เตรียมนำเข้ากัญชารักษาผู้ป่วย 'มะเร็งระยะสุดท้าย'
อย.เตรียมนำเข้ากัญชารักษาผู้ป่วยกลุ่มจำเป็นต้องรับยาต่อเนื่อง 2,000 คน เร็วสุดภายในปลายมิถุนายนนี้ ส่วนยอดผู้แจ้งนิรโทษฯคาดถึง 2 หมื่นคน ร้อยละ 90 จำเป็นต้องใช้กัญชา ส่วนร้อยละ 10 เป็นโรคแพทย์แผนปัจจุบันรักษาได้ไม่จำเป็นต้องใช้กัญชา
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. บอกว่า ยอดผู้มาแจ้งนิรโทษกรรมครอบครองกัญชาทั่วประเทศ ณ ปัจจุบันมีจำนวน 16,000 คน และคาดว่าจะถึง 2 หมื่นคน โดยมีผู้มาแจ้งครอบครองที่ อย. ประมาณ 2,000 คน ร้อยละ 90 เป็นกลุ่มผู้ป่วยและจำเป็นต้องใช้กัญชารักษาโรค ส่วนร้อยละ 10 เป็นผู้ที่ไม่ควรจะมีกัญชาไว้ในครอบครองโดย ในจำนวน 16,000 คน แบ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยจำเป็น ซึ่งเป็นโรคที่มีข้อมูลชัดเจนว่ากัญชาได้ประโยชน์ครอบคลุม 4 โรค ซึ่งมีผู้มาแจ้งเข้าข่ายโรคต่าง ๆ 50-60 คน เช่น โรคมะเร็งระยะสุดท้าย โรคลมชักในเด็ก ที่รักษาอาการในโรงพยาบาล ส่วนกลุ่มอื่นๆ เช่น พาร์กินสัน ร้อยละ 20 ส่วนร้อยละ 30 เป็นการแจ้งโรคอื่นๆ เช่น โรคเครียด โรคนอนไม่หลับโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งกลุ่มนี้สามารถรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันได้บางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้กัญชารักษา นอกจากนี้พบว่ายังมีการแจ้งอื่นๆเช่น ปวดศีรษะ ไมเกรน ซึ่งกลุ่มนี้แพทย์แผนปัจจุบันรักษาได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้กัญชา
โดยหลังจากนี้จะแจ้งไปยังแพทย์ที่ผ่านการอบรมเพื่อจับคู่ผู้ป่วยในการรักษาอย่างสถานพยาบาล ขณะเดียวกันก็ได้รับการบริจาคจากหน่วยงานภายนอก 500 ขวด ซึ่งผ่านการตรวจวิเคราะห์เรียบร้อยแล้วและอีกส่วนอยู่ระหว่างการจัดหาขององค์การเภสัชกรรมหรือ อภ. และสภากาชาดไทย
ส่วนอีกกลุ่มที่มีความจำเป็นและสามารถรอได้ เช่น ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน หากหยุดได้จะมีอาการตัวสั่น กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ อย.จะต้องจ่ายยาให้อย่างต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มอาการอื่นจะอยู่ในกลุ่มสุดท้ายที่จะได้รับยาเพราะหากนำไปใช้ในกลุ่มที่จำเป็นอาจทำให้ปริมาณยาไม่เพียงพอสำหรับกลุ่มที่มีไม่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชา
สำหรับความคืบหน้าการนำเข้ากัญชา ล่าสุด อย. ได้ส่งหนังสือสอบถามไปยัง อภ. และสภากาชาดไทยเพื่อให้เร่งนำเข้ากัญชาให้ได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ หรืออย่างเร็วที่สุดภายในปลายเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยและเพื่อให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นได้รับยาอย่างต่อเนื่อง ส่วนปริมาณการนำเข้าจะพิจารณาจากฐานข้อมูลที่มีการยื่นแจ้งครอบครองกัญชาเบื้องต้นมีผู้ป่วย 2,000 รายจำนวนนี้จะต้องไปวินิจฉัยโรคอีกครั้งซึ่งช่วงแรกอาจยอมรับว่าผลผลิตที่ได้ตามกฎหมายอาจไม่เพียงพอ