แนะดูแลช่องปากป้องกันคราบหินปูน ทำร้ายสุขภาพเหงือกและฟัน
กรมการแพทย์ แนะดูแลช่องปากป้องกันคราบหินปูนทำร้ายสุขภาพเหงือกและฟัน
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า คราบหินปูน หรือ “หินน้ำลาย” ก่อให้เกิดปัญหาโรคในช่องปากที่ไม่ควรมองข้าม หลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ความจริงอาจนำไปสู่ปัญหาช่องปากอื่นๆ ซึ่งคราบหินปูนเกิดจาก คราบจุลินทรีย์หรือขี้ฟันที่สะสมและจับกับเชื้อโรคจนกระทั่งตกตะกอนกลายเป็นของแข็ง เกาะอยู่บนผิวฟัน ซอกเหงือก ซอกฟัน และขอบฟัน เมื่อคราบหินปูนก่อตัวขึ้นในช่องปากแล้วจะไม่สามารถนำออกเองได้ ต้องไปพบทันตแพทย์เพื่อขูดหินปูนออก โดยปัญหาที่เกิดจากคราบหินปูน ได้แก่ เลือดออกขณะแปรงฟัน ฟันเหลือง มีกลิ่นปาก เหงือกร่น โรคปริทันต์ ฟันโยก ฟันห่าง และฟันผุได้ ดังนั้นปัญหาคราบหินปูนจึงเป็นปัญหาช่องปากที่ควรได้รับการดูแลจากทันตแพทย์ตามความเหมาะสม
ทันตแพทย์อำนาจ ลิขิตกุลธนพร ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คราบหินปูนคือคราบแบคทีเรียที่สะสมจนแข็งตามตัวฟันหรืออาจจับตัวที่ร่องเหงือก เกิดจากการก่อตัวของน้ำลายและเศษอาหารที่ตกค้างอยู่ตามตัวฟัน นำไปสู่โรคที่เกิดกับช่องปาก ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวทันตแพทย์จะทำการรักษาโดยขูดหินปูน ซึ่งสำหรับช่วงอายุที่สามารถเข้ารับการขูดหินปูนได้นั้นไม่ได้มีการกำหนดตายตัว อาศัยการตรวจสุขภาพช่องปาก หากถึงเวลาที่ควรได้รับการขูดหินปูนทันตแพทย์จะให้คำแนะนำ ความถี่ที่เหมาะสมในการขูดหินปูน สำหรับคนทั่วไปที่มีอาการเหงือกอักเสบเพียงเล็กน้อยควรขูดหินปูนทุก 6 เดือน แต่ถ้าหากมีอาการของร่องลึกปริทันต์ด้วยควรได้รับการขูดหินปูนทุก 3-4 เดือน การขูดหินปูนทันตแพทย์ จะใช้เครื่องขูดหินปูนทำการกระเทาะเอาตัวหินปูนออกจากผิวฟัน ซึ่งจะไม่ได้ขูดที่ผิวฟันโดยตรง ส่วนอาการเสียวฟันขณะขูดหินปูน อาจเกิดเล็กน้อย เว้นแต่บางกรณีที่ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกเสียวมากทันตแพทย์ก็จะใส่ยาชาให้ สำหรับการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดคราบหินปูน ควรแปรงฟันทุกวัน วันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน แปรงฟันหลังรับประทานอาหารทุกมื้อ หากไม่สามารถทำได้ให้บ้วนปากแทน ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ และใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟัน ตลอดจนควรพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง หรือทุก 6 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน