องค์กรสิ่งแวดล้อมออกแถลงการณ์ป้องนักรณรงค์สิ่งแวดล้อมหลังถูกข่มขู่

องค์กรสิ่งแวดล้อมออกแถลงการณ์ป้องนักรณรงค์สิ่งแวดล้อมหลังถูกข่มขู่

เครือข่ายฯ 53 องค์กรสิ่งแวดล้อมประณามการข่มขู่คุกคามเอกชัย อิสระทะ หลังพยายามเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการเหมืองแร่หิน จ.พัทลุง พร้อมเรียกร้องให้มีการให้การคุ้มครอง

โดยแถลงการณ์ถูกเผยแพร่โดยมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw Thai Foundation) บ่ายวันนี้ และมี อีก 52 องค์กรลงชื่อให้การสนับสนุน

แถลงการณ์ของเครือข่ายฯ ได้ระบุว่า ได้เกิดเหตุการณ์ข่มขู่คุกคามนายเอกชัย เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.กลาง)และกป.อพช.ภาคใต้ ซึ่งได้เดินทางไปเข้าร่วมสังเกตการณ์การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุง เพื่อประกอบการพิจารณาคำขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) ของบริษัทแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ณ มัสยิด ในอำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง สถานที่จัดงาน

โดยเมื่อไปถึง นายเอกชัยถูกชายฉกรรจ์กลุ่มหนึ่งขัดขวางห้ามไม่ให้เข้าร่วมเวที พร้อมทั้งทำการยึดโทรศัพท์มือถือ รถยนต์ และบัตรประจำตัวประชาชนไว้ด้วย, เครือข่ายฯ อ้างถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ชายกลุ่มดังกล่าวยังได้บังคับควบคุมตัวนายเอกชัยขึ้นรถยนต์ไปกักขังไว้ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง จนกระทั่งในช่วงเย็นวันเดียวกันจึงปล่อยตัวออกมา โดยข่มขู่ห้ามไม่ให้แจ้งความดำเนินคดี และห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับโครงการทำเหมืองหินนี้อีกต่อไป มิเช่นนั้นจะไม่รับรองความปลอดภัยของนายเอกชัยและครอบครัว

ทางมูลนิธิฯ และองค์กรเครือข่าย จึงขอประณามการกระทำโดยไม่ยำเกรงต่อกฎหมายดังกล่าว อันเป็นการข่มขู่คุกคามและละเมิดต่อสิทธิในชีวิต ร่างกาย เสรีภาพและความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและประชาชนอย่างร้ายแรง

โดยเครือข่ายฯ มีความเห็นว่า นายเอกชัย รวมถึงประชาชนทุกคนที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อมีส่วนร่วมในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ สิทธิชุมชน และประโยชน์สาธารณะ ถือเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตาม “ปฏิญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” (The UN Declaration on Human Rights Defenders) ที่รัฐไทยมีพันธะต้องให้การรับรองคุ้มครองและส่งเสริมให้สามารถทำหน้าที่ได้โดยปลอดภัย ปราศจากความหวาดกลัวและการข่มขู่คุกคามในทุกรูปแบบ

“การมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นของประชาชนในขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติอนุญาตโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพวิถีชีวิตของชุมชน ทั้งในรูปแบบการเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น การยื่นหนังสือต่อหน่วยงาน การจัดเสวนาสาธารณะ หรือการแสดงออกในรูปแบบอื่นใดโดยสันติวิธี เป็นส่วนหนึ่งของการใช้สิทธิมีส่วนร่วมจัดการบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการรับรองคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 43 และถือเป็นกลไกสำคัญในการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วมภายใต้หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เครือข่ายฯ ระบุ และกล่าวว่า หน่วยงานเจ้าหน้าที่รัฐและภาคธุรกิจเอกชนมีหน้าที่ต้องเคารพให้ความสำคัญและประกันรับรองให้กระบวนการมีส่วนร่วมนั้นเกิดขึ้นได้โดยเสรี ปราศจากการปิดกั้นข่มขู่คุกคาม ทั้งนี้ตามหลักการชี้แนะ เรื่อง ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ของสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights หรือ UNGPs) ที่รัฐไทยให้การรับรองและผูกพันต้องปฏิบัติตาม

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทางเครือข่ายฯ จึงมีข้อเรียกร้องให้เจ้าพนักงานตำรวจเร่งสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบังคับข่มขู่และกักขังหน่วงเหนี่ยวนายเอกชัยตามกฎหมายให้ถึงที่สุด เพื่อเอาคนผิดมาลงโทษ ป้องปรามการกระทำผิดซ้ำ และเพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยจากอิทธิพลการใช้อำนาจนอกกฎหมายให้กับนายเอกชัย ครอบครัว และประชาชนในพื้นที่ตั้งโครงการเหมืองแร่หิน

นอกจากนี้ เครือข่ายฯ ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการและดำเนินการเพื่อปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยของนายเอกชัยและครอบครัว ในระหว่างการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดไปจนกว่าจะมีการนำคนผิดมาลงโทษ

และขอให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุงและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ตรวจสอบและทบทวนกระบวนการรับฟังความคิดเห็นฯ และดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อโครงการได้อย่างแท้จริง

ภาพ เอกชัย/ iLaw