แนะมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค

แนะมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค

กรมควบคุมโรค มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลายอย่างใกล้ชิด พร้อมแนะมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค

วันนี้ (7 มิถุนายน 2562) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าว พบเด็กนักเรียนและครูชาวสิงคโปร์ติดเชื้อชิคุนกุนยาจำนวน 14 ราย หลังเดินทางมาเรียนรู้การบริการสังคมที่จังหวัดราชบุรี โดยมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดตามตัว อาเจียน ซึ่งผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่าติดเชื้อโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ซึ่งกรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรค ที่ 5 จังหวัดราชบุรี สำนักป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และสำนักระบาดวิทยา ส่งทีมสอบสวนควบคุมโรค (Joint Investigation Team : JIT) ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อดำเนินการสอบสวนควบคุมโรคและค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมทันที ล่าสุดได้รับรายงานว่านักเรียนและครูชาวสิงคโปร์ที่ติดเชื้อหายเป็นปกติ และได้เดินทางกลับประเทศแล้ว ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคจะประสานไปยังจุดประสานงานกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHRNFP) ประเทศสิงคโปร์ เพื่อติดตามอาการต่อไป

หลังจากได้รับรายงานเหตุการณ์ในเบื้องต้นทีมสอบสวนโรคพบว่า ในพื้นที่ที่มีรายงานผู้ป่วยนั้น มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงจำนวนมาก ซึ่งผลการสำรวจลูกน้ำยุงลายในวันที่ 4-5 มิถุนายน พบว่า ในทุกสถานที่ทั้งชุมชน โรงเรียน และ โรงพยาบาล ยังมีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายที่สูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน ทีมสอบสวนควบคุมโรคจึงได้ดำเนินมาตรการ ดังนี้ 1.ควบคุมโรคตามมาตรการ 0 3 7 สำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ โดยการพ่นสารเคมีในวันที่ 5 มิ.ย. เป็นการพ่นแบบหมอกควันร่วมกับแบบละอองฝอยติดรถยนต์ 2.เฝ้าระวังผู้ป่วยรายใหม่ 3.สนับสนุนมุ้งจำนวน 20 หลัง และแจกยาทากันยุง และ 4.สร้างการรับรู้ของประชาชน ให้เกิดความตระหนักว่าการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายเป็นหน้าที่ของทุกคนต้องช่วยกันป้องกัน สำหรับสถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลาย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 3 มิถุนายน 2562 พบผู้ป่วย 3,592 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ 25-34 ปี รองลงมาคือ 15-24 ปี และ 35-44 ปี ตามลำดับ

 

โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา ที่มีทั้งยุงลายสวนและยุงลายบ้าน เป็นพาหะนำโรค ซึ่งพบได้ในทุกกลุ่มอายุ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย และอาจมีอาการคันร่วมด้วย พบตาแดง แต่ไม่ค่อยพบจุดเลือดออกในตาขาว ส่วนใหญ่ในเด็กอาการไม่รุนแรงเท่าผู้ใหญ่ โดยอาการเด่นชัดในผู้ใหญ่คือปวดข้อ อาจพบข้ออักเสบได้ ซึ่งเป็นที่ข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาการปวดข้อ จะพบได้หลายๆ ข้อเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ อาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ และอาการจะหายภายใน 1-2 สัปดาห์ บางรายอาจมีอาการปวดข้อนานเป็นเดือนหรือเป็นปีได้ ไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อก ซึ่งโรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ จะคล้ายๆ กับไข้หวัดที่มีไวรัสเป็นสาเหตุเช่นเดียวกัน จึงต้องรักษาตามอาการ จนกว่าร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานมากำจัดโรคได้

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การกำจัดยุงลาย นั้น ทุกฝ่ายต้องช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยยึดหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทั้งนี้ จะสามารถป้องกันได้ 3 โรคในคราวเดียวกัน คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย อย่างไรก็ตาม การกำจัดยุงลายนั้น ต้องเริ่มกำจัดตั้งแต่ตอนเป็นลูกน้ำเพราะอยู่ในภาชนะที่เราสามารถจัดการได้ ส่วนยุงบินนั้น ประชาชนอาจซื้อสเปรย์กระป๋องมาฉีดพ่นเองภายในบ้านเพื่อกำจัดยุงลายตัวที่มีเชื้อ ส่วนรอบนอกสาธารณะ เทศบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาดูแลร่วมกัน ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน  กรมควบคุมโรค โทร.1422

แนะมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค