สพฐ.ให้เขตพื้นที่ฯดูแลซื้อโต๊ะเก้าอี้นร.ผ่านระบบอีบิดดิ้ง
“บุญรักษ์” แจงงบฯซื้อโต๊ะเก้าอี้นักเรียนปี 61 จำนวน 170 ล้านบาทให้กว่า 7 พันโรงเรียน ใช้วิธีโอนเงินให้ สพท.ดำเนินการผ่านระบบอีบิดดิ้ง ระบุมี 23 บริษัทคุณสมบัติตามเกณฑ์ ย้ำวิธีนี้ช่วยลดภาระครู-ป้องกันทุจริต
เมื่อวันที่ 17 ส.ค.61 นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2561 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รับงบประมาณจัดซื้อโต๊ะเก้าอี้นักเรียน จำนวน 183 ล้านบาท แต่เนื่องจากงบฯที่ได้รับมาไม่มีรายชื่อโรงเรียนที่จะได้รับการจัดสรรโต๊ะเก้าอี้ ประกอบกับ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายลดภาระงานของครูและนโยบายป้องกันการทุจริต
เพราะฉะนั้น สพฐ.จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดสรรให้โรงเรียน 3 กลุ่ม คือ 1.โรงเรียนที่ได้รับอาคารเรียนแล้วแต่ถูกปรับลดโต๊ะเก้าอี้ลง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลการจึงต้องจัดสรรงบฯเพื่อสร้างอาคารเรียนไปก่อน 2.โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น ซึ่ง สพฐ.จะยึดข้อมูล ณ วันที่ 10 มิ.ย.2561 และ3.โรงเรียนที่มีการจำหน่ายครุภัณฑ์ออกจากระบบทะเบียน โดยผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการของสถานศึกษาอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ ได้สำรวจความต้องการโต๊ะเก้าอี้ของโรงเรียนทั่วประเทศตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีโรงเรียนที่ผ่านการพิจารณาจำนวน 7,748 โรง เป็นเงินกว่า 170 ล้านบาท ส่วนงบฯที่เหลือก็จะส่งคืนสำนักงบประมาณ
นายบุญรักษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดซื้อในปีนี้ (ปี 2561) จะมอบให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อรวมผ่านระบบการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีบิดดิ้ง (e-bidding) โดยจะโอนงบฯไปให้ภายในวันนี้ ซึ่งตามระเบียบกำหนดว่าการจัดซื้อต่ำกว่า 5 แสนบาท ไม่ต้องจัดซื้อผ่านระบบอีบิดดิ้ง แต่ในการจัดซื้อครั้งนี้ สพฐ.มีหนังสือสั่งการชัดเจนว่าให้ทุก สพท.จัดซื้อผ่านระบบอีบิดดิ้งทั้งหมด เพื่อเปิดให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม ได้ของที่ถูก สเปกและราคาถูก เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบริหารงบประมาณของทางราชการ ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่ามีบริษัท 23 แห่งที่มีคุณสมบัติได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สามารถเข้าแข่งขันในระบบอีบิดดิ้งได้ แม้ปีนี้การจัดซื้อโต๊ะเก้าอี้อาจจะล่าช้าไปบ้าง แต่ก็ยังดำเนินการได้ทันผ่านระบบที่ถือว่าดีที่สุด อย่างไรก็ตาม การดำเนินการจะต้องแล้วเสร็จภายในเดือนก.ย.นี้
“ ขณะนี้มีผู้อำนวยการ สพท.และผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นห่วงและหลายคนส่งข่าวมายังส่วนกลางว่า มีผู้ประกอบการได้ไปพูดคุย หรือเรียกว่า ตกเขียวงบฯกับทางโรงเรียนแล้ว ดังนั้น การใช้ระบบอีบิดดิ้งจะสามารถลดปัญหาการทำเรื่องที่ไม่ถูกต้องได้ และในปีงบฯ 2562 นี้การของบฯโต๊ะเก้าอี้ได้ใส่รายชื่อโรงเรียนไปตามคำขอ และพร้อมที่จะจัดสรร ดังนั้น เมื่อได้รับการจัดสรรงบฯมาแล้วหากไม่ซ้ำซ้อนกับสถานศึกษาที่ได้จัดสรรให้ในปี 2561 สพฐ.ก็จะมอบให้ สพท.เป็นผู้จัดซื้อโดยใช้วิธีการอีบิดดิ้งและจัดส่งไปยังสถานศึกษาเช่นเดียวกัน” นายบุญรักษ์ กล่าว