เผยนิสิตนักศึกษา6.4% พยายามฆ่าตัวตาย

เผยนิสิตนักศึกษา6.4% พยายามฆ่าตัวตาย

นักวิชาการ เผยวิจัยศึกษาภาวะซึมเศร้าในนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยไทยและต่างประเทศ พบ นิสิตนศ.6.4% พยายามฆ่าตัวตาย ชี้ 5 ตัวกระตุ้นบวกสิ่งที่อยู่ในตัวเด็ก เกิดพฤติกรรมซึมเศร้า แนะรับมือจัดการอารมณ์ ฝากพ่อแม่อย่าสร้างภาพไม่ยอมรับความผิดพลาดของลูก

วันนี้ (14 มี.ค.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 18 เรื่อง "เข้าใจปัญหาเยาวชนกับภาวะซึมเศร้า" ที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาฯ โดยมี ผศ.ดร.ปิยวรรณ วิเศษสุวรรณภูมิ หัวหน้าภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า งานวิจัยที่ได้ทำการศึกษาภาวะซึมเศร้าในนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยทั้งในไทยและต่างประเทศ ตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา พบว่านิสิตนักศึกษาที่เป็นโรคภาวะซึมเศร้า ส่วนใหญ่จะศึกษาอยู่ในชั้นปีที่สูงขึ้น มีนิสิตที่พยายามฆ่าตัวตาย 6.4 % ของนิสิตทั้งหมด ส่วนผู้ที่นิสิตขอความช่วยเหลือเป็นคนแรก เมื่อพบว่าตนเองมีปัญหา คือเพื่อน ขณะที่สถานที่ใช้ฆ่าตัวตาย คือ หอพัก บ้าน และสาเหตุของการฆ่าตัวตาย ได้แก่ ทะเลาะกับคนใกล้ชิด การเรียน และความรัก ทั้งนี้ ในชีวิตของนิสิตนักศึกษา 50% เป็นเรื่องการเรียน ดังนั้น บทบาทของอาจารย์ผู้สอนมีผลในการป้องกันไม่ให้นิสิตนักศึกษา เป็นภาวะซึมเศร้า โดยบริบทในห้องเรียน อยากให้ตระหนักเรื่องความหลากหลายของนิสิตแต่ละคน อาจต้องเข้าใจในกลุ่มนิสิตที่ทำไม่ได้ หรือระวังพื้นฐานอารมณ์ของนิสิตที่แบกเข้ามาในชั้นเรียน และบริบทนอกห้องเรียน ถ้าเด็กหายไป อย่าไปตัดสินว่าเขาเป็นอะไรจนกว่าจะได้สอบถามหาสาเหตุ และได้ช่วยเหลือเด็ก เมื่ออาจารย์รู้สาเหตุควรส่งต่อให้ระบบการดูแลช่วยเหลือของมหาวิทยาลัย อย่าง จุฬาฯ มีหน่วยส่งเสริมสุขภาวะนิสิต เป็นต้น ขณะที่ นิสิตนักศึกษา มองโลกในมุมบวก มองว่าความล้มเหลวเกิดขึ้นกับทุกคนได้ และไม่ได้เกิดขึ้นกับคนๆ หนึ่งตลอดไป เรียนรู้จากความล้มเหลว มองประโยชน์ที่อะไรเกิดขึ้นกับเราดีเสมอ และถ้าไม่ไหว หาตัวช่วย

ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาฯ กล่าวว่า จากงานวิจัยที่มีการศึกษาภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น นิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ พบว่า ภาวะซึมเศร้าเกิดจากภาวะของการเสียศูนย์ ซึ่งภาวะเสียศูนย์ของแต่ละคนไม่เท่ากัน โดยตัวกระตุ้นที่ทำให้วัยรุ่น นิสิตนักศึกษาเกิดภาวะเสียศูนย์มาจาก 5 ปัจจัย คือ 1.การถูกประเมิน เช่น ผลการสอบ เมื่อใดที่เกิดการประเมิน ผิดจากที่คาดหวัง โอกาสที่เสียศูนย์จะเกิดขึ้น 2. เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องเงินทอง 3. ความรัก ที่ไม่ใช่เพียงความรักหนุ่มสาว แต่เป็นความสัมพันธ์กับเพื่อน การยอมรับจากเพื่อน 4.ความรู้สึกผิด จากคนสำคัญกับวัยรุ่น นักเรียนนิสิตนักศึกษา โดยท่าทีของคนสำคัญส่งผลกับความรู้สึกผิด และ 5.ความสูญเสียอย่างฉับพลัน ทำให้เกิดการเสียศูนย์ นอกจากนั้น สิ่งที่อยู่ภายในตัวของเด็กเอง ก็ส่งผลทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น คือ 1.สถานการณ์ ประสบการณ์ของแต่ละคน ซึ่งแต่ละคนจะมีการตีความ และรับรู้แตกต่างกัน ทำให้การจัดการสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่างกัน 2.รูปแบบการคิด ที่ไม่เหมาะสม คนที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าจะมองโลกแง่ร้าย ตีความว่าเกิดผลลบตลอดเวลา และ 3.การโยนออก เช่น เรียนแล้วเกรดไม่ดี โทษอาจารย์ หรือโทษคนอื่น ซึ่งพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากการเสียศูนย์ หรือภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น จะเริ่มจากแยกตัวเองออกจากสังคม หมดความสนใจในเรื่องการเรียน และทำร้ายตัวเอง ดังนั้น สำหรับการป้องกัน อยากให้ทุกคนรับมือและจัดการอารมณ์อย่างเหมาะสม ขณะที่ พ่อแม่ต้องอบรมเลี้ยงดู อย่าสร้างภาพว่าไม่ยอมรับสิ่งที่ลูกพลาดหวัง

9512427351520

พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าการแสดงออกของภาวะซึมเศร้าในกลุ่มวัยรุ่นนั้น มีความหลากหลาย บางคนไม่ได้เศร้า แต่เป็นอารมณ์หงุดหงิด โกรธ และแสดงออกในเชิงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม กลายเป็น ปัญหาเสพ เซ็กส์ ซ่า ในกลุ่มวัยรุ่น นั่นคือ เสพ หรือปัญหายาเสพติด เซ็กส์หรือปัญหาท้องในวัยรุ่น และซ่าหรือพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง โดยสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ เกิดจากเครียด เศร้า สั้น และสปอยล์ นั่นคือ เครียดที่เกิดจากความวิตกกังวล มีภาวะซึมเศร้า ซึ่งเครียดและซึมเศร้ามักจะมาควบคู่กัน รวมถึงมีภาวะสมาธิสั้น ทำให้เกิดการดื้อต่อต้าน ทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว และมีบุคลิกแบบอันธพาลต่อต้านสังคม และการเลี้ยงลูกแบบสปอยล์ของพ่อแม่ เอาใจตามใจลูกในทุกเรื่อง

พญ.ดุษฎี กล่าวต่อว่า โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่มีอัตราเกิดขึ้นสูง และทางการแพทย์ จิตเวชมีระบบการดูแลในเรื่องนี้ ซึ่งในกลุ่มภาวะซึมเศร้าวัยรุ่น มีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนครอบคลุมเพียง 10% เพราะไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับเด็กสอบติดเข้ามหาวิทยาลัย ดังนั้น ปัญหาโรคซึมเศร้า ที่จะทำให้เกิดการฆ่าตัวตายได้นั้นต้องมีวิธีการป้องกัน ซึ่งการป้องกันการฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็กเยาวชน มี 4 วิธี คือ 1.การสร้างทักษะชีวิต จัดการอารมณ์ สังคมทั้งบวกและลบได้อย่างเหมาะสม มองเหตุการณ์ตามความเป็นจริง 2.ไม่ผลิตข่าวซ้ำ ตอนนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ปรากฎการณ์ การลอกเลียนแบบ มีการผลิตซ้ำของการฆ่าตัวตายมากเท่าใด ทำให้เกิดการฆ่าตัวตายมากขึ้น แต่เมื่อมีการนำเสนอข่าวสารวิธีการดูแลโรคซึมเศร้ามากขึ้น ช่วยลดปัญหาโรคซึมเศร้าได้ 3.จำกัดวิธี ลดการเข้าถึงสถานที่ หรือวิธีการฆ่าตัวตาย และ4.มีระบบเฝ้าระวัง สถานศึกษาต้องสอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟังหรือรับฟังอย่างเข้าใจ และส่งต่อเชื่อมโยง. อย่างไรก็ตาม เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดมาแล้วไม่เจอความทุกข์ แต่เมื่อเจอความทุกข์อยากให้ทำความเข้าใจ ยอมรับ และปรับตัวกับมัน ความเศร้าเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้น ต่อให้หลายคนไม่อยากให้เกิดขึ้น

ดร.ลูซี่ ตันอติชาติ สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าสมาคมฯ มีอาสาสมัครที่ผ่านการอบรม มาทำหน้าที่รับฟังปัญหาผ่านการโทรศัพท์ และช่องทางทางเฟสบุ๊ค โดยมีขั้นตอนในการให้บริการทางโทรศัพท์ของสมาคมฯ ดังนี้ จะให้ผู้โทรได้พูดถึงความไม่สบายใจโดยไม่เร่งเร้า สะท้อนถึงสถานการณ์ที่ผู้โทรกำลังเผชิญอยู่ ถามถึงทางออกที่ผู้โทรคิดว่าจะทำให้เหตุการณ์ดีขึ้น หากยังไม่มีหรือยังคิดไม่ออกเราก็จะช่วยกันคิด ถามถึงความคิดที่จะจบชีวิต (ฆ่าตัวตาย) ให้กำลังใจ ถามว่าผู้โทรจะทำอย่างไรหลังจบการสนทนา และช่วยให้ผู้โทรศัพท์กลับมาใหม่เมื่อมีความทุกข์ใจ ซึ่งขณะสนทนา อาสาสมัครต้องประเมินถึงความเสี่ยงของผู้โทรต่อการฆ่าตัวตาย อาทิ จากคำพูด น้ำเสียง สิ่งแวดล้อม เช่นมีครอบครัวที่อบอุ่น มาจากต่างจังหวัด อยู่หอคนเดียว อยู่กับเพื่อน มีภาวะซึมเศร้าหรือไม่ มีการเตรียมอุปกรณ์ในการทำอัตวินิบาตกรรมหรือไม่ อยู่ใกล้หรืออยู่ตึกสูงหรือไม่ เป็นต้น