ระวัง!!!ช่วงฝนตก งูเงี้ยวเขี้ยวขอชุก
กรมการแพทย์เตือนภัยงูชุกในหน้าฝน เลี่ยงอยู่ในที่แคบ มืด รกพงหญ้า พร้อมแนะหากถูกงูกัด ห้ามใช้เชือกหรือผ้ารัด ควรรีบพบหมอให้เร็วที่สุด
กรมการแพทย์เตือนภัยงูชุกในหน้าฝน เลี่ยงอยู่ในที่แคบ มืด รกพงหญ้า พร้อมแนะหากถูกงูกัด ห้ามใช้เชือกหรือผ้ารัด ควรรีบพบหมอให้เร็วที่สุด
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เป็นช่วงฤดูฝนจึงควรระวังสัตว์ที่มีพิษชนิดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคืองู ที่อาศัยอยู่ตามสภาพแวดล้อมใกล้ตัวเรา ไม่ว่าจะบริเวณสวนข้างบ้าน ทุ่งหญ้า ป่า หรือในน้ำ ส่วนใหญ่เป็นงู ไม่มีพิษ สำหรับงูพิษที่มีความสำคัญทางการแพทย์เพราะมีคนถูกกัดอยู่บ่อยๆ มี 7 ชนิดได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา
หากถูกงูกัดแต่ไม่ทราบชนิดของงู ต้องแยกก่อนว่าเป็นงูพิษหรืองูไม่มีพิษ ทั้งนี้ โดยทั่วไปเราจำแนกพิษของงูได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้ พิษต่อระบบประสาท ได้แก่พิษของงูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม ผู้ที่ได้รับพิษจะทำให้เกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อ ลืมตาไม่ได้กลืนลำบาก และที่สำคัญคือทำให้หยุดหายใจเสียชีวิตได้ พิษต่อโลหิต ได้แก่ พิษของงูแมวเซา งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ ทำให้มีเลือดออกตามที่ต่างๆ ตามผิวหนัง เหงือก อาเจียนเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด พิษต่อกล้ามเนื้อ ได้แก่ พิษงูทะเล ทำอันตรายต่อกล้ามเนื้อ ปวดกล้ามเนื้อมาก ปัสสาวะสีดำเนื่องจากกล้ามเนื้อถูกทำลาย และพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ได้แก่พิษงูเห่า งูจงอาง ทำให้ลืมตาไม่ขึ้น แขนขาหมดแรง กระวนกระวาย ลิ้นแข็ง น้ำลายมากกลืนลำบาก เกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจ และเสียชีวิตได้
สำหรับแนวทางการรักษา คือประเมินผู้ป่วยและให้การช่วยเหลือเบื้องต้น ซักประวัติ ตำแหน่งที่ถูกงูกัด สถานที่ ที่ถูกงูกัด ชนิดของงูหรือการนำซากงูมา อาการที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่แพทย์ในการรักษา นอกจากนี้ควรรีบทำความสะอาดบริเวณแผลที่ถูกงูกัด และส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการเดินในที่แคบหรือบริเวณที่รกมีหญ้าสูง โดยเฉพาะเวลากลางคืน ถ้าจำเป็นต้องเดินผ่านควรใส่รองเท้าหุ้มข้อเท้า ใส่กางเกงขายาว เสื้อแขนยาวเตรียมไฟฉาย เพื่อหลีกเลี่ยงสัตว์มีพิษที่มากับน้ำ