สจล. เตรียมเสนอนายกฯ ขุด 'แก้มลิงใต้ดิน' นำร่องสุขุมวิท-จตุจักร แก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงฯ
สจล. เสนอ นายกฯ ขุด “แก้มลิงใต้ดิน” ลดสูญเสียศก.จากน้ำท่วม 500 ล้านบาท ต่อ2 ชม. นำร่องสุขุมวิท-จตุจักร รองรับน้ำได้กว่า 1 แสน ลบ.ม. ต้นทุนการก่อสร้างราว 1 พันล้านบาท คาด 2 ปีเสร็จ
เมื่อวันที่ 12 ก.ค.62 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) แถลงข่าวข้อมูลเชิงลึก แนวทางการก่อสร้าง “แก้มดินใต้ดิน BKK” ตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 แหล่งเก็บน้ำใต้ดิน ทางออกวิกฤตน้ำรอการระบาย นำร่องพัฒนา 2 พื้นที่ ได้แก่ “สวนเบญจกิติ” (โรงงานยาสูบ) ครอบคลุมพื้นที่ 900,000 ตารางเมตร ย่านสุขุมวิท-อโศกจนถึงย่านพระราม 4 ใน 4 เขต คือ เขตคลองเตย เขตวัฒนา เขตสาทร เขตยานนาวา แห่งที่สอง ได้แก่ “สวนวชิรเบญจทัศ” (สวนจตุจักร) ครอบคลุมพื้นที่ วิภาวดี จตุจักร ลาดพร้าว และบางซื่อ ซึ่งเป็นพื้นที่ปราศจากปัญหาเมื่อทำการก่อสร้าง และปัญหาเวนคืนที่ดิน
ด้วยขนาดการก่อสร้างแก้มลิงใต้ดิน 100x50x20 เมตร สามารถรองรับปริมาณน้ำได้กว่า 1 แสนลูกบาศก์เมตร ช่วยจัดการปัญหาน้ำท่วมขังอย่างมีประสิทธิภาพได้ภายใน 15 นาที ลดมูลค่าการสูญเสียด้านเวลาและเศรษฐกิจกว่า 500 ล้านบาท ต่อน้ำท่วมขังหนึ่งครั้งในระยะเวลา 2 ชั่วโมง โดยคาดคะเนมูลค่าการลงทุนก่อสร้างราว 1,000 ล้านบาท ใช้เวลาการก่อสร้างไม่ถึง 2 ปี ซึ่งหากแล้วเสร็จ จะทำให้พื้นที่เศรษฐกิจกรุงเทพฯ ชั้นใน ย่านดังกล่าว ไม่มีปัญหาน้ำท่วมขังเนื่องจากน้ำรอระบายอีกต่อไป
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวในงานแถลงข่าวข้อมูลเชิงลึก แนวทางการก่อสร้าง “แก้มดินใต้ดิน BKK” ว่า หนึ่งปัญหาใหญ่ที่กรุงเทพฯ กำลังประสบ และได้รับการพูดถึงจากสังคมเป็นอย่างมาก ไม่ใช่ปัญหา “อุทกภัย” แต่เป็น “ปัญหาน้ำท่วมขังในช่วงฝนตก” ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การคมนาคม ตลอดจนก่อให้เกิดมูลค่าการสูญเสียทางเศรษฐกิจ หากฝนตกไม่เกิน 60 มล.ม. กทม.จะมีจุดเสี่ยงน้ำท่วม 14 จุด ในเขตหลักสี่ จตุจักร บางซื่อ ดุสิต พญาไท ยานนาวา มีนบุรี บางแค และบางขุนเทียน แต่หากมีฝนเกิน 60 มล.ม. กทม.จะมีจุดเสี่ยงน้ำท่วมกว่า 56 จุด
ขณะที่ “โครงสร้างกรุงเทพฯ เป็น แอ่งกระทะ ถนนต่ำกว่าระดับแหล่งน้ำ เมื่อฝนตกลงมา น้ำจึงระบายไม่ได้ เพราะท่อระบายน้ำอยู่สูงกว่าซอย สูงกว่าถนน และแม้ว่ากรุงเทพฯ จะมี ‘อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ’ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แต่ด้วยขีดความสามารถในการระบายน้ำที่จำกัด และปัญหาขยะอุดตัน ทำให้ไม่สามารถลำเลียงน้ำไประบายได้เต็มประสิทธิภาพ ทำให้มีปริมาณน้ำรอระบายบนพื้นถนน เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง ดังนั้น เทคโนโลยีที่จะนำมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือการสร้าง แก้มลิงใต้ดินตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 โดยยังคงพื้นที่สีเขียวไว้ได้ เช่นเดียวกับกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเอง มีการสร้างแก้มลิงเก็บกักน้ำไว้ใต้ดินได้สำเร็จ และด้านบนเป็นสนามกีฬา สามารถเก็บน้ำได้มากถึง 3.5 แสนลูกบาศก์เมตร
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการวิจัยพบว่า หากมีพื้นที่น้ำท่วมขังราว 50% ของพื้นที่กรุงเทพ เป็นระยะเวลา 120 นาที จะก่อให้เกิดมูลค่าการสูญเสียทางเวลาและเศรษฐกิจสูงกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งหากเราลดระยะเวลาน้ำท่วมขังในพื้นที่ลงมาเหลือ 15 นาที จะมีมูลค่าการสูญเสียเพียง 60 ล้านบาท หรือเท่ากับสามารถลดมูลค่าการสูญเสียได้กว่า 440 ล้านบาท ในทุกครั้งที่ฝนตกน้ำท่วม และเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขมูลค่าการสูญเสียทางเศรษฐกิจต่อผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) ในระยะเวลาน้ำท่วมขัง 2 ชั่วโมงต่อฝนตกหนึ่งครั้ง อยู่ที่ 0.0114% นับว่า ‘แก้มลิงใต้ดิน’ ใช้งบลงทุนที่น้อย แต่สามารถช่วยจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“แก้มลิงใต้ดิน จะเน้นในพื้นที่ๆ เป็นจุดวิกฤต ส่วนพื้นที่รอบนอก เช่น รามคำแหง มีอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำอยู่แล้ว ต้องไปแก้ไขการจัดการระบบสูบน้ำ ส่วนแถวลาดกระบัง สวนหลวง มีแก้มลิงตามธรรมชาติ เพราะเป็นพื้นที่ต่ำ จึงยังไม่จำเป็นที่ต้องทำแก้มลิงใต้ดินในวันนี้ ซึ่งหลังจากแถลงข่าวไปแล้ว จะนำเสนอแผนให้แก่ทางกรุงเทพมหานครและนายกรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า” อธิการบดี สจล. กล่าว
นอกจากนี้ สจล. ยังต่อยอดไอเดียนวัตกรรมสู่โมเดล “แก้มลิงใต้ดิน BKK” บริเวณปากซอย ขนาด 5x20x10 เมตร ประมาณการงบลงทุนราว 3 ล้านบาท สามารถรองรับน้ำได้ 1,000 ลูกบาศก์เมตร ใช้เวลาก่อสร้างราว 2 เดือน เพื่อการจัดการน้ำรอระบายครบวงจร เสนอนำร่องย่านประตูน้ำ ย่านราชดำริ เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ชั้นใน ลดปัญหาน้ำท่วมขังที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจภาพรวม