3 สวน ชวนชิลล์
สายชิลล์ทั้งหลายถ้าไม่อยากไปไหนไกล เคยไปเดินเล่นสามสวนสาธารณะในนามของ “อุทยานสวนจตุจักร” กันแล้วหรือยัง?
ช่วงที่ผ่านมา ได้ยินข่าวความคืบหน้าของ “อุทยานสวนจตุจักร” ผ่านหูผ่านตากันบ้างไหม มันไม่ใช่สวนสาธารณะแห่งใหม่แต่อย่างใด แต่ที่จริงก็คือแผนการเชื่อมต่อกันของ 3 สวนที่มีอยู่เดิมให้มีพื้นที่ใหญ่มากขึ้น
ปกติแล้ว เวลาพูดถึงพื้นที่สีเขียวใจกลางเมืองขนาดใหญ่ หลายคนมักจะนึกถึงสวนลุมพินีก่อนเพื่อน ทั้งเพราะขนาด แถมใกล้รถไฟฟ้าทั้งเอ็มอาร์ทีและบีทีเอส แต่กลับลืมที่จะนึกถึง 3 สวนสาธารณะอย่าง สวนจตุจักร, สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) และสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ที่อยู่ติดกัน ซึ่งหากรวมพื้นที่ทั้งสามสวนแล้วจะมีขนาดใหญ่กว่าสวนลุมพินีถึงเท่าตัว
ขณะที่สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ มีพื้นที่ 196 ไร่ สวนวชิรเบญจทัศ มีพื้นที่ 375 ไร่ และสวนจตุจักร มีพื้นที่ 155 ไร่ รวมกันแล้วเท่ากับ 727 ไร่ และยังมีแผนจะขยายเพิ่มเติมโดยจะเปลี่ยนลานจอดรถของตลาดนัดเจเจกรีนขนาด 26 ไร่มาเป็นพื้นที่สวนเพิ่มเติมอีกด้วย
สำหรับนักวิ่งและนักปั่น คงไม่ต้องแนะนำพื้นที่สามสวนสาธารณะนี้กันให้มาก เพราะถือเป็นหนึ่งในเส้นทางยอดนิยมกันอยู่แล้ว แต่สำหรับสายชิลทั้งหลาย ทราบหรือไม่ว่า ทั้งสามสวนนี้ มีดีกว่าที่คิด..
- อุทยานสวนจตุจักร
ก่อนจะไปว่ากันที่รายละเอียดของแต่ละสวน เราขอย้อนเล่าไปถึงจุดเริ่มต้นของโครงการกันสักเล็กน้อย นั่นคือเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อปี 2546 ให้รวมทั้ง 3 สวนที่ว่านี้เพื่อถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โดยพระองค์ได้พระราชทานชื่อว่า “อุทยานสวนจตุจักร” เมื่อปี 2547
หลังจากนั้นแผนการเชื่อมต่อทั้งสามสวนก็เกิดขึ้น โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อสิบปีที่แล้ว นักออกแบบได้ดีไซน์ทางเดินในลักษณะทางเดินมีหลังคาคลุม และเป็นทางลอยฟ้าในบางช่วง ซึ่งถูกคัดค้านค่อนข้างมาก เพราะต้องมีการตัดและล้อมต้นไม้ใหญ่ จนกระทรวงมหาดไทยสั่งให้ กทม.ทบทวนแบบ และส่งผลให้แผนการเชื่อมต่อสวนต้องพับเก็บไว้ชั่วคราว
กระทั่งปีที่แล้ว แผนการดังกล่าวถูกรื้อกลับมาอีกครั้ง แต่คิดใหม่ ทำให้ง่าย เพราะ “การเชื่อมต่อ” ไม่จำเป็นต้องใหญ่โตหรือเห็นได้ชัดเจนทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังสามารถตีความการเชื่อมต่อผ่านการรับรู้อื่นๆ ได้อีกด้วย
จากแผนที่คิดใหญ่ เล่นดัง ต้องล้อมไม้ใหญ่ถึง 911 ต้น จึงถูกตัดทอนลงเหลือเพียงการสร้างทางเดินเชื่อมต่อที่สะดวก เข้าถึงง่าย ให้คนรับรู้ถึงการเป็นพื้นที่ที่เชื่อมต่อกัน โดยเฉพาะ "ถนนกำแพงเพชร 3" ซึ่งตัดขวางระหว่างสวนจตุจักร และอีกสองสวนที่เหลือ ก็ได้รับการแก้ไขโดยขยายทางเชื่อมจากเดิมเป็นประตูเล็กๆ ให้กว้างขวางขึ้นเพื่อเข้าสู่สวนรถไฟได้สะดวกขึ้น และยกระดับพื้นถนนให้เท่ากับฟุตบาธ พร้อมทั้งมีแผนที่จะปิดถนนเส้นนี้อย่างถาวร โดยอยู่ระหว่างทำประชาพิจารณ์
ส่วนทางเชื่อมระหว่างสวนรถไฟ และ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ที่เดิมมีคูน้ำกั้นกลางและเชื่อมต่อกันด้วยสะพาน ก็มีการปรับปรุงโครงสร้างสะพานให้แข็งแรงมากขึ้น นอกจากนี้ยังมี สะพานคลื่นนก เป็นสัญลักษณ์สำคัญ
เมื่อเชื่อมสวนผืนยักษ์เข้าหากันแล้ว คนเมืองจะมีเส้นทางวิ่ง หรือเดินเล่น ความยาว 10.5 กิโลเมตร ผ่านทิวทัศน์ที่ไม่ซ้ำกัน โดยตามข่าวบอกว่า งานคืบหน้าไปเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ส่วนแผนงานเฟสที่สองคาดจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2563
- เที่ยวป่าในเมือง
ถ้าจะเซ็ทรูทเที่ยวเล่นทั้งสามสวนนี้ให้ครบถ้วน เผื่อเวลาสัก 3-4 ชั่วโมงน่าจะกำลังดี สำหรับใครที่กลัวแดดหน่อย อาจจะเริ่มต้นราวๆ 4 โมงเย็น โดยแนะนำให้เริ่มต้นจาก สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เพราะด้วยความร่มรื่นของพรรณไม้มากมาย ทำให้ถึงจะมาช่วงบ่ายแก่ๆ ที่แดดยังไม่คลาย ก็ไม่ได้รู้สึกร้อนจนเกินไป นอกจากนี้ ในบรรดาสามสวน สวนแห่งนี้ยังปิดก่อนเพื่อนอีกด้วย
ความร่มรื่นภายในสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ
บนพื้นที่ 196 ไร่ของสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ มีความโดดเด่นในฐานะ “สวนพฤกษศาสตร์” ที่สมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย
ไม่ว่าจะเป็นสวนกล้วยที่รวมไว้กว่า 70 ชนิด แหล่งรวมพลของลั่นทมหลากสี แถมยังมีไม้หายาก อาทิ ย่านดาโอ๊ะ หรือ ต้นเถาใบสีทอง ที่ค้นพบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก พบได้เฉพาะน้ำตกบาโจ ในอุทยานแห่งชาติเทือกเข้าบูโดสุไหงปาดี จ. นราธิวาส น่าเสียดายที่ช่วงที่ไปเยี่ยมชมนั้น พ้นช่วงอเมซิ่งของย่านดาโอ๊ะไปแล้ว เพราะความเก๋ไก๋ไม่เหมือนใครของพืชพันธุ์นี้ คือ ใบที่มีขนปกคลุมคล้ายกำมะหยี่ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสีทองแดงเหลือบรุ้งในเดือนสิงหาคม - กันยายน และเป็นสีเงินในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
..ใครสนใจ มาร์กไว้ในตารางปีหน้ากันได้เลย
นอกจากนี้ ยังมี สวนไม้มงคลพระราชทาน 76 จังหวัด โดยจำลองแผนที่ประเทศไทยขนาดย่อมไว้บนพื้นที่ 4.8 ไร่ และปลูกไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด พร้อมติดป้ายแสดงชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อสามัญของต้นไม้ และชื่อจังหวัด
ความเก๋อย่างหนึ่งของสวนไม้มงคลฯ แห่งนี้ คือ ทางเดินชมซึ่งเป็นเส้นทางสมมติของถนนสายหลัก ได้แก่ ถนนพหลโยธิน ถนนมิตรภาพ ถนนสุขุมวิท ที่เชื่อมต่อระหว่างเหนือ ใต้ อีสาน และตะวันออก โดยจัดวางพรรณไม้ตามตำแหน่งของแต่ละจังหวัดเหมือนเราได้เดินทั่วไทยในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง
ส่วนจัดแสดงอื่นๆ ที่น่าสนใจในสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติติ์ ยังมีอีกหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นอาคารพรรณไม้ไทย เทิดไท้ บรมราชินีนาถ ที่จัดแสดงพรรณไม้ไทยที่มีถิ่นกำเนิดในภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยและกล้วยไม้ไทยที่กำเนิดในแต่ละภาค, สวนไม้หอมน้อมเกล้าฯ รวบรวมพรรณไม้หอมประเภทต่าง ๆ เพื่อการศึกษาและอนุรักษ์ แถมยังมีการรวบรวมพรรณไม้ในวรรณคดี พรรณไม้อันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ พรรณไม้ที่เกี่ยวเนื่องในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9
สำหรับเราแล้ว.. สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ชัดเจนเมื่อเข้าสู่เขตพื้นที่สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ นั่นคือ ความสงบเงียบที่ในหลายช่วงเวลาเหมือนจะมีแค่เราที่ย่ำเท้าไปบนทางเดินอิฐ แต่ก็ไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะมีเจ้าหน้าที่ขี่จักรยานผ่านไปมาเป็นระยะๆ พอให้อุ่นใจตลอดทาง
ถ้าให้สันนิษฐานถึงสาเหตุของความสงบเงียบ ก็คิดว่า น่าจะเป็นเพราะที่ตั้งที่อยู่ลึกเข้าไปด้านในที่สุด แถมยังต้องข้ามคูน้ำมาอีกด้วย บางคนอาจไม่ทันสังเกตเห็น หรือบางคนก็อาจไม่ทราบว่า ข้ามไปแล้วจะมีอะไรให้เที่ยวเล่น
แต่เอาเป็นว่า มาเถอะ! แล้วจะรู้เองว่า ที่นี่มีอะไรเด็ดๆ อีกเยอะ
- The Bird wave Bridge
“สะพานคลื่นนก” หรือ The Bird wave Bridge คือความดีงามที่เป็นมากกว่าแค่สะพานเชื่อมระหว่างสวนวชิรเบญจทัศ และสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ซึ่งแม้จะมีความยาวแค่ 50 เมตร แต่กลับดึงความสนใจจากผู้คนที่พบเห็นได้อย่างไม่ยากเย็นด้วยดีไซน์รูปคลื่นสะดุดตา
นำชัย แสนสุภา ภูมิสถาปนิก บริษัท ฉมา จำกัด เจ้าของโปรเจคให้สัมภาษณ์ไว้กับเว็บไซต์ readthecloud.co ว่า จะทำอย่างไรให้สิ่งปลูกสร้างใหม่ไม่ไปรบกวนและเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเดิม เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นแมกไม้ที่เงียบสงบดึงดูดนกหลายชนิด อีกทั้งยังเป็นแหล่งพักพิง พักผ่อนของสัตว์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเหี้ย หรือเต่า การออกแบบและปรับภูมิทัศน์โดยรอบจึงต้องคำนึงถึงความเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์เหล่านั้น
จากสายตามนุษย์ อาจเห็นความรกรุงรัง แต่นั่นคือสภาวะที่สัตว์น้อยใหญ่แสนจะถูกใจ มันจึงเป็นเหตุผลให้สถาปนิกคงความรกเรื้อระเกะระกะ เช่นกันกับการปรับระดับตลิ่งให้ลาดขึ้น สำหรับให้นกน้ำบางชนิดเดินไปหากินได้
“..วันไหนอากาศดีๆ จะเห็นเต่าและตัวเงินตัวทองขึ้นมานอนอาบน้ำอีกด้วย”
อีกหนึ่งความน่าสนใจในเบื้องหลังการก่อสร้าง The Bird Wave Bridge คือ ไม้ทุกชิ้นที่ใช้ในโปรเจคนี้เป็นไม้รีไซเคิลที่ได้จากการรื้อโครงสร้างเก่าที่ต้องการทำลาย และนำกลับมาชุบชีวิตอีกครั้งในนามของสะพานคลื่นนกแห่งนี้
- สวนรถไฟ ไม่ไปคือพลาด
ถ้าถามว่า ระหว่างสามสวนนี้ ชอบสวนไหนที่สุด ส่วนตัว ขอเลือกสวนวชิรเบญจทัศ หรือที่คุ้นกันในชื่อ “สวนรถไฟ” เป็นคำตอบแบบไม่ต้องคิด
สาเหตุเพราะเสน่ห์อันหลากหลายบนพื้นที่ 375 ไร่ ซึ่งใหญ่ที่สุดในสามสวน โดยมีทั้งร่มไม้ใหญ่ แทรกตัวสลับกับสนามหญ้าเขียวขจี ถนนบางช่วงสองข้างทางเป็นไทรรากย้อย คุณปู่จามจุรีน่าเกรงขาม ทว่าการตกแต่งกลับชวนให้สนุกด้วยประติมากรรมเด็กแสนซนที่ปรากฏตัวตามที่ต่างๆ
ด้วยความที่สวนแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นบนโจทย์ของการเป็น “สวนแห่งครอบครัว” ที่นี่จึงมีกิจกรรมหลากหลาย และจัดสรรพื้นที่ได้อย่างน่าสนใจ ไม่เพียงมีไบค์เลนแยกต่างหากให้ปั่นกันโดยไม่ต้องพะวงหน้าพะวงหลัง ด้วยเส้นทางจักรยาน 3.6 กิโมเมตร ลัดเลาะดงไม้ ไต่เนินไปรอบนอกสวนที่ถูกยกให้เป็นอีกหนึ่งเส้นทางฮิตของนักปั่นบ้านเรา
นอกจากนี้ยังมีการแบ่งโซนสำหรับเด็ก และผู้สูงอายุ อีกทั้งถนนก็ยังกว้างแบบเหลือๆ ให้ทั้งนักวิ่ง และคนที่แค่จะมาเดินเล่น ใช้ร่วมกันได้แบบไม่ต้องคอยหลบกัน
ส่วนตัวแล้ว ความที่ไม่ใช่สายวิ่ง พอไปเดินที่สวนลุมฯ ทีไร รู้สึกเกรงใจกลัวจะเกะกะคนอื่น เพราะคนที่มาใช้บริการหนาแน่นเหลือเกิน แต่กับที่สวนรถไฟ เรากลับรู้สึกถึงความสบาย ที่เอาตรงๆ ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า เพราะถนนกว้างกว่า หรือนักวิ่งน้อยกว่ากันแน่
ถ้าเดินไปทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของสวน เราจะเริ่มเห็นป้ายเตือน ห้ามส่งเสียงดัง ขอให้รู้ไว้ว่า.. กำลังเข้าใกล้เขตอนุรักษ์พันธุ์ผีเสื้อแล้ว และนั่นก็หมายถึงอีกหนึ่งไฮไลต์ของสวนรถไฟ คือ อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ ที่โดดเด่นกันตั้งแต่ตัวอาคารเรือนกระจกสีสดใส ภายในมีทั้งนิทรรศการ และกรงผีเสื้อแบบ walk in ที่จำลองธรรมชาติร่มรื่น มีทั้งน้ำตก ธารน้ำ และไม้ดอกสวยงาม ให้เราได้ชื่นชมผีเสื้อสีสันสวยงามนับพันตัวในสภาพเป็นอยู่จริง โดยนอกจากจะมีผีเสื้อให้ชมแล้ว ที่นี่ยังมีการจัดอบรมฟรีเรื่องการดูนก และให้ความรู้เกี่ยวกับผีเสื้อและแมลงแก่ผู้ที่สนใจอีกด้วย
และอย่างที่บอกไปว่า คอนเซปท์ของสวนรถไฟ คือ สถานที่ของครอบครัว เราจึงเห็นหลายๆ ครอบครัวปั่นจักรยานกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งถือว่า เหมาะมากกับขนาดของสวน นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสำหรับเด็กๆ ทั้งไม่ว่าจะเป็น ศูนย์เยาวชนวชิรเบญจทัศ ที่เด็กๆ ชอบไปเล่นน้ำกัน และยังมี เมืองจราจรจำลอง ซึ่งจำลองสถานที่สำคัญของกรุงเทพฯ เช่น อนุสาวรีย์ชัยฯ ภูเขาทอง ฯลฯ เพื่อให้เด็กๆ ได้ขี่จักรยานไปพร้อมเรียนรู้เรื่องกฎจราจร
สำหรับใครที่ได้ใช้เวลาช่วงค่ำที่สวนรถไฟแห่งนี้ ไม่ว่าจะเดินหรือวิ่งก็ตาม ถ้าปกติฟังเพลงจากหูฟังส่วนตัว เราขอแนะนำให้ลองถอดออก และฟังสรรพเสียงรอบตัว แล้วจะพบความน่าทึ่งของพื้นที่ซึ่งลึกเข้ามาเพียงเล็กน้อยจากถนนใหญ่ ห่างสถานีรถไฟฟ้าหมอชิตแค่ 15 นาทีเดิน แต่กลับเหมือนหลุดเข้าสู่โลกแห่งธรรมชาติ ฟังเสียงดุเหว่าขานรับกันไปมาสลับกับเสียงแมลงหรีดหริ่ง ที่ดูจะเข้ากันได้ดีอย่างประหลาดกับจังหวะเครื่องเสียงที่แว่วมาไกลๆ จากลานแอโรบิก
- จตุจักร พักแล้วดี
สาเหตุที่เราเก็บสวนจตุจักรไว้ท้ายสุดสำหรับการเดินชม 3 สวนในอุทยานสวนจตุจักร นอกจากเพื่อความสะดวกตอนขากลับ โดยเฉพาะสำหรับคนที่เดินทางโดยขนส่งสาธารณะแล้ว อีกหนึ่งเหตุผลก็คือ เพราะที่สวนจตุจักร ไม่ได้มีไม้ใหญ่มาก ต่อให้มาเดินช่วงเย็น ก็ยังอาจหนีไม่พ้นไอแดดที่ถนนปูนกำลังคายออกมา เพราะฉะนั้น เวลาที่เหมาะที่สุดสำหรับการเดินสวนจตุจักรแห่งนี้ ถ้าไม่มาแต่เช้า ก็รอให้พระอาทิตย์บ๊ายบายกันไปก่อนจะดีกว่า
ด้วยความที่ตั้งอยู่ติดกับถนนใหญ่และรถไฟฟ้าทั้งบีทีเอส และ เอ็มอาร์ที จึงไม่น่าแปลกใจที่สวนแห่งนี้จะคึกคักกว่าเพื่อน โดยเฉพาะในวันธรรมดา ที่ไม่ได้มีเวลามากพอจะเดินเข้าไปในสองสวนที่อยู่ด้านหลัง สวนจตุจักร จึงเป็นแหล่งแวะพักชั้นดีสำหรับคนเมืองที่เหน็ดเหนื่อยกับการเดินทาง
บางคนแวะเดินเล่นรอรถหายติด หลายคนแวะพักเพื่อปิกนิกก่อนกลับบ้าน หรือถ้ายิ่งมาวันอาทิตย์ เราก็จะได้เห็นสีสันวันพักผ่อนแบบนานาชาติ ตั้งแต่แรงงานเพื่อนบ้าน ไปจนถึงฝรั่งตาน้ำข้าว ที่ต่างก็มาใช้เวลาคุณภาพไปกับธรรมชาติใกล้ๆ เมือง
กิจกรรมที่สวนจตุจักร นอกจากจะเดิน หรือ วิ่งแล้ว ที่นี่ยังมีกิจกรรมพายเรือ ถีบจักรยานน้ำในสระกลางสวน ให้อาหารปลา หรือจะเดินชมแลนด์มาร์กน่าสนใจ อาทิ ประติมากรรมอาเซียน 6 ประเทศ หอนาฬิกา นาฬิกาดอกไม้ ฯลฯ หรือถ้าได้ใช้เวลาช่วงค่ำ จะได้กลิ่นดอกไม้ไทยโชยมากับสายลมชวนผ่อนคลาย
แต่ถ้าถามว่า ที่สุดของไฮไลต์สำหรับสวนจตุจักรแห่งนี้ ก็เห็นจะเป็นช่วงเดือนกุมภาพันธุ์-มีนาคม เมื่อดอกชมพูพันธุ์ทิพย์บานสะพรั่ง แทบทั้งสวนก็กลายเป็นสวรรค์ของคนรักการถ่ายรูป
..หรือยิ่งในยามที่กลีบชมพูสวยทิ้งตัว แทบทั้งสวนก็เหมือนจะปูด้วยพรมสีชมพู จนใครๆ ก็อดใจไม่ไหว ต้องแวะมาเยี่ยมเยียนกันเป็นประจำทุกปี
** หมายเหตุ **
สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
ขนาดพื้นที่ : 196 ไร่
เวลาเปิดให้บริการ : 05.00 - 19.00 น.
สวนวชิรเบญจทัศ
ขนาดพื้นที่ : 375 ไร่
เวลาเปิดให้บริการ : 04.30 - 21.00 น.
สวนจตุจักร
ขนาดพื้นที่ : 155 ไร่
เวลาเปิดให้บริการ : 04.30 - 21.00 น.
อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ
เปิดให้เข้าชมฟรี ทุกวันอังคาร - วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. (ปิดวันจันทร์)