ผนึก 6 หน่วยงานร่วมสร้างครูรัก(ษ์)ถิ่น
6 หน่วยงานร่วม MOU พร้อมสร้างครูรัก(ษ์)ถิ่น ตอบโจทย์โรงเรียนห่างไกลขาดครู ลดเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ชวนสถาบันการศึกษาผลิตครูเข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นครูต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครูที่มีคุณภาพในอนาคต
เมื่อวันที่ 3 ก.ค.62 ที่อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดพิธีลงนาม MOU ในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น โดย 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อสนับสนุนทุนสร้างโอกาสทางการศึกษา สำหรับนักเรียนยากจนด้อยโอกาสจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำที่สุดร้อยละ 20 แรกของประเทศในพื้นที่ห่างไกลที่อยากเป็นครูได้เรียนครูจนจบปริญญาตรีและกลับมาเป็นครูในโรงเรียนท้องถิ่นของตน ทั้งนี้เมื่อศึกษาจนจบตามหลักสูตร จะได้รับการบรรจุเป็นครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลได้ทั้งหมด
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า การลงนามข้อตกลงในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างหลายหน่วยงาน เพื่อสนับสนุนโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นโครงการที่มีความต่อเนื่องตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ช่วยสร้างโอกาสให้นักเรียนยากจนด้อยโอกาสที่มีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีและมีจิตวิญญาณความเป็นครู ได้เรียนครูจนจบปริญญาตรีอย่างมีคุณภาพ มีทักษะความพร้อมสำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และได้รับการบรรจุเป็นครูรุ่นใหม่ในโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล โดยจะสนับสนุนทุนให้แก่นักศึกษา รุ่นละ 300 ทุนทั้งหมด 5 รุ่น รวม 1,500 ทุน เฉลี่ยทุนละ 160,000 บาท/ทุน/ปี ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าที่พัก ค่าครองชีพรายวัน ค่าตำราและอุปกรณ์การเรียนที่จำเป็น ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป
"โครงการนี้จะดำเนินงานผ่านสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี ในสาขาปฐมวัยและประถมศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะมีการคัดเลือกสถาบันเข้าร่วมโครงการราว 10 สถาบัน ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยสถาบันสนใจที่สามารถยื่นข้อเสนอโครงการตลอดเดือนกรกฎาคมนี้ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ หมายเลขโทรศัพท์ 02-079-5475 กด 6 ในวันและเวลาราชการ" นพ.สุภกร กล่าว
นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.เป็นหน่วยงานสำคัญที่กำกับดูแลโรงเรียนปลายทาง ซึ่งเป็นโรงเรียนในพื้นที่เป้าหมายในการบรรจุครูเพื่อไปทำงานในพื้นที่ดังกล่าวจากโครงการนี้ โดยพบว่าโรงเรียน 2,000 แห่ง จาก 30,000 แห่ง ไม่สามารถยุบควบรวมได้ แต่ยังมีปัญหาเรื่องการขาดครู และย้ายออก ดังนั้นโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่ร่วมทำกับ กสศ.จะทำให้การขาดครูลดน้อยลง และทำให้เด็กได้ศึกษาเล่าเรียนตามที่ควรจะเป็น โดยโรงเรียนเหล่านี้เป้าหมายอยู่ในพื้นที่สูง ชายขอบ บนเกาะ และโรงเรียนมักไม่มีครูท้องถิ่นสอนอยู่
"เมื่อมีโครงการนี้เชื่อว่าคนที่อยู่ในท้องถิ่นแล้วได้เป็นครูคงไม่ย้ายออก ปัจจุบันครูสอนในระดับประถมศึกษายังขาดแคลน ตอนนี้ขาดอยู่เกือบ 4,000 คน โดยผู้จบทางประถมศึกษามีประมาณ 8,000 พันคน จากผู้จบทั้งหมด 2.5 แสนคน ทั้งนี้จำนวนครูที่มีการโยกย้ายในปี 2562 มีครูในสังกัด สพฐ. เช่น จ.เชียงใหม่ มีการโยกย้าย 179 อัตรา, จ.เชียงราย โยกย้าย 80 อัตรา, จ.ชัยภูมิ 159 อัตรา, จ.กาญจนบุรี 102 อัตรา และ จ.สตูล 47 อัตรา หากโครงการนี้ช่วยให้ครูไปบรรจุในพื้นที่จะแก้ปัญหาการศึกษาที่ไม่ได้รับความเสมอภาคลดน้อยลงไป ในระยะ 4-5 ปี ปัญหาน่าจะทุเลาลงทำให้เด็กได้รับโอกาสและการจัดสรรที่เท่าเทียมกัน" นายสนิท กล่าว
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ทาง อว.สนับสนุนโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น โดยมีเหตุผล 3 เรื่องคือ 1.การสร้างคนที่มีความพร้อมรองรับในศตวรรษที่ 21 อย่างโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ถือเป็นโครงการผลิตคนให้เก่ง 2.นำนวัตกรรม องค์ความรู้ ไปพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการระดมสมองช่วยกันเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และให้โอกาสผู้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ถือเป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ โครงการนี้จะไปสนับสนุนยุทธศาสตร์ของ อว. 3.ครูคือหัวใจสำคัญของการศึกษา เพราะแม้แต่ในวงการสุขภาพแพทย์มีความสำคัญที่สุด ดังนั้นในวงการศึกษาครูถือว่ามีความสำคัญที่สุดเช่นกัน เพราะฉะนั้นถ้าไม่สนับสนุนครูผลิตครูที่เก่งขึ้นมาวงการศึกษาก็ไม่สามารถเดินต่อไปไม่ได้ จึงคิดว่าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มีความสอดคล้องกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ ผลิตครูในท้องถิ่น โดยหลังจากนี้จะชักชวนสถาบันการศึกษาผลิตครูเข้าร่วมโครงการต่อไป แนวคิดโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่ทำมาเห็นว่าครบวงจรทั้งหมด ซึ่งจะเป็นแม่แบบในการพัฒนาส่วนอื่นๆ ต่อไป