเนื้อหลังมาช่วยหมอนรองกระดูกแบกรับน้ำหนัก สิ่งที่เกิดตามมาคือ ปวดเมื่อยหลังเรื้อรัง ไม่ทำอะไรก็ปวด บางคนบอกว่า ปวดเมื่อยง่ายมาก ทำอย่างไรก็ไม่คลายปวด อาการเหล่านี้ต้องพึงระวังเพราะอาจมีสิ่งผิดปกติเกิดกับหมอนรองกระดูกหรือข้อต่อกระดูกสันหลัง
“หากคุณมีอาการปวดเมื่อยที่เป็นสัญญาณเตือน บวกกับมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น นั่งนาน ถือว่ามีความเสี่ยงต่อภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อม แม้จะเป็นแค่ความเสี่ยงที่ยังไม่เสื่อมก็ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อไม่ให้เกิดโรค หรือบางคนที่เพิ่งเสื่อมเล็กน้อยก็สามารถรักษาให้ใกล้เคียงปกติได้มากสุด” คุณหมอกล่าว
ขั้นตอนการวินิจฉัยจะเริ่มจากตรวจว่า ตำแหน่งที่ปวดอยู่แค่กล้ามเนื้อหรือกระดูกสันหลัง จากนั้นในเคสที่สงสัยว่าหมอนรองกระดูกทรุดตัวก็ตรวจยืนยันด้วยการเอกซเรย์ ส่วนเคสที่สงสัยว่าหมอนรองกระดูกอาจปลิ้นยื่นออกมาก็จะส่งไปทำเอ็มอาร์ไอ ซึ่งจะทำให้เห็นกระดูกและหมอนรองกระดูกที่ยื่นออกมาว่ามากน้อยแค่ไหน
การรักษาในกลุ่มโรคนี้แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน เริ่มจากการประคับประคองตามอาการจนถึงผ่าตัด ประกอบด้วย การใช้ยาที่ช่วยให้คนไข้สบายตัว เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ ยาจำเพาะที่ช่วยบรรเทาการชอกช้ำของเส้นประสาทซึ่งจะทำให้อาการปวดชาในบางคนดีขึ้นได้ ถัดมาคือกายภาพบำบัดที่ช่วยให้สบายตัวขึ้นและฟื้นฟูสภาพ เช่น การดึงยกกระดูกเพื่อให้หมอนรองกระดูกกลับเข้าที่ในกรณีที่อาการไม่แย่มาก กายภาพบำบัดรวมถึงการดึงยกกระดูกจะช่วยบรรเทาปวดได้ 1-2 เดือน เมื่อถึงจุดหนึ่งอาการปวดจะกลับมาและรุนแรงขึ้น ระยะเวลาที่หายปวดก็สั้นลงเรื่อยๆ
“สเตปถัดมาสำหรับคนที่เป็นมาก ปวดชาเดินไม่ได้ ยกขาไม่ขึ้น ทำกายภาพบำบัดแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น การฉีดยาลดการอักเสบเข้าโพรงประสาทสันหลังเพื่อให้เส้นประสาทที่บวมช้ำยุบตัว ถ้ายังไม่หายจริงๆ ก็จำเป็นต้องผ่าตัด ซึ่งแยกเป็นการผ่าตัดแผลเล็กและการผ่าตัดส่องกล้อง เหมาะกับหมอนรองกระดูกที่ยื่นไม่มากหรือเพิ่งยื่นออกมาและเนื้อหมอนรองกระดูกส่วนที่เหลือยังดีอยู่” คุณหมอภัทร กล่าว
คนไข้ส่วนมากกังวลว่า หลังผ่าตัดแล้วจะเดินได้หรือไม่นั้น คุณหมอ กล่าวว่า มีความเสี่ยงจริงอย่างที่คนไข้กังวล เพราะพื้นที่ผ่าตัดอยู่ใกล้เส้นประสาท ในสมัยโบราณที่ยังไม่มีเทคโนโลยีช่วย อีกทั้งศัลยแพทย์ไม่มีประสบการณ์มากพอ ตลอดจนกายวิภาคของคนไข้ไม่เหมือนคนทั่วไป จึงมีความเสี่ยงที่จะโดนเส้นประสาท ทำให้ขยับขาไม่ได้ แต่ต่อมามีเทคโนโลยีช่วยให้ปลอดภัยขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การเอกซเรย์ดูตำแหน่งสกรูยึดข้อกระดูก เครื่องซีทีสแกน เนวิเกเตอร์นำทางและหุ่นยนต์ชี้พิกัด
ทั้งนี้ การผ่าตัดกระดูกสันหลังมากกว่าครึ่งหนึ่งจะใส่สกรูในกระดูกสันหลัง ซึ่งบริเวณที่สามารถฝังสกรูโดยไม่เป็นอันตรายต่ออวัยวะสำคัญอื่นๆ จะค่อนข้างเล็ก มีพื้นที่ใหญ่กว่าตัวสกรูไม่ถึง 1 มิลลิเมตร หากศัลยแพทย์ไม่มีความชำนาญอาจเกิดความผิดพลาดในการใส่สกรู ทำให้ผู้ป่วยต้องเป็นอัมพาตได้
หุ่นยนต์เรเนซองส์ช่วยผ่าตัดกระดูกสันหลัง ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐ จะประมวลผลจากข้อมูลซีทีสแกนร่วมกับภาพเอกซเรย์ ช่วยหาตำแหน่งปักสกรูบริเวณหลังของผู้ป่วย ทำให้แพทย์รู้ตำแหน่งและรายละเอียดของกระดูกสันหลังของผู้ป่วยในทุกตำแหน่งและทุกมิติที่ใส่สกรู จึงช่วยลดความผิดพลาดได้มากถึง 98.7-99.7 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีกเกือบเปอร์เซ็นต์ที่เหลือซึ่งเลื่อนไปไม่ถึงมิลลิเมตรนั้น พลาดอย่างไรก็ไม่เป็นอันตรายต่อเส้นประสาท
“ข้อบ่งชี้หลักๆ ของผู้ป่วยที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดคือ ปวดรุนแรงจนทนไม่ได้ ขยับตัวไม่ได้ ผู้ที่เริ่มมีอาการเส้นประสาทหยุดทำงาน ขาเริ่มอ่อนแรงจึงต้องผ่าตัดก่อนที่เส้นประสาทจะตายหรือเสียสภาพไป และผู้ที่รักษามาทุกอย่างแล้วไม่หายจริงๆ” นายแพทย์ภัทร กล่าว
ผู้ที่มีความเสี่ยงต้องปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเพื่อไม่ให้ตัวโรคแย่ลง ต้องดูแลรักษากระดูกสันหลัง หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่สร้างภาระกับหลังมากๆ รวมถึงการนั่งนาน ขับรถทางไกล มีแรงสั่นสะเทือนตลอดเวลา ก้มเงยรุนแรง
ขณะเดียวกันควรออกกำลังกายที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงกล้ามเนื้อหลัง เพราะกล้ามเนื้อเป็นผู้ช่วยของกระดูกและข้อต่อ ถ้าทำได้เช่นนี้โอกาสที่กระดูกสันหลังจะพังในอนาคตแทบจะไม่มี