สิ้นศิลปินแห่งชาติ 'ประดิษฐ์ ยุวะพุกกะ' ผู้เป็นเลิศด้านสถาปัตยกรรม แบบประเพณี
สิ้นศิลปินแห่งชาติ "ประดิษฐ์ ยุวะพุกกะ" ศิลปินผู้เป็นเลิศด้านสถาปัตยกรรม แบบประเพณี
นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า วงการสถาปัตยกรรมไทยสูญเสีย ศิลปินชั้นครู ผู้เชี่ยวชาญงานสถาปัตยกรรม (แบบประเพณี) คือ นายประดิษฐ์ ยุวะพุกกะ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบประเพณี) พุทธศักราช 2544 ที่จากไปด้วยอาการปอดติดเชื้อที่โรงพยาบาลรามคำแหง เมื่ออาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม 2562 เวลาประมาณ 03.20 น. สิริอายุรวม 96 ปี โดยจะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 เวลา 17.00 น. ณ ศาลา 9 วัดโสมนัสราชวรวิหาร แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ และกำหนดสวดพระอภิธรรม ระหว่างวันที่ 8-10 พฤษภาคม 2562 เวลา 18.30 น. โดยมีกำหนดพระราชทานเพลิงศพวันที่ 11 พฤษภาคม 2562 เวลา 14.00 น. ณ เมรุวัดโสมนัสราชวรวิหาร แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ
อธิบดี สวธ. เผยต่อว่า ในส่วนของการช่วยเหลือด้านต่าง ๆ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะดำเนินการมอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพจำนวน 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท
ด้านประวัติของนายประดิษฐ์ ยุวะพุกกะ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบประเพณี) พุทธศักราช 2544 เกิดเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2465 ท่านเป็นศิลปินที่ได้สร้างสรรค์ผลงานสถาปัตยกรรมไว้เป็นจำนวนมาก การเผยแพร่ผลงานจึงมีอยู่ทุกหนแห่งเป็นที่ประจักษ์ที่เหมาะสมและเป็นแบบอย่าง เนื่องด้วย ครอบครัวของท่านประดิษฐ์ ยุวะพุกกะ มีเลือดเนื้อเชื้อไขเป็นช่างในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีความเป็นเลิศทางงานช่างด้านศิลปะสถาปัตยกรรมที่ฝีมือสูงเด่น ตลอดจนมีครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาการให้ ทำให้ได้รับอิทธิพลและได้รับการสืบทอด สามารถนำมาสร้างสรรค์ผลงานให้เป็นมรดกแก่อนุชนและแผ่นดินเป็นจำนวนมาก
อาจารย์ประดิษฐ์ มีความรู้ความชำนาญทางด้านการออกแบบและตกแต่งเจดีย์ อุโบสถ ศาลาอเนกประสงค์ กำแพง ซุ้มประตู การเขียนลวดลายบนบานประตู ฝาผนัง แกะสลักหยวกตกแต่งจิตกาฐาน ฯลฯ ซึ่งท่านได้สร้างสรรค์ผลงานตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ล้วนเป็นผลงานที่มีการพัฒนา การอนุรักษ์ การสืบสาน และมีเอกลักษณ์เป็นของตนเองและของประเทศ เป็นที่ยอมรับในวงการช่างวิชาชีพและประชาชน เป็นแบบอย่างให้อนุชนรุ่นหลังดำเนินรอยตาม เพื่อสืบสานงานสถาปัตยกรรมแบบประเพณีให้ดำรงอยู่สืบไป จึงได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบประเพณี) พุทธศักราช 2544