ชวนชมดาวอังคารใกล้โลกที่สุดในรอบ 15 ปี พรุ่งนี้!
สดร. ชวนชมดาวอังคารใกล้โลกที่สุดในรอบ 15 ปี ตั้งแต่หัวค่ำวันที่ 31 ก.ค.นี้
เมื่อวันที่ 30 ก.ค.61 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยภาพชุดดาวอังคารมีขนาดปรากฏใหญ่ขึ้นและสว่างมากขึ้น พายุฝุ่นเริ่มเบาบางลง มองเห็นขั้วน้ำแข็งและพื้นผิวได้ชัดเจนขึ้นมาก ชวนจับตา 31 กรกฎาคมนี้ ใกล้โลกที่สุดในรอบ 15 ปี ลุ้นฝน หากฟ้าใส เห็นชัดด้วยตาเปล่าทั่วไทย จัดสังเกตการณ์ 4 จุด ที่เชียงใหม่ โคราช ฉะเชิงเทรา สงขลา ส่องขั้วน้ำแข็งดาวเคราะห์แดงผ่านกล้องโทรทรรศน์
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยว่า สดร. เริ่มบันทึกภาพดาวอังคารตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อนำมาศึกษาเปรียบเทียบขนาดปรากฏและความสว่างในช่วงที่ดาวอังคารโคจรเข้าใกล้โลกเรื่อย ๆ ภาพชุดดังกล่าวนำภาพถ่ายดาวอังคารมาเรียงเปรียบเทียบให้เห็นขนาดปรากฏที่ใหญ่ขึ้นอย่างชัดเจนและปรากฏเต็มดวงมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงมีความสว่างปรากฏมากขึ้นด้วยเช่นกัน สามารถมองเห็นขั้วน้ำแข็งและพื้นผิวดาวอังคารได้ แต่เป็นที่น่าเสียดายในช่วงกลางเดือนมิถุนายนเกิดพายุฝุ่นขนาดใหญ่ปกคลุมพื้นผิวดาวอังคารเป็นบริเวณกว้าง จึงไม่สามารถเก็บรายละเอียดพื้นผิวดาวอังคารได้ชัดเจนเท่า 2 ปีก่อน ภาพล่าสุดเป็นภาพดาวอังคารในคืนวันที่ 27 กรกฎาคม 2561 ซึ่งโคจรมาอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ เห็นลักษณะพื้นผิวได้ชัดเจนขึ้นมากกว่าช่วงก่อนหน้า เนื่องจากพายุฝุ่นเริ่มจางลง ภาพดาวอังคารทั้งหมดบันทึกโดยกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกล ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ของสดร. ณ หอดูดาวดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา
ดาวอังคารจะโคจรเข้าใกล้โลกเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ห่างเพียง 57.6 ล้านกิโลเมตร (ระยะห่างเฉลี่ยระหว่างโลกกับดาวอังคารประมาณ 225 ล้านกิโลเมตร) ในวันดังกล่าวดาวอังคารจะมีขนาดปรากฏใหญ่ที่สุดและสว่างที่สุดในรอบ 15 ปี อีกด้วย
ช่วงนี้จึงเหมาะแก่การสังเกตการณ์ดาวอังคาร เพราะมีความสว่างและมีขนาดปรากฏใหญ่มาก มองเห็นด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกจนถึงรุ่งเช้า สดร. จัดสังเกตการณ์ “ดาวอังคารใกล้โลกที่สุดในรอบ 15 ปี” วันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น. เชิญชวนผู้สนใจส่องดาวอังคารแบบเต็มตาผ่านกล้องโทรทรรศน์ สัมผัสขั้วน้ำแข็งของดาวเคราะห์แดง พร้อมส่องวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจในคืนดังกล่าว อาทิ ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ณ 4 จุด สังเกตการณ์หลัก ได้แก่
1) เชียงใหม่ : อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
2) นครราชสีมา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา
3) ฉะเชิงเทรา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา
4) สงขลา : ลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา จ.สงขลา
และโรงเรียนเครือข่ายอีก 360 แห่งทั่วประเทศ ตรวจสอบรายละเอียดได้ทาง www.NARIT.or.th