ปลัด วท.แจง กำหนด 46 หน่วยงานเพื่ออัดฉีดงบวิจัย
ปลัดวท.แจ้งประกาศกระทรวงเรื่อง "กำหนดหน่วยงานอื่นของรัฐที่อยู่ในกำกับของฝ่ายบริหาร"
เมื่อวันที่ 15 เม.ย.62 รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ชี้แจงว่า เรื่องประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี “กำหนดหน่วยงานอื่นของรัฐที่อยู่ในกำกับของฝ่ายบริหาร” ที่ประกาศในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562 กำหนดให้หน่วยงาน 46 แห่ง เป็นหน่วยงานอื่นของรัฐที่อยู่ในกำกับของฝ่ายบริหาร ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนานวัตกรรมตามความต้องการของภาครัฐ พ.ศ.2562 นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานที่มีชื่อในประกาศฉบับนี้ จัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างและพัฒนานวัตกรรมตามความต้องการของหน่วยงานเพื่อตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาความท้าทายของประเทศซึ่งหน่วยงานต่างๆ เหล่านี้จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐเป็นพิเศษ และเมื่อสร้างนวัตกรรมได้แล้วสามารถนำมาขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐที่เป็นเจ้าของโจทย์หรือที่ต้องการใช้งานจัดซื้อจัดจ้างนวัตกรรมอย่างน้อยร้อยละ 30
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวนี้ไม่เกี่ยวข้องกับต้นสังกัด โดยทุกหน่วยงานยังคงสังกัดหน่วยงานเดิม ส่วนมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้รับผลกระทบ ยังเข้าสู่โครงสร้างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตามแผนที่ได้วางไว้ แต่หน่วยงานจะได้รับประโยชน์จากงบประมาณในการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น
การพัฒนานวัตกรรมตามความต้องการของภาครัฐ คือ แนวทางใหม่ในการแก้ปัญหาที่เป็นความท้าทายของหน่วยงานภาครัฐทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ซึ่งผลิตภัณฑ์/บริการ หรือ Solution ที่ต้องการใช้นั้น อาจยังไม่มีจำหน่ายหรือให้บริการในประเทศ หรือยังไม่สามารถระบุคุณสมบัติได้ อีกทั้งยังต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาอีกระยะหนึ่ง แนวคิดนี้เรียกอีกอย่างว่า Research Procurement หรือ RDI for Government Demand
การดำเนินการแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ช่วงการศึกษาแนวคิดและความเป็นไปได้ ช่วงการพัฒนาต้นแบบ และช่วงการผลิตต้นแบบจำนวนหนึ่งเพื่อทดลองใช้งานและทดสอบคุณภาพ หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้กำหนดความต้องการจะเปิดโอกาสให้หน่วยงานวิจัย/สถาบันการศึกษา ร่วมกับภาคเอกชน ส่งข้อเสนอโครงการเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์และความต้องการดังกล่าว
โดยในแต่ละช่วงอาจมีหลายทีมได้รับการสนับสนุนทุนเพื่อดำเนินการตามข้อเสนอ และเมื่อสิ้นสุดการดำเนินการในแต่ละระยะจะมีการประเมินผลงานและคัดเลือกทีมที่มีผลงานมีความเป็นไปได้ที่จะสำเร็จสูง เพื่อดำเนินการในช่วงต่อไป จนกระทั่งสิ้นสุดระยะที่ 3 ภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการสามารถนำนวัตกรรมที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาไปผลิตหรือให้บริการในเชิงพาณิชย์ แล้วนำมาขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาความท้าทายในวงกว้างต่อไป
โดยการดำเนินการนี้จะเกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน เริ่มตั้งแต่การส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐริเริ่มโครงการนวัตกรรม ช่วยสร้างวัฒนธรรมในการใช้การวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาของประชาชน ลดการนำเข้าและพึ่งพิงเทคโนโลยีจากต่างประเทศ อีกทั้งยังช่วยยกระดับผู้ประกอบการไทยให้มีขีดความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมโดยผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยและสถาบันอุดมศึกษา สามารถลดขั้นตอนและระยะเวลาในการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทำให้งบประมาณของรัฐที่ใช้ในการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมเกิดความคุ้มค่าทั้งในภาครัฐ การวิจัย ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม