แนะ 'กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ' ป้องกัน 5 โรคติดต่อทางอาหาร
กรมควบคุมโรค แนะประชาชนยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ป้องกัน 5 โรคติดต่อทางอาหารและน้ำในช่วงฤดูร้อน
วานนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2562) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง และกำลังจะเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน ซึ่งอากาศที่ร้อนเชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี กรมควบคุมโรค จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการเจ็บป่วยจากโรคที่มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้นแต่ต้นปี 2562 มีรายงานผู้ป่วย 5 โรคสำคัญ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง 144,948 ราย โรคอาหารเป็นพิษ 15,801 ราย โรคบิด 196 ราย อหิวาตกโรค 1 ราย ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย 155 ราย และพบผู้เสียชีวิตจากโรคอุจจาระร่วง 1 ราย
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า โรคติดต่อทางอาหารและน้ำดังกล่าว เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว หนอนพยาธิฯ ผู้ป่วยจะมีอาการ ปวดท้อง ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวันหรือมากกว่า คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ อุจจาระอาจพบเยื่อมูกและมีเลือดปน ในบางรายมีอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น การป้องกันคือ ให้ประชาชนปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนทั่วถึงและสะอาด ล้างผัก ผลไม้ด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง หลีกเลี่ยงการใช้มีด เขียง หั่นอาหารดิบและอาหารสุกร่วมกัน เพื่อไม่ให้ปนเปื้อนเชื้อโรค ดูแลครัวให้สะอาด กำจัดขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ได้แก่ 1.กินร้อน คือ กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ในกรณีข้าวกล่อง อาหารถุง ต้องนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนกินทุกครั้ง 2.ใช้ช้อนกลาง คือ เมื่อกินอาหารร่วมกัน ควรใช้ช้อนกลางในการตักอาหาร และ 3.ล้างมือ คือ ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนกินอาหาร ก่อนปรุงอาหาร หลังขับถ่าย และหลังสัมผัสสิ่งสกปรก นอกจากนั้น ควรจัดให้มีน้ำดื่มที่สะอาด มีส้วมที่ถูกสุขลักษณะ มีการกำจัดขยะมูลฝอย และน้ำเสียที่เหมาะสมในบริเวณที่อยู่รวมกัน ตลอดจนมีการให้สุขศึกษาในการป้องกันโรค โดยเฉพาะในโรงเรียน ค่ายลูกเสือ ค่ายทหาร หอพักนักเรียน นักศึกษา
หากพบว่ามีอาการป่วย สามารถช่วยเหลือเบื้องต้น โดยให้จิบน้ำผสมสารละลายเกลือแร่ (ORS) บ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น รับประทานอาหารไม่ได้ กระหายน้ำมากกว่าปกติ หรืออุจจาระเป็นมูกปนเลือด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที และรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เพื่อช่วยให้ลำไส้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และไม่ควรกินยาหยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคยังอยู่ในร่างกาย หากใช้ยาปฏิชีวนะ ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ สำหรับเด็กที่ดื่มนมแม่ ให้ดื่มนมแม่ร่วมกับป้อนสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (ORS) บ่อยๆ สำหรับเด็กที่ดื่มนมผง ให้ผสมนมตามปกติแต่ให้ดื่มเพียงครึ่งเดียวของปริมาณที่เคยดื่มแล้วให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (ORS) สลับกันไป (ไม่ควรผสมสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ลงในนมผง) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422