กรมอนามัยแนะ 5 เคล็ดลับทำให้ลูกสูง
เด็กไทยวัยเรียน 8.8% มีภาวะเตี้ย ค่าเฉลี่ยความสูงผู้หญิง 149.9 ซม. เด็กผู้ชายแค่ 148.6 ซม. ตั้งเป้าปี 64 ขยับความสูงเด็กประถมต้องถึง 154-155 ซม. กรมอนามัยแนะ 5 หลักทำให้เด็กสูง อาหารครบโภชนาการ-ดื่มนมวันละ 2 แก้ว-กินไข่วันละฟอง-กระโดดโลดเต้น-นอน
เมื่อวันที่ 30 พ.ค.62 พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวเรื่องในวันดื่มนมโลก 1 มิ.ย.ของทุกปีว่า ความสูงของเด็กเป็นตัวสะท้อนหนึ่งถึงคุณภาพของเด็กเป็นอย่างดีว่าได้รับอาหารที่ทำให้สูงเพียงพอต่อการเจริญเติบโต และสร้างความแข็งแรงให้ร่างกายหรือไม่ ขณะเดียวกันอาหารนั้นจะไปเลี้ยงสมองในเวลาเดียวกันด้วย ซึ่งจากระบบรายงาน Health Data Center กระทรวงสาธารณสุข ปี 2562 พบเด็กวัยเรียน 6-14 ปีมีภาวะเตี้ย 8.8 % ขณะที่เป้าหมายของประเทศกำหนดไว้ไม่เกิน 5 % จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าการเจริญเติบโตของเด็กวัยเรียนยังไม่ดีเท่าที่ควร คือ มีส่วนสูงน้อยกว่าเกณฑ์ในเด็กที่มีอายุเท่ากัน โดยปัจจุบันเด็กผู้ชายอายุ 12 ปี ค่าเฉลี่ยความสูงอยู่ที่ 148.6 เซนติเมตร(ซม.) เด็กผู้หญิง 149.9 ซม. ทั้งนี้ ประเทศไทยตั้งเป้าให้ปี 2564 เด็กผู้ชายอายุ 12 ปีมีส่วนสูงเฉลี่ย 154 ซม.และเด็กผู้หญิง 155 ซม.
พญ.พรรณพิมล กล่าวอีกว่า การจะเพิ่มความสูงให้กับเด็กนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมให้เด็กวัยเรียนได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ดื่มนมรสจืดเสริมจากอาหารมื้อหลักวันละ 2 แก้ว/กล่อง ซึ่งปัจจุบันตัวเลขเด็กที่ได้ดื่มนมวันละ 2 แก้ว/กล่องอยู่ที่ 70 % โดยจะต้องให้เด็กดื่มนมรสจืดเท่านั้นจะทำให้ได้รับสารอาหารที่มีอยู่ในนมอย่างเต็มที่ เช่น แคลเซียม โปรตีนและอื่นๆ แต่หากดื่มนมที่ปรุงแต่งรส ใน 1 กล่องจะทำให้ปริมาณน้ำนมที่ได้รับลดจำนวนลงแต่กลับจะได้รับน้ำตาลที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กแทนนอกจากนี้ จะต้องกินไข่วันละ 1 ฟอง ให้เด็กมีกิจวัตรประจำวัน เคลื่อนไหวร่างกาย กระโดดโลดเต้น ซึ่งจะทำให้เกิดแรงกดตรงข้อต่อที่เป็นจุดสำคัญในการกระตุ้นกระดูกให้เจริญเติบโต เมื่อร่วมกับการได้รับสารอาหารที่เหมาะสมเพียงพอทั้งแคลเซียมและโปรตัน จะทำให้ร่างกายยืดตัว อีกทั้ง เด็กต้องนอนอย่างเพียงพอ เพราะฮอร์โมนเจริญเติบโตจะหลั่งออกมาในช่วงที่หลับอย่างเต็มที่
“ในช่วงอายุ 12 ปีค่าเฉลี่ยความสูงของเด็กหญิงจะมากกว่าเด็กชาย เนื่องจาก เด็กผู้หญิงจะเริ่มสูงเมื่ออายุ 9-10 ปี ความสูงจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงอายุ 12 ปี เป็นช่วงเวลาทอง และค่อยๆลดลงจนถึงอายุ 16-18 ปีจากนั้นจะหยุดสูง ส่วนเด็กผู้ชายจะเริ่มสูงเมื่ออายุ 10-12 ปี ความสูงจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงอายุ 14 ปี และค่อยๆลดลงจนถึงอายุ18-20ปีจากนั้นจะหยุดสูง จึงต้องมีการส่งเสริมเรื่องการเพิ่มความสูงให้เด็กไทยตั้งแต่เด็ก”พญ.พรรณพิมลกล่าว
พญ.พรรณพิมล กล่าวอีกว่า สำหรับการดื่มนมของเด็กไทยนั้น พบว่ายังมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับทั่วโลก ซึ่งเกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัยใหญ่ ได้แก่ 1.ตัวเด็กเอง ที่ไม่คุ้นชินกับรสชาติของนมจึงไม่ดื่ม เนื่องจากพ่อแม่ไม่ได้เริ่มฝึกให้เด็กคุ้นชินกับอาหารที่เป็นราชาติใหม่ ด้วยการให้ดูดนมหรือดื่มนมจากแก้ว และ2.สิ่งแวดล้อม พ่อแม่ คนอยู่แวดล้อมจะต้องเชิญชวนและฝึกให้เด็กดื่มนม แต่ที่สำคัญ จะต้องให้ดื่มรสจืด เพราะหากเบี่ยงไปให้ดื่มนมมีรสอื่นหรือนมเปรี้ยม จะทำให้เด็กรส หลังจากนั้นจะให้เด็กมาดื่มรสชาติเป็นสิ่งที่ยาก
“การดื่มนมจะทำให้ได้รับแคลเซียมและสารอาหารอื่นที่ช่วยให้เด็กเจริญเติบโตที่ดีสมวัยและสูง ส่วนที่พ่อแม่อยากให้ลูกสูงด้วยการซื้อแคลเซียมเม็ดมาให้กินแทนการดื่มนมนั้น หากเด็กได้ดื่มนมรสจืดอย่างเพียงพออย่างน้อยวันละ 2 แก้ว การกินแคลเซียมเม็ดไม่มีความจำเป็น เพราะในนมโคมีแคลเซียมและสารอาหารอื่นๆดีกว่าเม็ดแคลเซียมแน่นอน สำหรับข้อกังวลถึงการที่หญิงตั้งครรภ์ดื่มนมวัวมากขณะท้องแล้วจะทำให้ลูกคลอดมามีภาวะแพ้นมวัวนั้น การแพ้ของเด็กไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดื่มนมของมารดาขณะตั้งครรภ์ แต่อาจเป็นเพราะมีภาวะแพ้นมวัวอยู่แล้ว” พญ.พรรณพิมลกล่าว