4 ศาสตราจารย์คว้ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลปี61
สาขาการแพทย์ “หมอดรูเกอร์” ผู้คิดค้นยารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า -“แมรี่ แคลร์ คิง” ผู้ค้นพบยีนมะเร็งเต้านม สาขาสาธารสุข "จอห์น ดี. คลีเมนส์"-"ศ.นพ.ยอน อาร์. โฮล์มเกรน"พัฒนาวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดกิน เตรียมเข้ารับพระราชทานรางวัล31 ม.ค. 2562
เมื่อวันที่ 21 พ.ย.61 ในงานแถลงข่าวผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 27 ประจำปี 2561 โดย น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ปี 2561 มีผู้ได้รับเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ทั้งสิ้น 49 รายจาก 25 ประเทศ คณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้พิจารณาตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัล ดังนี้
1.สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ.นพ.ไบรอัน เจ. ดรูเกอร์ ศาสตราจารย์อายุรศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งไนท์ มหาวิทยาลัยการแพทย์และวิทยาศาสตร์แห่งโอเรกอน สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลงานสำคัญในการศึกษาและค้นคว้าวิจัยยาต้นแบบของการรักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้า คือ อิมาตินิบ สำหรับการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดซีเอ็มแอล ซึ่งจะไปยับยั้งโปรตนมะเร็ง BCR-ABL ที่พบเฉพาะเซลล์ของผู้ป่วยซีเอ็มแอล ทำให้มีผลข้างเคียงการรักษาน้อย ผู้ป่วยที่ได้รับยาสม่ำเสมอสามารถลดความรุนแรง อัตราการตาย และความพิการจากโรคได้ หากไม่ได้รับยาจะเสียชีวิตภายใน 3 ปี
ศ.นพ.ไบรอัน เจ. ดรูเกอร์
และศ.ดร.แมรี่ แคลร์ คิง ศาสตราจารย์เวชพันธุศาสตร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ค้นพบยีนที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเต้านมที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิง ซึ่งมีผู้ป่วยใหม่ได้การวินิจฉัยมะเร็งเต้านมปีละกว่า 2 ล้านคน และเสียชีวิตจากโรคนี้มากถึง 2 แสนคน โดยตั้งชื่อยีนว่า BRCA1 เป้นครั้งแรกที่พิสูจน์ว่ามะรเงที่พบได้บ่อยสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม และยังพัฒนาการตรวจยีนมะเร็งด้วยเทคนิคใหม่สามารถนำไปใช้ได้ทั่วโลก ทำให้การตรวจหายีนมะเร็งมีราคาถูกจนคนเข้าถึงได้มาก ผู้ป่วยที่ได้รับการคัดกรองที่พบการกลายพันธุ์ของยีนได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม รวดเร็วมากขึ้น ป้องกันการเสียชีวิต
ศ.ดร.แมรี่ แคลร์ คิง
2.สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศ.นพ.จอห์น ดี. คลีเมนส์ ผู้อำนวยการบริหารศูนย์วิจัยโรคท้องร่วงนานาชาติ ประเทศบังกลาเทศ ศาสตราจารย์วุฒิคุณระบาดวิทยา ม.แคลิฟอเนีย สหรัฐอเมริกา และ ศ.นพ.ยอน อาร์. โฮล์มเกรน ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดน ซึ่งทั้งสองท่านทำงานร่วมกันกว่า 30 ปี ศึกษาค้นคว้าวิจัย และพัฒนาวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดกิน โดยได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกว่า สามารถใช้วัคซีนชนิดกินแทนฉีดได้ และสนับสนุนคลังวัคซีนหลายประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการระบาด ช่วยป้องกันโรคได้อย่างเป้นวงกว้าง ลดอัตราตายได้หลายล้านคนทั่วโลก
ศ.นพ.จอห์น ดี. คลีเมนส์
น.ส.บุษฎี กล่าวด้วยว่า ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2561 ในวันที่ 31 ม.ค. 2562 เวลา 17.30 น. ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง โดยวันที่ 30 ม.ค. 2562 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ จะเชิญผู้รับพระราชทานรางวัลมาเยือนและแสดงปาฐกถาเกียรติยศในผลงานที่ได้รับด้วย
ศ.นพ.ยอน อาร์. โฮล์มเกรน
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์ในการพิจารณาตัดสิน จะต้องมีผลงานหลักฐาน การค้นพบมีความหมาย เกิดประโยชน์และนำไปใช้ประโยชน์ต่อมนุษยชาติจำนวนมากทั่วโลก ซึ่งรางวัลด้านการแพทย์การพัฒนายาอิมาตินิบหรือมุ่งเป้า พบว่า หลังให้ยา 2 ปี ช่วยให้ปลอดอาการจากเซลล์มะรเงทั้งหมด ผู้ป่วยมีอายุขัยเหมือนคนปกติ ส่วนการค้นพบยีนมะเร็งเต้านม ช่วยให้เกิดการคัดกรองและป้องกันการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมได้จำนวนมาก ส่วนด้านการสาธารณสุข เรื่องวัคซีนอหิวาต์ชนิดกิน จริงๆ มีการติดตามเรื่องนี้มานาน แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นชัดเจน แต่ล่าสุดมีการส่งข้อมูลว่า ในภาวะวิกฤตฉุกเฉิน เช่น พายุถล่ม และไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาดพอ หรือสุขาภิบาลไม่ดีพอ เสี่ยงต่อการเกิดโรคนั้น วัคซีนดังกล่าวมีส่วนอย่างมากในการป้องกันเจ็บป่วยตายเป็นแสนล้านคน
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาผู้รับพระราชทานรางวัลมักเป็นบุคคลเดียวหรือหลายคนแต่เป็นเรื่องเดียวกัน เหตุใดปีนี้จึงพิจารณาสาขาการแพทย์ 2 ท่าน แต่เป็นคนละเรื่อง หรืองานมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า รางวัลสาขาการแพทย์ในปีนี้ เราพิจารณาเรื่องเดียวกัน คือ มะเร็ง โดยท่านหนึ่งเป็นเรื่องของการป้องกัน เนื่องจากค้นพบยีนที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม ซึ่งยีนที่กลายพันธุ์ไม่ได้ทำให้เกิดมะเร็งเพียงชนิดเดียว โดยการค้นพบนี้ทำให้เกิดการคัดกรองและป้องกันก่อนได้ ส่วนอีกท่านพัฒนายามุ่งเป้าที่ไปออกฤทธิ์ต่อยีนที่ส่งผลต่อมะเร็งเช่นกัน เรียกว่า เป็นด้านของการรักษามะเร็ง ซึ่งยีนที่กลายพันธุ์จะสร้างสารที่กระตุ้นเซลล์ให้กลายเป็นมะเร็ง โดยยานี้ก็เป็นการเข้าไปต่อต้านกระบวนการตรงนี้แบบมุ่งเป้า ซึ่งต่อยอดมาจากการค้นพบยีนที่ส่งผลต่อมะเร็ง ปีนี้จึงถือว่าเป้นเรื่องเกี่ยวกับมะเร็ง แต่ดำเนินการควบคู่คือการป้องกันและยารักษา